ชันสูตรประวัติศาสตร์ สาเหตุสวรรคตของพระเจ้าแผ่นดิน

การเสด็จฯสวรรคตในพระมหากษัตริย์สยาม ล้วนบันทึกไว้ในจดหมายเหตุพงศาวดาร เป็นข้อความที่ไม่ค่อยได้รายละเอียดแน่ชัดในความหมายของปัจจุบัน ว่าสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคใดแน่ ดังนั้น เมื่อมีนายแพทย์ซึ่งใช้หลักฐานเท่าที่ปรากฏ วิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยความรู้ด้านแพทยศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ผสมผสานข้อมูลเข้าด้วยกัน เพื่อคลี่คลายความสงสัยใคร่รู้และเอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ให้กว้างขวางขึ้น ย่อมเป็นเรื่องน่ายินดี น่ารู้ และชวนกระหายที่จะติดตามการวิเคราะห์ดังกล่าวอย่างยิ่ง

อาจารย์หมอ เอกชัย โควาวิสารัช มานะค้นคว้าข้อมูลเท่าที่พบ เขียนบทความเผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ติดต่อกันหลายคราว จนเกิดผู้สนใจขึ้นมากมาย
บัดนี้ จึงได้รวบรวมบทความเหล่านั้นเข้าเป็นเล่มในชื่อ ชันสูตรประวัติศาสตร์ เมื่อคราวสวรรคต แบ่งเรื่องหาอ่านได้ยากนี้เป็นสองภาค ภาคแรกวิเคราะห์สาเหตุสวรรคตในพระเจ้าแผ่นดิน ตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถึงรัชกาลที่ ๑ เรื่อยมาจนรัชกาลที่ ๗ เป็นการเปิดหูตาการเรียนรู้อย่างน่าตื่นเต้น เพิ่มเติมหลุมร่องที่หลุดเร้นจากประวัติศาสตร์ให้ตื้นเต็มขึ้น

ภาคสองเป็นการวิเคราะห์การสิ้นพระชนม์ในพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้ทางการแพทย์ รู้จักนานาสรรพโรคแล้ว ยังสะท้อนภาพอดีตของสังคมไทยพร้อมกันไป เห็นความเป็นอยู่ในยุคที่การแพทย์สมัยใหม่ยังมาไม่ถึง อาจารย์ศึกษาอย่างกว้างขวางจนอาจคลี่คลายบางปัญหาประวัติศาสตร์ ซึ่งก่อความคิดเห็นหลายด้าน เช่นกรณีสวรรคตในสมเด็จพระนางเรือล่ม ว่าเป็นอุบัติเหตุหรือการลอบปลงพระชนม์ที่ไม่น้อยคนอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน อาจารย์ นิยะดา เหล่าสุนทร เชิญชวนให้อ่านไว้ในคำนำอย่างน่าสนใจ
เร่งหาอ่านได้แล้ว ขอบอก

๐ อีกเล่มเป็นหนังสือซึ่งอยากแนะนำอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาหรือคนทำงานเขียนหากินกับภาษาตัวเอง แถมอยากเน้นเป็นอันขาดกับบรรดาผู้พากย์ผู้บรรยายรายการต่างๆทางโทรทัศน์ ให้หาอ่านกันให้ได้ นอกจากมิใช่ข้อเขียนหรือบทความน่าเบื่ออย่างที่นึกเอาเองแล้ว ความสนุกจากการได้รู้ได้เรียน และความรู้ที่จู่ๆถั่งโถมเข้ามาหลังจากใช้ภาษาทำมาหากินกันมาคนละหลายๆปีแล้ว เมื่อได้รู้ว่าที่ทำมาหารับประทานอยู่นี้ บกพร่องต่อผู้บริโภคขนาดไหน และหนังสือเล่มนี้ให้ความอิ่มหนำที่จะส่งต่อผู้บริโภคได้มากมายเพียงใดแล้ว ก็น่ายินดีและน่านิยมชมชื่นแก่กันและกันอย่างมาก
ในฐานะคนไทยที่ใช้ภาษาไทยทำมาหากินจากสถานะสื่อ

