คิดถึงวันวาน อดีตอันแสนหวานของนักร้องยุค 90

“ผมว่านั่นเป็นยุคทองของโลกเลยแหละ” อู๋-ธรรพ์ณธร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ว่าอย่างนั้น เมื่อการสนทนาพาย้อนอดีตไปถึงยุคปี 80-90

“โดยเฉพาะยุค 90 มันจะมีวิวัฒนาการของดนตรีหลากหลายแนวมาก ไม่ว่าจะเป็นโซล บลูส์ ฟังกี้ ดิสโก้ ร็อก เยอะแยะ”

“ในเมืองไทย ยุคนั้นเป็นยุคที่น่าจดจำ เป็นยุคที่เฟื่องฟูที่สุด ดนตรีก็เป็นยุคที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 2000 ทุกคนก็พยายามจะทำอะไรที่โมเดิร์น แต่ก็มีความวินเทจอยู่ ซึ่งผมรู้สึกว่ามันคลาสสิกดี มีความรู้สึกนัวๆ อุ่นๆ”

“แล้วตอนที่ออกเทปจะตื่นเต้นมาก เมืองไทยตอนนั้นยังไม่มีสื่อโซเชียล ในข้ามคืนคุณไม่สามารถดังได้ มันต้องใช้เวลา”

Advertisement

“และตอนนั้นก็จะมีอินดี้นะ ผมก็อยู่ในยุคของอินดี้ ต้องสร้างผลงานให้ได้ ต้องสร้างผลงานให้เป็นที่รู้จัก ผลงานของเราถึงจะโผล่ขึ้นมาบนดิน แต่ในบางกลุ่ม บางคน ยังมีความสุขกับการเป็นอินดี้ แล้วก็ได้ทำงานตามใจชอบ แต่ในการทำงานตามใจก็มีมาตรฐานของมัน มีคุณภาพของมันอยู่”

“แล้วยุคนั้นก็เป็นยุคที่ศิลปินมีส่วนในการเริ่มต้นของการทำงานในอัลบั้มของเขา ทุกคนมีความตั้งใจมาก แล้วคนดูจะเป็นคนตัดสินเอง”

“อีกอย่าง ยุคนั้นจะเริ่มไม่ค่อยเอื้อกับการตลาดเท่าไหร่ เพราะมียุคหนึ่งที่เป็นยุคเก่ากว่า ที่จะเป็นเรื่องของการโปรโมต การตลาดอย่างเดียว เรื่องของบริษัทใหญ่ๆ แต่ยุคนั้นเป็นยุคที่ทุกคนอยากฟังงานที่มีคุณภาพ คนทำก็อยากจะทำ และมันมีแนว มีตัวตนของแต่ละคนที่ชัดเจน”

Advertisement

“รู้สึกว่าอุณหภูมิพอเหมาะ พอดีกัน สำหรับคนฟังและศิลปิน”



ขณะที่กับแฟนๆ นั้น อู๋พูดถึงด้วยรอยยิ้มว่า “ประทับใจมากกับไปรษณียบัตรและจดหมายที่เขียนมาหาเยอะมาก”

“เป็นถุง เป็นกระสอบ หลายๆ กระสอบเลย รู้สึกว่าทุกคนตั้งใจ และคงคิดถึงเราจริงๆ ถึงส่งมาเยอะมาก”

ส่วนต้า พาราด็อกซ์ หรือ อิทธิพงศ์ กฤดากร ก็บอก เขายังจำยุคของ ‘เทปเพลง’ ได้แม่น จำได้ว่า เวลาเทปเพลงของศิลปินวงโปรดยืด เขาก็เอาไปแช่ตู้เย็น หรือบางทีถ้าสภาพเยินนักก็มีการตัดและต่อโดยใช้สก๊อตช์เทปแปะ และ ฯลฯ

