พันปีจีนยังมีความทรงจำ แค่ไม่กี่ร้อยปีไทยจำอะไรไม่ได้

ความที่เป็นนักจดจำรำลึก และการสอบเข้าช่วยเหลือบ้านเมืองเป็นข้าราชสำนักแต่สมัยโบราณ ต้องเรียนรู้อดีตหรือพฤติกรรมของผู้คนนานานับจากจักรพรรดิลงมาถึงสามัญชน จีนจึงรุ่มรวยด้วยบทเรียนและตัวอย่างการเมืองการปกครอง การดำรงชีวิต วิถีขนบธรรมเนียมและความเชื่อสืบเนื่องมานานช้ามิขาดสาย แม้จะเป็นคนป่วยไข้แห่งเอเชียไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ยักษ์ย่อมลุกขึ้นยืนเป็นยักษ์ได้วันยังค่ำ

ตรงกันข้าม การไม่รู้แล้วไม่เรียนของคนไทยจำนวนหนึ่ง ทั้งยังเป็นคนไทยจำนวนที่ต้องบริหารกิจการบ้านเมือง พยายามกุมอำนาจบริโภคหยาดเหงื่อแรงงานชาวบ้านให้ได้มากและได้นานที่สุด ทำให้ไม่ประสงค์จะให้ชาวบ้านพลเมืองได้เรียนรู้ สร้างวัฒนธรรมเกียจคร้านการแสวงข้อเท็จจริง รู้จักจะต่อสู้คัดค้านการเอารัดเอาเปรียบ เป็นเชื่องเชื่อหมอบศิโรราบกราบกรานต่อผู้มีอำนาจจนเป็นนิสัย

ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์จะสร้างชาติได้อย่างไร เพื่อนบ้านที่เคยตกเป็นประเทศอาณานิคม ปัจจุบันก้าวข้ามความยากลำบากมุ่งอนาคตเรืองรองกันเป็นแถว

ส่วนประเทศเอกราชที่คุยโขมงกันมาแต่ไหนแต่ไร ก็ยังเต็มไปด้วยสวะกาฝากบ่อนเบียนกัดแทะตัวเองอยู่ไม่แล้ว

Advertisement

ศิลปวัฒนธรรม รายเดือนยังมานะหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากประเด็นประวัติศาสตร์ ที่เมื่อเวลาล่วงไปกว่าครึ่งศตวรรษ ก็อาจมีแง่มุมสันนิษฐานใหม่ๆให้ได้คิด เช่น พงศาวดาร เรื่องเล่า กับอนุสาวรีย์เรื่องอะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรีที่อาจารย์ วริศรา ตั้งค้าวานิช ย้อนกลับไปดูหลักฐานเรื่องราวต่างๆ รวมถึงเรื่องเล่าในพื้นถิ่นและการสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อสืบค้นคำอธิบายนานามาถ่ายทอดให้ฟัง

แค่เรื่องที่ดูผ่านไปได้ง่ายๆ อย่างอะแซหวุ่นกี้มอบของกำนัลแก่เจ้าพระยาจักรีนั้น ก่อน ไทยรบพม่า โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่เคยพบข้อความเจ้าพระยาจักรีมอบของกำนัลตอบตามสมควร เกิดขึ้นมาได้อย่างอย่างไร มีนัยลักษณะไหน นอกเหนือความเข้มข้นอื่นๆที่ค้นคว้ามาเล่า กรณีนี้มีนัยทางการเมืองบ่งอยู่ลึกล้ำ

Advertisement

ยังเรื่อง “ดนตรีและนาฏกรรมไทยพม่า ความสัมพันธ์ในเวลากว่าศตวรรษ” ก็เป็นเรื่องน่าติดตาม เนื่องจากร่องรอยวัฒนธรรมรูปนี้ ชาวสยามไปฝากไว้หลังเสียกรุงยาวนานมาจนปัจจุบัน

การต่อสู้ขัดขืนการล่าอาณานิคมในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็เป็นเรื่องเอกที่นักเรียนนักศึกษาต้องเรียนแต่ไม่ได้เรียนอย่างลึกซึ้ง การพัฒนาตามแบบอารยประเทศเรื่องนี้จึงยังต้องศึกษาให้กว้างขวางต่อไป

