เมื่อเริ่มกรุงรัตนโกสินทร์ ศิลปสถาปัตยกรรมก็เป็นการเมือง 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา   ศิลปสถาปัตยกรรมต้นกรุงรัตนโกสินทร์   หรือที่แรกสร้างหลังสถาปนาราชวงศ์จักรี   มักเข้าใจกันว่าหลังภาวะสงครามภายนอกความขัดแย้งภายในติดต่อกันยาวนาน   การลงหลักปักฐานย่อมเลียนแบบต่อเนื่องมาจากกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย   งานช่างเหล่านั้่นจะเหลืออะไรให้ศึกษาอีก   โดยเฉพาะเมื่อการบูรณะปฏิสังขรณ์ทับซ้ำของเดิมสืบต่อมาแทบทุกระยะ

แต่จากงานวิชาการตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา   ไม่ว่าด้านประวัติศาสตร์   รัฐศาสตร์   หรือวรรณกรรม   กลับทำให้ปรากฏร่องรอยต่างๆที่เห็นว่า   การสร้างกรุงขึ้นใหม่นั้นมีความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง   ก่อแนวคิดที่จำหลักเป้าประสงค์ต่างๆลงในงานศิลปสถาปัตยกรรมด้วย   หากความยากลำบากก็คือ   ต้องมองผ่านการบูรณะเพิ่มเติมในรัชกาลที่ 2  หรือที่  3  ซึ่งเป็นช่วงเกิดพัฒนาการสำคัญทางศิลปสถาปัตยกรรมอย่างสูง

จึงต้องสร้างภาพสามมิติสันนิษฐานรูปรอยศิลปสถาปัตยกรรม   ที่ประมาณว่าเป็นลักษณะเดิมในรัชกาลที่  1  ขึ้น   อันเป็นข้อสันนิษฐานที่น่าพิจารณาใคร่ครวญตามยิ่ง

โดยเฉพาะเมื่อเป็นงานวิจัยที่สนับสนุนจากสำนักวิจัยและพัฒนา   มหาวิทยาลัยศิลปากร   ซึ่งต้องประกอบด้วยหลักฐานความรู้ที่มีอยู่ชัดเจน   “ความหมายทางสังคมและการเมืองในสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก”   ของ  ชาตรี  ประกิตนนทการ  เมื่อกลายเป็นหนังสือ  การเมืองในสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่  1  อันประกอบด้วยภาพนานาล้ำค่า   จึงเป็นงานที่สามารถศึกษาให้เห็นอุดมการณ์ในรัชกาลที่  1  ซึ่งถ่ายทอดผ่านงานศิลปสถาปัตยกรรมได้

Advertisement

เพียงเริ่มต้นการสร้างพระอุโบสถเป็นประธานของวัด   อันเป็นที่นิยมกันสืบมา   แล้วล้อมพระอุโบสถด้วยพระระเบียง   ตลอดจนประดิษฐานพระประธานอุโบสถด้วยพระพุทธรูปปางสมาธิ   มิใช่ปางมารวิชัยตามคตินิยมเดิมของสังคมไทย    ที่เห็นกันปกติในปัจจุบัน   ถูกออกแบบขึ้นภายใต้แนวคิดใด   และสนองความเชื่อทางพระพุทธศาสนาสมัยนั้นขนาดไหน   ก็เป็นประเด็นที่น่าเรียนรู้ยิ่งยวดแล้ว

เคยได้ยิน  มัชฌิมประเทศ  ที่เป็นจินตนาการคนละแดนกับมัชฌิมประเทศใน  ‘เดอะ  ลอร์ด  ออฟ  เดอะ  ริง’  ของ  เจ.อาร์.อาร์. โทลเกี้ยน  หรือ  ‘ศีรษะแผ่นดิน’ หรือไม่   รัชกาลที่  1  นำมาจากไหน

Advertisement

ไม่อยากรู้หรือ

๐  กระทั่งเกิดมามีชีวิตชาติหนึ่ง   มิใช่อยู่ไปตามยะถากรรม   ยิ่งเกิดมามีน้อยขนาดไหนยิ่งต้องดิ้นรนขวนขวาย   อย่าว่าแต่ลงมือทำธุรกิจหรือลงทุนทำกิน   หากไม่มีแผนวางไว้ก็ยากที่การเดินสะเปะสะปะจะไปถึงจุดหมายที่พึงประสงค์ได้  ‘เดอะ  พาวเวอร์  ออฟ  บิสสิเนส  แพลน’ แผนธุรกิจพิชิตเงินล้าน   อาจไม่ประกันตัวเงินมหาศาลให้ทันทีที่อ่านจบ   แต่หากพินิจคำแนะนำต่างๆปรับใช้กับกิจการที่ลงมืออยู่   อย่างน้อยธุรกิจย่อมเปลี่ยนไปทางที่ดีขึ้นเห็นๆ

