วันสุดท้ายของนักโทษประหาร … เบื้องหลังกำแพงคุก เบื้องหน้ากิโยติน

เมื่อไม่กี่วันก่อน ตอนที่ทำสกู๊ปเรื่องเปิดความคิดรับปีใหม่ ด้วยหนังสือเล่มเด็ด  เวียง-วชิระ บัวสนธ์  บรรณาธิการสามัญชน และนักเขียน-คอลัมนิสต์หนุ่ม กล้า สมุทวณิช ใจตรงกัน เลือกหนังสือเล่มเดียวกันคือ “วันสุดท้ายของนักโทษประหาร” โดย กรรณิกา จรรย์แสง ซึ่งแปลจากภาษาฝรั่งเศสเรื่อง “Le Dernier Jour d’un condamné” ของวิกตอร์ อูโก โดย สนพ.มติชน

เมื่อว่างปุ๊บ หนังสือเล่มนี้จึงอยู่ในมือเราโดยพลัน

วิคตอร์ อูโก เป็น กวี นักประพันธ์ นักการละครนามอุโฆษชาวฝรั่งเศส ชื่อเสียงของเขาระบือเพียงใดดูได้จากประวัติตอนหนึ่งที่ว่ากันว่าหากใครอยากส่งจดหมายถึงวิคตอร์ อูโก เพียงแค่เขียนชื่อของเขาบนซองจดหมาย บุรุษไปรษณีย์ก็สามารถนำส่งถึงเขาได้แม้ไม่ระบุที่อยู่ บิดาของอูโกเป็นนายพลในกองทัพนโปเลียน ทำให้เขาต้องเดินทางบ่อยๆ ส่วนมารดาเป็นพวกนิยมกษัตริย์ ซึ่งสะท้อนถึงการไปกันไม่ได้ของจุดยืนทางการเมืองของทั้งคู่และฉายเงาทาบทับลงมายังตัวอูโกเอง ดังจะเห็นได้จากการที่เขาเป็นฝ่ายนิยมกษัตริย์ในช่วงแรก และเปลี่ยนมาเป็นพวกนิยมสาธารณรัฐในภายหลัง  อูโกเขียนกฎหมายที่ปารีส เมื่อจบการศึกษาก็ใช้ชีวิตเหมือนหลักลอย ประสบการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดลงในนวนิยายเรื่อง Les Misérables ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยอย่างน้อย 3 สำนวนแล้ว สำนวนล่าสุดคือ เหยื่ออธรรม ที่แปลโดย วิภาดา กิตติโกวิท

ผลงานของอูโกจัดว่าอยู่ในกระแสโรแมนติก  ซึ่งนักประพันธ์หันกลับมาให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึก ผลงานที่เป็นที่รู้จักกันดีได้แก่ Notre-Dame de Paris ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักระหว่างชายค่อมรูปร้ายกับหญิงยิปซีรูปงาม ฉากจบที่ชวนหลั่งน้ำตาคือกระดูกเจ้าคนค่อมที่โอบกอดโครงกระดูกหญิงสาวผู้เป็นที่รักแต่ไม่มีวันรักเขา ว่ากันว่าการพรรณนาฉากต่างๆในปารีสทำให้นักท่องเที่ยวคิดว่าสถานที่เหล่านั้นมีอยู่จริงในปารีส ทั้งที่จริงแล้วเป็นเพียงฉากสมมติ

Advertisement

ก่อนหน้านี้ในวาระครบรอบ 100 ปี มรณกรรมของวิคตอร์ อูโก สถานทูตฝรั่งเศสร่วมกับสำนักพิมพ์ข้าวฟ่างได้จัดพิมพ์การแปลผลงานของอูโกจากภาษาฝรั่งเศส  ไม่ว่าจะเป็น Les Misérables ที่แปลเป็นไทยชื่อ ตรวนชีวิต หรือ Notre-Dame de Paris ที่แปลเป็นชื่อ มหาวิหารนอเทรอ-ดามแห่งปารีส  เวลาล่วงไปกว่าทศวรรษ Le Dernier Jour d’un Condamné ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของอูโกก็ปรากฏโฉมในวงการหนังสือของไทยในชื่อ “วันสุดท้ายของนักโทษประหาร” ฝีมือแปลของอาจารย์ กรรณิกา จรรย์แสง ซึ่งตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

