สิน ทองด้วง บุนนาควิ่งแข่ง คุยกันเรื่องแอบเที่ยวผู้หญิง

เพราะอยากรู้จึงดูเพลิน

‘ศรีอโยธยา‘ ของทรู  วิชั่นส์ โดย ม.ล.พันธุ์เทวนพ  เทวกุล  ออกอากาศทุกจันทร์-อังคาร  20.30  น. ได้  4  ตอนแล้ว   ยังไม่มีที่ต้องติเรือทั้งโกลน   เพราะอยากเห็นความตั้งใจเทิดพระเกียรติบุรพกษัตราธิราชเจ้า   ของผู้เขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์   ว่าจะออกมารูปไหน   ด้วยรายละเอียดเนื้อหาอย่างไร

ที่ว่าเพราะอยากรู้นี่เองจึงยังดูเพลิน   ก็โดยเหตุผลที่มักสำราญกับการอ่านนิยายอิงประวัติศาสตร์   และดูหนังที่มีประวัติศาสตร์เป็นฉากหลัง   เนื่องจากอยากรู้ว่า   เหตุการณ์นั้นๆในประวัติศาสตร์ที่จารึกลงพงศาวดาร   หรือบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร   โดยตัวละครซึ่งปรากฏเพียงนาม   ปราศจากลมหายใจที่กระโดดโลดเต้นได้อย่างมีวิญญาณ   ไม่ว่าไทยหรือเทศนั้น   นักเขียนใช้จินตนาการกว้างไกลขนาดไหน   ที่แต่งเติมส่วนอันเป็นเลือดเนื้อให้เกิดชีวิตชีวา   พร้อมบทสนทนาซึ่งแสดงบุคลิกแต่ละตัวละคร   มาจูงใจให้ผู้ติดตามอ่านหรือผู้ชมคล้อยตามได้มากน้อยแค่ไหน

เช่นล่าสุดที่  วิษณุ  เครืองาม เขียน ‘ชีวิตของประเทศ’  สองเล่มโต   จับความแต่เสียกรุงครั้งหลัง   ผ่านกรุงธนบุรีมาถึงการสร้างราชธานีใหม่ฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา   ลำดับเนื้อหาแต่รัชกาลที่  1  ถึงรัชกาลที่  5  เดินเรื่องด้วยตัวละครที่เกิดพร้อมพระนคร   ซึ่งจะนำพาชีวิตของประเทศให้เราได้เห็น   ตั้งแต่ขนบธรรมเนียมในวังทั้งฝ่ายนอกฝ่ายใน   จนวิถีไพร่ฟ้า   ที่ผู้เขียนประมวลข้อมูลทั้งบันทึกหลักและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย   ผสมพงศาวดารกระซิบไม่หายหกตกหล่น   มาเสกสร้างสีสันได้อย่างเพลิดเพลิน   เห็นตัวละครซึ่งปรากฏพระนามหรือนามในประวัติศาสตร์   เคลื่อนไหวไปมาได้อย่างชวนคิดชวนไตร่ตรอง

Advertisement

แน่นอน   เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่อ่านไปคิดไปไตร่ตรองไป   เหตุการณ์ตอนนั้นตัวละครน่าจะคิดอย่างนั้นไหม   ทำสิ่งที่เกิดในประวัติศาสตร์นั้นได้ไหม   คำพูดควรจะออกมาอย่างนั้นหรือเปล่า  ฯลฯ

นั่นคือรสชาติของการอ่านและย่อยนิยายหรือภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์

Advertisement

ทำไมใครจะไม่อยากเห็นพระยาตากครั้งหนุ่มฉกรรจ์   จะมีบุคลิกอย่างไร   พูดจาอย่างไร   มีอำนาจสง่าราศีลักษณะไหน   ใครจะไม่อยากเห็นรัชกาลที่  1  ครั้งยังเป็นทองด้วง   ใครไม่อยากเห็นบุญมาพระยาเสือ   นักรบคู่บุญพระเจ้าตากและพระพุทธยอดฟ้าฯ   ที่ศัตรูขามเดชกระทั่งได้ยินชื่อก็ครั่นคร้าม   ว่าคัดเลือกหน้าตามาวางท่าทางได้น่าเกรงบารมีอย่างไร