๐ นิตยสารรายสองเดือนที่ตั้งใจผลิตชนิดท้าทายนักอ่าน เซนส์ แอนด์ ซีน หนาเบอะเล่มละ ๓๐๐ บาท มีเนื้อหาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ ฉบับต้นปีมีเรื่อง “เจิ้งสิ้น” พระเจ้ากรุงธนบุรีในภาษาจีน ที่เราไม่ค่อยรู้กันเท่าไหร่ ยังมีเรื่องพระเจ้าตากสินกับแสงสว่างทางเศรษฐกิจที่ปลายอุโมงค์ มาพร้อมกับเรื่องธบบุรีเมืองที่(ไม่)ถูกลืม ที่มีสะพานพระพุทธยอดฟ้าเหมือนลูกธนูแล่นไปเสียบ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องซางตาครูส กุฎีจีน ให้รู้จักกันกระจ่าง ทั้งอรรถาและภาพประกอบเต็มเล่ม แล้วยังมีเรื่องกัมพูชา เรื่องบ้านหลวงฤทธิณรงค์รอน มีใครรู้จักบ้าง

๐ กระทั่งเรื่องสุโขทัย นักเรียนนักศึกษาวันนี้ตอบได้ไหม ทั้งประเด็นประวัติศาสตร์ ประเด็นการเมืองสร้างชาติ หรือประเด็นการช่วงชิงอำนาจกันระหว่างราชวงศ์ต่างๆร่วมยุคสมัย สุพรรณบุรี อยุธยา ละโว้ลพบุรี และที่สำคัญ สุโขทัยยังเชื่อกันว่าเป็นอาณาจักรแรกของประเทศไทยถูกต้องหรือไม่

ประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย ชุดถามตอบเสริมสาระความรู้ฉบับนักเรียนนักศึกษาโดย กนกวรรณ โสภณวัฒนวิจิตร มีอาจารย์ ธิดา สาระยา เป็นบรรณาธิการวิชาการที่ประกันคุณภาพได้

ให้ได้เรียนรู้จากหลักฐานและการวิเคราะห์ของบรรดานักประวัติศาสตร์ เข้าใจพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของเมือง ความสัมพันธ์ของยุคสมัยทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ด้วยภาพหลักฐานประกอบเนื้อหาที่สำคัญพรั่งพร้อม ไม่ใช่นักเรียนนักศึกษาก็ศึกษาหาอ่านได้ประโยชน์

๐ หนังสืออีกประเภทที่คับคั่งอยู่เต็มแผง คือหนังสืออาหาร โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่นที่คนไทยมีเงินกินกันจนคุ้นเคย ซึ่งเข้ามาด้วยราคาแพงที่คนมีเงินกินไม่ว่าอะไร อย่ากระนั้นเลย หาเมนูเด็ดทำกินเองมิดีกว่าหรือ ข้าวญี่ปุ่น ๔๖ เมนูจากมืออาชีพกับ เจแปนนีส ฟู้ด ๕๐ เมนูเด็ด ที่ล้วนมีภาพสี่สีประกอบขั้นตอนการปรุงแต่ละขั้นอย่างชัดเจน แค่เล่มละ ๑๐๙ บาทไม่ต้องเสียเงินรายการละสองร้อยสามร้อยบาท ทำกินได้ทั้งปี น่าสนุกกว่าด้วย ลองหามาทดลองช่วยกันสร้างสัมพันธ์ในครอบครัวน่าจะดี

๐ พิศดารไหม ๑๗ เรื่องสั้นของผู้ที่ออกลูกเป็นสัตว์ ฝีมือสองสาว แครอล เกส กับ เคลลี มากี พบด้านมืดของความรัก อันตรายที่มองไม่เห็นของการครอบงำ ความลับสีดำของการเป็นแม่ และความรุนแรงแสนงดงามที่กระทำในนามของครอบครัว น่าอ่านจนตะครั่นตะครออย่างไรไม่รู้ สัตว์สัตว์ หรือ วิธ แอนิมอล ชื่อคนแปลเขียนเป็นภาษาฝรั่งไม่รู้อ่านถูกหรือเปล่า ณัฐชานันท์ กับ ณัฐกานต์



เนชั่นแนล จีออกราฟิก ฉบับพิเศษ เฉลิมฉลองปีแห่งนกด้วยการสำรวจความมหัศจรรย์ว่า ทำไมเหล่าวิหคจึงสำคัญ ยี่ห้อนี้แน่อยู่แล้วว่าทั้งภาพและเรื่่องยอดเยี่ยมเต็มที่ ยังมีเรื่องต้องอ่าน วิทยาศาสตร์ว่าด้วยความดีและความชั่วร้าย เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ ๒๑ และทวีปอัฟริกาที่เคยลึกลับดำมืด ทำไมจึงกลายเป็นสวรรค์ของหนุ่มสาวไฮเทคไปเสียได้

หาอ่านกันหน่อยเถิด เพื่อเปิดศักราชใหม่ด้วยปัญญา.

 

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image