อันที่จริงแล้วอูโกเป็นนักประพันธ์ที่คัดค้านโทษประหาร ซึ่งเราจะเห็นได้จากนวนิยายเรื่องนี้ ผ่านความคิดของตัวละคร อูโกเห็นการประหารด้วยกิโยตินและรังเกียจความพึงพอใจของมหาชนที่รอดูการประหาร จึงเขียนนวนิยายชิ้นนี้ในเวลาอันสั้น และตีพิมพ์ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1829 โดยไม่ระบุชื่อผู้แต่ง ซึ่งแม้จะเป็นหนังสือที่เขียนมาเกือบ 200 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีความทันสมัยอยู่ ทั้งในเชิงลีลาและรูปแบบทางวรรณกรรม นวนิยายเรื่องนี้บอกเล่าความรู้สึกนึกคิดของนักโทษที่ต้องโทษประหารในศตวรรษที่18 ฉากคือฝรั่งเศส ตัวละครเขียนพรรณนาความรู้สึกนึกคิดของตนในห้วงเวลาที่ถูกกักอยู่หลังลูกกรง  เนื้อเรื่องบอกเป็นนัยว่าเขาได้ไปฆ่าคนอื่นมา ตอนจบเรื่องเขาได้พบหน้าลูกสาววัยสามขวบ แต่เธอจำพ่อไม่ได้ นวนิยายตัดจบตรงเหตุการณ์ที่เขาขอโทษและประณามมหาชนที่เขาได้ยินเสียงจากภายนอกที่รอชมการประหารด้วยการบั่นคอเขาอยู่ภายนอก

วชิระ บัวสนธิ์ เคยให้เหตุผลที่เลือกเล่มนี้ว่า “นวนิยายขนาดสั้นหรือเรื่องสั้นขนาดยาวชิ้นสำคัญซึ่งไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมครั้งแรกของนักเขียนนักประพันธ์ท่านนี้ หากยังถือเป็นคบไฟดวงแรกแห่งการเรียกร้องมโนธรรมสำนึกของสังคมฝรั่งเศสให้ขจัดความป่าเถื่อนออกจากจิตใจ ด้วยการไม่ยินยอมอนุญาตให้ถืออำนาจบาตรใหญ่ (อีกต่อไป) ไม่ว่าในนามของผู้ใดในการพิพากษาประหารชีวิตเพื่อนมนุษย์ในทุกกรณี

ความชาญฉลาดของอูโกในงานกะทัดรัดชิ้นนี้ก็คือ นอกจากนำเสนอผ่าน ‘ข้าพเจ้า’ เพื่อทำให้ผู้อ่านรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับตัวละครหลักในเรื่องแล้ว ยังจงใจไม่เอ่ยถึงว่าเขาไปก่อคดีอันใด เพราะไม่ต้องการให้เราในฐานะคนอ่านไปเสียเวลาติดกับดักในการพิจารณาความหนักเบาของโทษทัณฑ์ว่าสมควรหรือไม่อย่างไร พูดอีกนัยหนึ่งจึงปฏิเสธไม่ได้ ว่าวรรณกรรมชิ้นนี้มีเป้าประสงค์แจ่มชัดตั้งแต่ต้น และท่านผู้เขียนผลิตมันออกมาได้อย่างกลมกล่อม ทรงพลังเหลือเกิน”

ขณะที่กล้า สมุทวณิช  ก็มองว่าประเด็นเรื่องของการต่อสู้ยกเลิกการลงโทษประหารชีวิต ยังเป็นประเด็นร่วมสมัยเสมอในประเทศของเรา เราเคยย้อนคิดบ้างหรือไม่ว่า เราต้องการให้ “ประหาร” คนพวกนั้นไปเพื่ออะไร หรือเราคิดว่าการประหารชีวิตจะทำให้สังคมดีขึ้น ผู้คนไม่กล้ากระทำความผิด เช่นนี้แล้วความยุติธรรมคืออะไร คือการที่คนตายไปคนหนึ่ง แล้วก็จะมีคนตายตามไปอีกคนหนึ่งอย่างนั้นหรือ และวิธีการเช่นนี้มันทำให้ผู้คนไม่กระทำความผิดต่อกันได้จริงหรือ

การยกเลิกโทษประหารชีวิต จึงเป็นข้อเสนอที่ท้าทายและร่วมสมัยเสมอ เมื่อมีการพูดถึงประเด็นนี้ในสังคมไทย โดยเฉพาะในยุคแห่งโซเชียลเน็ทเวิร์ก ที่เรากลายเป็นสังคมนิยมประชาทัณฑ์

ในมุมของเราแล้วนั้น หากวรรณกรรมเรื่องนี้จะพูดอะไรกับสังคมไทยแล้วนั้น เราคงได้ย้อนทบทวนข้อถกเถียงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความเหมาะสมของโทษประหาร อย่างที่เราได้ยินเสียงเรียกร้องหนาหูว่าข่มขืนเท่ากับประหาร ถึงที่สุดแล้วโทษประหารจะช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรมได้จริงหรือไม่ ความพึงพอใจที่เห็นคนถูกลงโทษตาย ไม่ใช่ความโกรธแค้นที่เอาคืนในรูปของกฎหมายหรอกหรือ เราจะก้าวข้ามความโกรธ และมุ่งมองไปสู่อนาคตที่มุกคนอยากเห็นความยุติธรรมในสังคม โดยไม่รู้สึกสาแก่ใจได้อย่างไร

เป็นคำถามที่หวังให้ช่วยกันครุ่นคิดพินิจนึกหลังการอ่าน “วันสุดท้ายของนักโทษประหาร”

 

ดอกฝน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image