ตราบใดไม่รู้จักอัตตา ชาตินี้ชาติหน้าก็ไม่พบทางสว่าง

สี่สิบโศลกพินิจสัจจะที่ชาวตะวันตกรู้จักดีมาแต่เกือบ 40 ปีก่อน ของ ภควันรามนะมหาฤษี โดยสรุปคำสอนทั้งหมดไว้อย่างสังเขป ทั้งยังเสนอทางเข้าถึงความจริงไว้ด้วย บรรดาศิษย์ทั้งหลายจึงถือว่า งานประพันธ์ชิ้นนี้เป็นงานสำคัญที่สุดของมหาฤๅษี

“อัตตาดำรงอยู่ ทุกสิ่งก็ดำรงอยู่ อัตตาไม่ดำรงอยู่ ทุกสิ่งก็ไม่ดำรงอยู่ ดังนี้แล อัตตาคือทุกสิ่ง การตรึกตรองสืบค้นว่า อัตตาคือสิ่งใด นั่นคือการศิโรราบต่อทุกสิ่ง”

แม้จะเป็นงานประพันธ์ของมหาคุรุฮินดู แต่สัจจะย่อมเป็นสัจจะ ต่างอะไรกับที่ พุทธทาสภิกขุ เพียรแจกแจง “ตัวกู ของกู” ให้เห็น เพื่อให้ลด ละ เลิก เว้น และวางอัตตาลงให้ได้

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง แปลและเรียบเรียง ‘อาตมะโพธะ’ เล่มนี้ให้คนในโลกที่ปกหนาด้วยมายายิ่งขึ้นเรื่อยๆ มานะหาหนทางเข้าถึงหรือใกล้สัจจะได้มากที่สุด ไหนๆก็เกิดมาชาติหนึ่งแล้ว
ไม่มีโอกาสอื่นอีก

Advertisement

๐ ในฐานะบุคคลสำคัญคนหนึ่งของศตวรรษที่ 21 เมื่อ อัลเบิร์ท ไอน์สไตน์ สาธยายทัศนะว่าด้วย ชีวิต สังคม และการเมืองไว้ใน ‘เอาท์ ออฟ มาย เลเทอร์ เยียร์ส’ หรือ ‘เขียนไว้เมื่อเป็นไม้ใกล้ฝั่ง’ จะไม่หยิบอ่านได้อย่างไร – โธ่

Advertisement

คนที่กล่าวว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ความรู้อันจำกัด ถูกโอบล้อมด้วยจินตนาการ สมควรที่เหล่ามนุษย์ผู้แสวงปัญญา อย่างน้อยนักเรียนนักศึกษาที่ต้องเติบโตเป็นกำลังสำคัญของสังคมภายหน้า ต้องเรียนรู้ความคิด วิธีคิด หรือที่มาของความคิดของบุคคลนั้นให้กระจ่างได้ ย่อมเป็นคุณวิเศษ

กำพล นิรวรรณ แปลให้อ่านในรูปเล่มพอดีคำ ค่อยๆเคี้ยว ค่อยๆย่อยได้ถนัด

๐ หนังสือหลายเล่มสามารถเปลี่ยนแปลงโลก เกิดมา แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ เขียนหนังสือได้เล่มเดียว เมื่อ 166 ปีก่อน แต่ ‘อังเคิล ทอม’ส เคบิน’ ของเธอ สามารถเปลี่ยนอนาคตของสหรัฐอเมริกาได้อย่างพลิกฟ้าคว่ำดิน เช่นเดียวกับปราชญ์ฝรั่งเศสหลายนาม แปรความคิดเป็นงานเขียน ปลุกเร้าให้ผู้คนลุกขึ้นปฏิวัติคืนวันของตน สร้างอนาคตของประชาชนคนหมู่มากขึ้นได้

‘ออน ลิเบอร์ตี้’ จะนำผู้อ่านพบนักคิดซึ่งมีสายตากว้างไกล จอห์น สจวต มิลล์ ผู้สำรวจความเสี่ยงและความรับผิดชอบในการใช้เสรีภาพ ในฐานะที่เสรีภาพมีความสำคัญสูงสุด

งานชิ้นนี้ ‘เสรีภาพ’ แปลโดย ศักดิ์ บวร ปรากฏขึ้นเมื่อ 159 ปีก่อน และสร้างความสั่นสะเทือนต่อความคิดผู้คนได้ทันที เพราะความก้าวหน้าจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มิลล์เรียกร้องให้เสรีภาพไม่ต้องอยู่บนพื้นฐานของเสียงข้างมาก ยกเว้นเพื่อประโยชน์ของการปกป้องเสรีภาพส่วนบุคคล เสรีภาพในความคิดและการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการประชุมและการดำรงชีวิต แม้ความเห็นของบุคคลจะต่างจากความเห็นของส่วนใหญ่อย่างไร ก็ไม่ควรถูกห้ามแสดงความคิดเห็นนั้นออกมา