‘หม่อมน้อย’  ก็พยายามรังสรรค์อย่างเห็นได้ชัด   เพียงแต่บุคลิกของ  3  ตัวเอกเพื่อนเกลอ  สิน  ทองด้วง  บุนนาค(ได้  ชินมิษ  บุนนาคแท้มาเล่นเอง)  ยังออกมาแบบอุดมคติ   เป็นคนรักชาติรักแผ่นดินตลอดเวลา   แม้จะมีฉากหย่อนใจส่วนตัว(ในกาละเดียวกันก็ได้แสดงแหล่งสำราญในพระนครพร้อมกันไปด้วย)หยอกล้อกันเรื่องแอบไปเที่ยวหาผู้หญิง   หรือวิ่งแข่งกันอย่างกับที่เคยทำสมัยก่อน   ประเดี๋ยวเดียวก็ยืนยืดอกปกป้องแผ่นดินกันอีก

ถึงอย่างนั้น   เพียงสี่ตอนก็ยังมิได้เกินงาม   เนื่องจากเพิ่งได้รับข่าวศึก   ฝ่ายในก็วิตกกังวล   เมียและแม่ขุนศึกทั้งหลายต่างน้ำตาตก   กระทั่งแม่ทัพนายกองที่มิได้เกรงศึกก็ไม่ได้กระเหี้ยนกระหือ   ที่จะเร่งเข้าสมรภูมิไปประหัตประหารเป็นเรื่องสนุก

น่าดูและน่าติดตามก็คือ  พระเจ้าเอกทัศ  ซึ่งในประวัติศาสตร์เรียกขุนหลวงขี้เรื้อน   กษัตริย์ผู้เสียแผ่นดิน   ด้วยไม่สนพระทัยทำสงคราม   สิ้นพระชนม์อย่างอนาถาซึ่งยังยุติไม่ได้ว่า   ถูกปืนขณะหนีศึก   หรือถูกทิ้งให้อดพระกระยาหารอยู่เดียวในบ้านดง   แค่ตอนที่ผ่านมา  นพชัย  ชัยนาม  ได้สร้างบุคลิกของพระเจ้าเอกทัศไว้น่าสนใจ   อารมณ์ความรู้สึก   ผ่านดวงตาท่วงทีกิริยา   จังหวะการปล่อยคำพูด   ผู้กำกับยังกำกับไว้ได้สม่ำเสมอ   เช่นเดียวกับขุนหลวงอุทุมพร  เพ็ญเพ็ชร  เพ็ญกุล  ที่ยังต้องดูกันยาวๆต่อไป

ต่างกับตัวละครเอก  ๓  นามข้างต้น   ที่ยังลอยๆดูเป็นแบบฉบับไปหน่อย

ศรัณยู  วงษ์กระจ่าง  พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศออกมาฉากหนึ่ง   ก็ชวนจับตาดี   ฉากมอบราชบัลลังก์นี้   เจ้าฟ้าเอกทัศซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างพี่น้องพระพักตร์นิ่ง   โหวงเหวง   ชวนให้ผู้ชมอยากรู้ว่าทรงคิดอะไรอยู่

ความที่ตัวละครซึ่งมีทั้งภาคอดีตและปัจจุบัน   การสลับเดินเรื่อง   แจกบทไปมาระหว่างตัวละครบทบาทต่างๆ   อาจารย์พิมานในปัจจุบันกับมหาดเล็กพิมานในอดีต   พิมานกับเจ้าฟ้าสุทัศน์และธิดาเจ้าคุณพิชัยวัยเด็ก   นักร้องหนุ่มวายุกับเด็กหัวจุกซึ่งพลัดมิติมา(ซึ่งบทสนทนายังไม่แนบเนียนพอ   เด็กสมัยนี้ควรรู้จักโทรศัพท์มือถือดีกว่าผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ   ดูเจตนาไปที่จะถามว่าไม่รู้จักโทรศัพท์มือถือหรือ)   และบทสัมภาษณ์อาจารย์พิมานก็ดูบรรจงสร้างเช่นเดียวกัน   ที่อะไรก็เพื่อประโยนชน์ของสังคม (นักโบราณคดีจ๋าคงอึดอัดหน่อยที่อาจารย์ค้าแอนทีคโบราณวัตถุด้วย)

และจากจังหวะการเดินเรื่องแต่ละตอนสั้นๆ   จึงทำให้การสลับบทของแต่ละตัวละครไม่ทันยืดยาวจนอาจจะเบื่อ   ที่สะดุดจนออกนอกหน้าคือดนตรีประกอบ   เพลงบรรเลงหลักแทบไม่เว้นช่องว่างให้หนังได้หายใจ   และผู้กำกับน่าจะรู้ดีว่า   จังหวะทำนองหนึ่งๆไม่อาจใช้รองรับทุกๆภาพทุกๆช่วงตอนซึ่งอารมณ์แตกต่างกันไปนานาได้

ขอดูต่ออีกสักห้าตอนสิบตอน   เพลาหน้าจะได้มาคุยกันยาวๆใหม่.

 

อารักษ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image