“สิ่งที่ย้อนไปแล้วจำได้แม่น ในตอนนี้มันเป็นเรื่องประทับใจ แต่ว่าในยุคนั้นมันขมขื่นมาก” บอกพลางยิ้ม

“คือสมัยก่อนเวลาที่ออกเทป จะต้องไปเยี่ยมแผงเทปตามจังหวัดต่างๆ วงเราก็โนเนมมาก ไปทัวร์อีสานจำได้เลย ไปเสร็จปรากฏว่าเขาไม่มีเทปขายครับ ไปยืนเด๋อๆ อยู่หน้าร้านในทุกร้านที่ไปทัวร์ เพราะว่าเทปเขาทำมาน้อย”

“เป็นเรื่องที่ยุคนั้นรู้สึกขมขื่นมาก แต่ว่ายุคนี้กลายเป็นเรื่องขำ” เขาย้ำอีกครั้ง

ด้านวรเชษฐ์ เอมเปีย แห่ง วงสไมล์บัฟฟาโล่ ก็ว่า ถ้าให้ย้อนคิดไปถึงช่วงนั้น สิ่งที่เด้งขึ้นมาในความรู้สึกเขาคือ “การโดด”

“เพราะวงผมก็จะเพลงที่พอขึ้นที่ไหนคนก็กระโดดกันเต็ม กระโดดทั้งแผง ทั้งฮอลล์ ทั้งลานกว้างๆ ก็โดดพุ่ง โยนๆ แล้วส่งกลับคืนมา”

“มันเป็นสิ่งที่ยังรู้สึก ยังจำภาพได้ เป็นสิ่งที่ติดตาอยู่เรื่อยๆ พอนึกถึง”

สำหรับ อัยย์-พรรณี วีรานุกูลนั้นหรือ พอถามปุ๊บ ภาพรถตู้ก็ปรากฏในหัวทันที
“คิดถึงรถตู้ค่ะ เพราะว่าต้องนั่งรถตู้ไปทั่วประเทศ” อัยย์บอกเหตุผลพลางหัวเราะ
ก่อนบอกต่อว่า “แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่นึกถึงก็คือคนฟัง”

“ในยุคนั้นไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม จะมีน้องๆ ที่ชื่นชอบผลงานของเราขี่มอเตอร์ไซค์ตามไปให้กำลังใจ ไปตามสถานีวิทยุและที่อื่นๆ ก็รู้สึกว่าประทับใจน้องๆ คนฟังในยุคนั้นมากๆ”

“มีครั้งหนึ่งที่ประทับใจไม่ลืม ตอนไปแสดงที่แม่มาน จังหวัดแพร่ ที่เป็นอ่างเก็บน้ำ ปกติเราเล่นคอนเสิร์ตกันอยู่ในฮอลล์ แต่ที่แม่มาน ข้างหลังเป็นภูเขา เวทีเป็นเวทีเล็กๆ แล้วตอนที่ไปถึงไม่มีคนเลย เลยเอ๊ะ! จะมีใครมาดูเรา แต่พอถึงเวลาคนขี่มอเตอร์ไซค์มาจากทั่วทุกสารทิศจนเต็มลานตรงนั้นเลย ทำให้อัยย์รู้สึกชอบมากๆ ชอบบรรยากาศ มองไปข้างบนนี่คือดาว ข้างหลังเป็นภูเขา แล้วเล่นดนตรีไปพร้อมกับเสียงจิ้งหรีด เสียงสรรพสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในเทือกเขาแห่งนั้น แล้วทุกคนก็ร้องเพลงไปด้วยกัน”

“พูดเลยว่าเป็นคอนเสิร์ตที่ไม่ได้มีโปรดักชั่นที่ยิ่งใหญ่ แต่จำภาพได้ขึ้นใจจนถึงทุกวันนี้”

และนี่คือเรื่องวันวานที่พวกเขาและเธอบอกว่า คิดขึ้นมาทีไร ก็ทำให้ยิ้มได้ทุกที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image