ไม่อย่างนั้น โอกาสที่สังคมจะพัฒนาไปในหนทางที่ถูกต้อง จะถูกปิดกั้นเสียอย่างไร้ความหมาย

” อนาถเหลือล้ำบัวบานเหนือน้ำ อยู่ห่างคน ลับตาอยู่จนกลางบึง… ” ไม่รู้จะร้องเพลงอะไรดี นี่พ.ศ.อะไรแล้ว หนังสือเขียนมาเกือบ 160 ปี มีคนไทยที่ปกครองประเทศได้อ่านกี่คน

‘วัด-วัง ในพระราชประสงค์พระจอมเกล้า’ ของอาจารย์ หัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ วิเคราะห์งานศิลปกรรมในรัชกาลที่ 4 ทุกด้าน ตรวจสอบกับเอกสารประวัติศาสตร์ เพื่ออธิบายพระราชประสงค์ที่แท้ของการสถาปนาวัตถุสถานในบวรพระพุทธศาสนา เพื่อเข้าใจทั้งลักษณะเฉพาะของงานช่าง และแนวพระราชศรัทธาในการสร้างงาน รวมถึงพระราชประสงค์ในการสถาปนาวัด อย่างเป็นระบบ
รัชกาลที่ 4 ทรงนำพระพุทธศาสนาเข้าสู่อำนาจปกครองส่วนกลางอย่างเห็นได้ การศึกษาเรียนรู้แนวพระราชประสงค์แม้จากงานศิลปกรรม อาจช่วยให้มองเห็นมิติของพระราชดำริในพระองค์เกี่ยวกับการพระศาสนาได้กว้างขึ้นอีก เป็นหนังสือสำคัญที่ควรพินิจไตร่ตรองอีกเล่ม

๐ คนรุ่นพ่อรุ่นแม่อาจรู้จักหนังเรื่อง ‘เดอะ เบิร์ดส’ กำกับโดยปรมาจารย์งานสยองขวัญ อัลเฟรด ฮิทช์คอค มานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว และไม่น้อยคนอาจรู้ว่า หนังระทึกขวัญเรื่องนี้ทำจากงานเขียนชิ้นเยี่ยมของ ดาฟเน ดู โมริเยร์ ซึ่งจะว่าไป มิติของตัวหนังสืออาจจะลึกล้ำทุบตีความคิดได้ยิ่งกว่าภาพที่เห็นบนจอ

ดังนั้น เมื่อ ‘นก’ ถูกแปลโดยนักจิตวิทยาผู้ชอบอ่านนิสัยผู้คนจากลายเซ็น ซึ่งจับหนังสือถูกเล่ม กิติกร มีทรัพย์ งานที่หนาไม่ถึงร้อยหน้าเล่มนี้ จึงชวนให้ทั้งนักอ่านและนักไม่อยากอ่านหนังสือเล่มหนาๆ ได้หยิบขึ้นมาละเลียดความคิดผู้เขียนที่ส่งผ่านฝูงนกซึ่งยกพวกเข้าถล่มโจมตีคน เพื่อเข้าใจคนด้วยกันผ่านนกเหล่านั้น – อืมมม… ไม่ได้ง่ายเลยนะ

แต่ก็นั่นแหละ ชีวิตไม่ได้ง่ายเหมือนกวาดขี้นก
นอกจากนี้ ยังมีบทวิจารณ์หนังเรื่องดังกล่าวโดยมือดี สิทธิรักษ์ ตุลาพิทักษ์ ประกอบความเพลิดเพลินด้วย

๐ ตามมาติดๆ ขาประจำที่เฝ้ารอร้องเฮ้อโล่งอกเมื่อ ‘ยอดกุนซือทะลุมิติ’ เล่ม 8 ของ มู่อี้ แปลโดย ‘กระดิ่งหยก’ วางแผง เรื่องราวเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตัวละครจริงในประวัติศาสตร์ระดับฮ่องเต้กับที่ปรึกษาสำคัญมาตรฐานจอมโหด เข้ามาเกี่ยวข้อง ตรงนี้เองที่รสชาติการอ่านจะขบเคี้ยวกัดกลืนได้เอร็ดอร่อยขนาดไหน ย่อมอยู่ที่ฝีไม้ลายมือผู้เขียนประการเดียว ว่าผูกเรื่องได้สนุกสนานปานใด

หนังสือดีไม่ดี น่าอ่านไม่น่าอ่าน อยู่ที่ความสามารถตรงนี้
และที่ผ่านมา ผู้เขียนยังไม่สร้างความผิดหวังให้เกิดกับผู้อ่านเลย – เยี่ยม.

 

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image