ไม่ได้มีแค่ไทย แต่เกาหลีก็มี ‘นางวันทอง’ เหมือนกัน

มักมีคำถามอยู่เสมอในหมู่นักท่องเว๊บที่มีเรื่องอึดอัดขัดข้อง ต้องการคำตอบจากผู้รู้ ไม่จำกัดหัวข้อ นานๆจะเห็นนักดูหนังหรือนักอ่านหน้าใหม่ๆผ่านมา ถามบรรดาผู้ชำนัญทั้งหลายว่า มีเรื่องอะไรน่าดู มีเล่มไหนน่าอ่าน ถ้าเป็นพระนางคนนี้จะมีเรื่องอะไรน่าสนใจอีกบ้าง หรือนักเขียนนามนี้มีเรื่องอะไรเสนอ

จึงมักได้รู้ทั้งข่าวล่ามาเร็ว และข่าวล่ามาเรือเกลือ เพราะเพิ่งอ่านพบบ้าง ว่าช่วงไหนหนังเรื่องใดหรือหนังสือเล่มไหนยังเป็นที่นิยม มีผู้พูดถึงอยู่

ก็พอดีเห็นชื่อวันทอง จากหนังเกาหลีชุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งแพร่ภาพมาแต่สองปีก่อน และเป็นที่กล่าวขวัญทั้งตอนนั้น ต่อเนื่องมาถึงตอนนี้ด้วยอารมณ์เดิมไม่ห่างหาย

นั่นคือ ‘ฮ์เวน อะ แมน เลิฟส์-When a Man Loves’ ที่พระเอกซงซึงฮอน แสดงร่วมกับนางเอกชินเซเกียง โดยมีพระรองที่เพิ่งเข้าวัยหนุ่ม ยอนวูจิน สอดแทรกเข้ามา

Advertisement

นักดูหนังคงยังไม่ลืม ว่าเป็นเรื่องของชายผู้พลัดลงวังวนนักเลงทวงหนี้ แต่พยายามจะกลับสู่ธุรกิจสุจริต ที่วันหนึ่งยกพวกไปทวงเงินร้านหนังสือเล็กๆ พบเด็กสาวลูกเจ้าของเข้ามาขวาง จากนั้นตกลงจะเอาตัวเข้าแลก แต่ฝ่ายชายกลับปล่อยไปโดยส่งเสียให้เรียนจนจบ และเกิดความผูกพันกันขึ้น กระทั่งฝ่ายหญิงได้พบน้องชายของเพื่อนนักเลงมือขวาฝ่ายชาย และความรู้สึกเริ่มโอนเอียงไป

เวน 1

คิมอินยัง นักเขียนบทสาวซึ่งทำเรื่องดังๆมามากเช่น ‘ซันไชน์’ (2545) ‘เดอะ วูแมน ฮู วอนท์ส ทู แมรี่’ (2547) ‘เดอะ ซีเครท เลิฟเวอร์ส’ (2548) ‘ดิ อีเควเตอร์ แมน’ (2555) ฯลฯ รู้ดีว่าจะขยี้ใจผู้ชมอย่างไร

Advertisement

ดังนั้น ผู้ชมส่วนมากจึงอึดอัดถึงอาจจะหงุดหงิดกับความซวยซ้ำซวยซากในชีวิต กระทั่งหญิงที่ทุ่มเทใจรักให้ก็ไม่สามารถเข้าใจหรือเข้าถึง จนพาลคิดผิดไปต่างๆ ขนาดเกือบจะสัมพันธ์ล้ำลึกกับอีกชาย

เวน 2

นี่เองที่ทำให้ผู้ชมส่วนหนึ่งเหนื่อยใจและไม่สบอารมณ์ โดยเฉพาะกับพฤติกรรมที่ดูเหมือนรวนเรของฝ่ายหญิง ต่างพูดถึงเธอโดยเรียก ‘นางวันทอง’ ราวกับใจเดียวกัน

ที่จริงบทหนังก็ละเอียดอ่อนพออธิบายได้ เช่นหลายคนในเว๊บช่วยอธิบายไปแล้ว ว่าภูมิหลังบวกกับความไม่ช่างพูดของฝ่ายชาย อาจทำให้อีกฝ่ายเข้าใจผิดได้ไม่ยาก แม้จะรักในความทุ่มเทที่ได้รับก็ยังหวาดระแวง

แต่เมื่อท่าทีสองจิตสองใจทำให้นึกถึงนางวันทองในแง่ ‘สองใจ’ ก็น่าจะคุยกันได้อีกหนว่า จริงๆแล้ว นางวันทองสองใจหรือ นางวันทองสองใจอย่างไร เพราะเราไม่เคยเรียนวรรณคดีกันอย่างวิเคราะห์วิจารณ์พฤติกรรมบทบาทตัวละคร เพื่อเข้าใจตัวละคร และเข้าใจบรรทัดฐานสังคมกับค่านิยมขณะนั้น ไม่ใช่เอาไม้บรรทัดต่างยุคต่างสมัยไปวัด

แค่ยังตัดสินใจไม่ได้ระหว่างขุนแผน ผัวคนแรกที่ชอบขืนใจกระชากลากถู กับขุนช้างที่เจ้าเล่ห์หลอกเอาเป็นเมียแต่รักและถนอมดูแลจริงจัง ว่าจะตัดสินใจอยู่กับใคร ก็ถูกตัดหัวเสียแล้ว

เราจดจำกันมาแต่เผินๆเกินไปหรือเปล่า เราตัดสินคนกันง่ายๆและเร็วพอๆกับที่นางวันทองถูกตัดหัวทันทีที่ยังให้คำตอบไม่ได้หรือเปล่า

เราเรียนหนังสือกันแบบนี้หรือ

ถ้าอย่างนั้นคงไม่แปลกที่วันนี้เรายังพูดเรื่องเดียวกันอย่างไม่เข้าใจว่าอาจมีแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image