การเติบโตของ “นิ้วกลม” ใน “หิมาลัยไม่มีจริง”

ครั้งหนึ่งในการสัมภาษณ์หนึ่งในนักเขียนชื่อดังแห่งยุคสมัยอย่าง “นิ้วกลม” หรือ  สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ เราเคยตั้งคำถามกับเขาในประเด็นว่า ถ้าในวันที่กลุ่มคนอ่านของเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เขามีวิธีจัดการกับงานเขียนของตัวเองอย่างไร

สารภาพตามตรง ว่าเราจำไม่ได้ว่านิ้วกลมตอบกลับมาว่าอย่างไร แต่สิ่งที่มากกว่าคำตอบของเขาในวันนั้น คือผลงานเขียนที่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน ว่างานเขียนของเขาไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ นิ้วกลมและคนอ่านได้เติบโตไปด้วยกัน ร่วมเรียนรู้แง่มุมต่างๆของชีวิต ตามวันวัยที่เปลี่ยนแปร ตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนผ่าน “หยดน้ำในกองไฟ” และ “หากความเข้าใจยังมีอยู่จริง” คือส่วนหนึ่งของผลงานในช่วงหลังๆที่พิสูจน์ให้เห็นถึงวิธีคิดบนเส้นทางการก้าวเดินของนิ้วกลม

นิ้วกลม สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์

แต่สำหรับเราแล้วยังไม่มีเล่มไหนที่ทำให้เห็นถึงการก้าวเดินอย่างชัดเจนเท่า “หิมาลัยไม่มีจริง” หนังสือที่หนาระดับ…อืม หนามากละกัน ทว่าแทบไม่น่าเชื่อ ท่ามกลางความหนาระดับนั้น เราใช้เวลาน้อยกว่าที่คิดในการร่วมเดินทางไปกับตัวอักษรของ “บันทึกการเดินทางสู่ค่ายฐานเอเวอเรสต์ (EBC)” เพื่อที่จะพบว่า “บนนั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่าหิมาลัย”

มองเผินๆอาจคิดว่านี่คือหนังสือที่เล่าการเดินทางอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปในท้องตลาด แต่ไม่ใช่แค่นั้น ระยะกว่า 13 วันของการเดินทางของนิ้วกลม ไม่ใช่เพียงเพื่อปีนขึ้นไปพิชิตภูผาสูงที่นักผจญภัยทั่วโลกหลายคนใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะต้องพิชิตให้ได้ แต่เป็นการเดินทางข้างนอกที่นำไปสู่การเดินทางข้างใน

Advertisement

การเดินทางยื่นบททดสอบให้กับนักเดินทางเสมอ และนิ้วกลมสามารถถ่ายทอดทุกความรู้สึกต่อบททดสอบที่เขาพบเจอมาสู่ผู้อ่านได้อย่างงดงามในแทบทุกตัวอักษร อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่าท่ามกลางเรื่องเล่าในหิมาลัยไม่มีจริง แต่ละคนที่อ่านจะสัมผัสเรื่องที่เขาเล่าได้แตกต่างกัน เพราะความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของการเดินทางสร้างปรากฏการณ์สารพัดสิ่งให้เกิดขึ้นนั้น เป็นการเดินทางท่ามกลางปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ผันผวนในแทบทุกนาที จนทำให้จุดหมายปลายทางที่อยากพิชิตนั้น แทบจะไร้ความสำคัญไปเลยเมื่อเทียบกับระหว่างทาง เพราะการต่อสู้ที่สำคัญที่สุดในการเดินทางครั้งนี้คือการต่อสู้กับภาวะภายในของตัวเอง ซึ่งความรวนเรของธรรมชาตินี่ล่ะ ที่ทำให้การต่อสู้ไม่ได้อยู่เพียงแค่ระนาบเดียว และนำไปสู่ความกระทบใจที่แตกต่างกันไปตามภาวะข้างในของคนอ่าน เป็นความต่างที่เกิดขึ้นจากตะกอนซึ่งตกอยู่ลึกๆภายในใจของแต่ละคน เป็นตะกอนที่หิมาลัยไม่มีจริงกวนให้ลอยเด่นขึ้นมาอีกครั้ง

จะว่าไปแล้ว เหมือนเป็นการตะโกนยูเรก้าที่แตกต่างกันไป ตามภาวะข้างในที่สับสนของแต่ละคนท่ามกลางการแสวงหาบางอย่าง (ที่บางทีก็งงๆว่าบางอย่างนี้คืออะไร) ของชีวิตนั่นล่ะ