Advertisement

อาจารย์ นิตยา กาญจนะวรรณ ไม่ใช่อาจารย์ที่มานะอดทนให้ความรู้เรื่องภาษาไทยแก่สังคมมานานนับสิบๆปีอย่างคร่ำครึ หน้านิ่วคิ้วขมวดอยู่ใต้แว่นตาหนาเตอะ ผมเกล้ามวย ยังรอบรู้ในวิทยาการก้าวหน้า เป็นผู้อบรมคอมพิวเตอร์แก่บุคลากรของจุฬาฯ ยังเป็นโปรแกรมเมอร์ในโครงการวิจัยสำคัญๆเช่น “การถ่ายทอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันด้วยคอมพิวเตอร์” ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยมจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติอย่างไม่ต้องกังขาคุณภาพ นอกเหนือหนังสือ ภาษาไทยไอที อีกหลายเล่ม
หนังสืออย่างน้อยอีกสองเล่มของอาจารย์คือ วันสิ้นเอลวิส กับ กาลานุกรมเอลวิส เพรสลีย์ที่ปรากฏในสังคมไทย พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๐๖ ทำเอาเหวอกันไปได้เลยแหละ
ดูสิว่า ขาร็อคระดับไหน

ภาพครูภาษาไทยที่เคยนึกๆกันนั้น จินตนาการใหม่ได้แล้ว

หนังสือเล่มโต กว่าจะเป็นราชบัณฑิต ซึ่งจัดพิมพ์ในโอกาสที่ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาวิชาภาษาไทย ราชบัณฑิตยสภา อันเป็นงานรวมบทความวิชาการ ภาษาไทย ภาษาศาสตร์ประยุกต์ ภาษาอาเซียน การสอนภาษาไทย การบัญญัติศัพท์ การทับศัพท์ การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน(ซึ่งปัจจุบันยังมั่วตั้วกันไปอย่างไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์)เหล่านี้
ล้วนอ่านได้สำราญ จัดระเบียบความคิดอ่านได้ดีแท้

Advertisement

หากครึ่งศตวรรษก่อนมี พระยาอนุมานราชธน หรือ เสฐียรโกเศศ เป็นดวงประทีบทางการศึกษา วันนี้อาจารย์นิตยาก็คอยส่องสว่างอยู่บนเส้นทางเดียวกัน

๐ สองสาวเพื่อนซี้ชาวอิตาเลียนที่เคยถูกคนสบประมาทและ

ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ เพียงเพราะเป็นผู้หญิง ครั้งทำงานที่ซิลิคอน แวลเลีย์ สหรัฐอเมริกา ช่วยกันคิดโครงการทำหนังสือเพื่อเป็นแรงบันดาลใจกับเด็กผู้หญิงทั่วโลก ความคิดนี้สามารถระดมทุนพิมพ์ได้ภายใน ๓๐ ชั่วโมง จากการสนับสนุนของผู้คน ๗๑ ประเทศ ได้เงินกว่า ๑ ล้านเหรียญ และยอดพิมพ์ภาษาอังกฤษงวดแรกสูงถึง ๖๐,๐๐๐ เล่ม

กู้ดไนท์ สตอรี่ รีเบล เกิร์ลส์ หรือร้อยเรื่องเล่าของผู้หญิงเปลี่ยนโลกที่ เอเลนา ฟาวิลลี กับ ฟรานเชสกา คาวัญโญ เขียน โดยมีภาพประกอบหญิงสาว ๑๐๐ คนในเล่มวาดโดยศิลปินหญิงชื่อดัง ๖๐ คนทั่วโลกเล่มนี้ อ่านให้ลูกสาวลูกชายฟังคืนละเรื่องสองเรื่องก่อนนอน จะต้องฝันดีกันแน่ๆ

สิริยากร พุกกะเวส กับ ศรัยฉัตร กุญชร และ พลอยแสง เอกญาติ ร่วมกันแปล

๐ ทองอร่ามไปทั้งปก แพรว ฉบับ ศรีอโยธยา ทั้งเรื่องทั้งสัมภาษณ์ทั้งภาพชุด มีให้แฟนละครได้อิ่มอกอิ่มใจเพียบ นอกเหนือจากเรื่องใต้กระโปรงที่ผู้หญิงอยากรู้แต่ไม่กล้าถาม กับ ๕ มหานครซึ่งไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง

*มติชนสุดสัปดาห์* ฉบับที่แล้ว แต่ละเรื่องไม่อ่านไม่ได้ ใช้ขมิ้นชันช่วยย่อยไม่ทันจะหมดเล่ม ฉบับล่าตามมาติดๆ คุณภาพคับหน้ากระดาษจริงๆ ขอบอกอีกหน.

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image