เรากับเพื่อนที่อ่านเล่มนี้เหมือนกัน รักเล่มนี้เหมือนกัน แต่สิ่งที่หนังสือเล่มนี้สัมผัสใจกลับไม่เหมือนกัน เพราะในขณะที่เพื่อนพูดถึงเรื่องของความลังเลสงสัย ที่ทำให้ทางที่ชันอยู่แล้วยิ่งชันขึ้นอีก

เรากลับติดใจ “ไลเคน” ที่นิ้วกลมพบเจออยู่บนก้อนหินระหว่างการเดินทาง ไลเคนสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่เกิดขึ้นบนบกเป็นชนิดแรกๆของโลกใบนี้ โดยเป็นผลลัพธ์ระหว่างการแต่งงานกันระหว่างรากับสาหร่ายนั่นเอง ไลเคนเกิดมาตั้งแต่โลกเริ่มมีแผ่นทวีป เติบโตโดยเกาะบนก้อนหินและมีชีวิตอยู่ตรงนั้นตลอดมา ไลเคนเป็นบุคคลสำคัญ เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ แต่หน้าที่ยิ่งใหญ่ของไลเคนคือการสร้างสรรค์ชีวิต ถ้าไม่มีไลเคน โลกนี้คงมีแต่หิน หิน และหิน

“…จากก้อนหินแข็งๆ ไลเคนจะนำตัวเองไปตีสนิท แนบและเนียนไปกับผิวของก้อนหิน ทำให้เกิดกรดซึ่งกัดกร่อนก้องหินอันแข็งแกร่งนั้นให้กลายเป็นดินและทราย กลายเป็นพื้นที่สำหรับพืชพันธ์ต่อไปได้เติบโต คราวนี้มอสก็เกิดขึ้นได้ และเมื่อพืชพันธุ์เหล่านั้นตายลงก็จะเกิดสารอินทรีย์จากซากสิ่งที่ชีวิตสลายตัวเป็นฮิวมัส สะสมเข้ากับหินที่ผุกร่อน ปรับสภาพแห้งแล้งของหินกลายเป็นดินที่ต้นหญ้าและไม้ล้มลุกเติบโตได้ ใบไม้ใบหญ้ามากขึ้น ดินร่วนซุยขึ้น ไม้พุ่มก็มีอาหารงอกงามขึ้นมา …”

จากราและสาหร่าย ไลเคนนำไปสู่ระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ ด้วยการทำหน้าที่ของตัวเอง หน้าที่เล็กๆเท่านั้น อ่านแล้วรักไลเคนมาก

นอกจากจะสร้างความแตกต่างในการสัมผัสใจ จากความปรวนแปรแห่งธรรมชาติระหว่างการเดินทางแล้วนั้น หิมาลัยไม่มีจริงมีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมาก และทำให้เห็นถึงฝีมือการสร้างงานเขียนของนิ้วกลมที่ไปไกลกว่าการเขียนถึงเรื่องเชิงนามธรรมอย่างเดียว คือการผสานความรู้เชิงรูปธรรมเข้ากับความรู้สึกเชิงนามธรรมได้อย่างเป็นธรรมชาติ

ในหนังสือเล่มนี้เราจะพบความรู้ที่หลากหลายสาขา ทั้งธรณีวิทยา ดาราศาสตร์  วิทยาศาสตร์ต่างๆ ศาสนา กาแลกซี ประวัติศาสตร์ ตำนาน การเมือง จำนวนฟิโบนักชี ศิลปะภาพวาด สถาปัตยกรรม หลักการออกแบบ นิเวศวิทยา เยอะมากทีเดียว เยอะมากๆ พบบรรณานุกรมยาวเหยียดได้จากท้ายเล่ม  แต่ทุกรูปธรรมของความรู้ล้วนสามารถเชื่อมโยงกับนามธรรมของภาวะจิตใจได้อย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งการวางจังหวะได้อย่างเหมาะสมก็ทำให้เรื่องเล่าของนิ้วกลมสนุกมาก สนุกมากกว่าการเล่าเรื่องการเดินทางภายในจิตใจที่ขนานไปกับการเดินทางภายนอกเรื่อยๆแน่ๆ เราลองตัดเรื่องพวกนี้ไปเล่นๆดู และพบว่าถ้าไม่มีเรื่องพวกนี้ละก็หิมาลัยไม่มีจริงจะจืดแน่ๆ และการอ่านหนังสือ 655 หน้าก็คงไม่เพลิดเพลินขนาดนี้

เป็นการเติบโตของนิ้วกลม ที่ชวนคนอ่านให้เติบโตไปด้วยกัน

 

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image