ไม่เชื่อต้องลบหลู่   ทดสอบดูจึงเชื่อถือได้   หาหนังสือเล่มนี้โดยคณะฟลายอิ้งคอมมา  ภัทร  เถื่อนศิริ  อ่านดู   แล้วจะเห็นบันไดที่ทอดขึ้นไปถึงยอดได้ไม่ยาก

๐  สักสี่ทศวรรษก่อน   ยุคที่ทางเลือกมิได้มีมากมาย   จบ ม.6 แล้วต่อ ม.8 แผนกศิลปหรือวิทยาศาสตร์ไม่ได้   นักเรียนมีสองทางให้ไป   ผู้ชายไปเรียนครู   ผู้หญิงไปเรียนพยาบาล   ย่อมเห็นได้ว่าสองวิชาชีพเป็นวิชาที่สังคมสมัยนั้นจัดอันดับไว้ท้ายๆ   ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นสองวิชาชีพที่สำคัญสูงสุดสำหรับสังคม   ครูคือผู้สร้างอนาคต   พยาบาลคือผู้ประคับประคองปัจจุบัน   ครูเหน็ดเหนื่อยกับลูกศิษย์ลูกหาอย่างไร   พยาบาลที่(ประทานโทษ)เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวผู้ป่วยก็เหนื่อยหนักอย่างนั้น

เดี๋ยวนี้   แม้โรงพยาบาลเอกชนก็ต้องการพยาบาลคุณภาพ   อย่าว่าแต่พยาบาลรัฐที่ขาดแคลนจนต้องประกาศหา   กาลเวลาที่พยาบาลหน้าง้ำหรือผู้ป่วยหัวใจวายไปก่อนเพราะตกใจหน้าตาพยาบาลได้ผ่านไปแล้ว  ‘เป็นพยาบาลง่ายนิดเดียว’  ที่เผยเส้นทางเตรียมตัวสู่หนทางวิชาชีพอันเมตตาและเสียสละ   ทำอย่างไรจึงสอบมหาวิทยาลัยรัฐบาลได้โดย  ณัชตา  แก้วขาว  บอกการวางแผนที่ดีเพื่อความสำเร็จ   ที่จะได้อุทิศตัวแก่ผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งหลาย

๐  ยังมี   ก่อนนี้ชีวิตผู้คนซึ่งต้องต่อสู้กับโรคภัย   ฝากชีวิตไว้กับคุณหมอตี๋ที่ส่วนมากเป็นลูกหลานร้านขายยา   ซึ่งจัด  “ยาชุด”  ลงซองพลาสติคให้หลังฟังอาการจบ   ผิดถูกว่าไปตามประสบการณ์ที่อ่านจากคู่มือยา   หรือฟังเซลส์ขายยาสาธยาย   แต่เมื่อมีเภสัชกรประจำร้านตามกฎหมาย   การใช้ก็ถูกต้องตามอาการและหลักความรู้แน่นอน   แม้จะมีคนไข้รู้มากบางรายซื้อยาที่ตัวอยากใช้ทั้งๆไม่ถูกกับโรค   เภสัชกรบอกก็ไม่ฟัง   ฟ้องเจ้าของร้านเป็นข่าวมาแล้วก็มีแค่รายสองราย

กว่าจะเป็นเภสัชกร  ฉบับปรับปรุงปี 2561  อธิบายระบบใหม่ ทีซีเอเอส. กสพท. กับคณะเภสัชศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย   บอกการรับทั้ง  5  รอบ   เจาะชีวิตนักศึกษาทั้ง  6  ปี   เส้นทางหลังเรียนจบ   ใช้ทุน   เรียนต่อ   เปิดร้านยา  ฯลฯ

คู่มือแนะแนวการศึกษาเล่มนี้รวบรวมข้อมูลไว้ครบที่สุด   สำหรับคนอยากเป็นหมอยา   ที่เดี๋ยวนี้ไม่น้อยคนออกมาผสมยารักษาความงาม   รักษาสิว   ผิวพรรณ   ฯลฯ   ขายเป็นเถ้าแก่เนี้ยกันไปแล้วหลายคน

๐  ‘เดอะ  แฮปปี้เอสท์  คิดส์  อิน  เดอะ  เวิลด์’  พ่อแม่ดัทช์เลี้ยงแบบนี้   หนูแฮปปี้สุดๆ   หนังสือเทคนิคเลี้ยงลูกแบบน้อยๆแต่ลูกสุขมากโดย รีนา  เม  อคอสตา กับ  มิเชล  ฮัทชิสัน  ซึ่งเจ้าของหนังสือเล่มดัง  บริงกิ้ง  อัพ  เบเบ  เลี้ยงลูกแบบผ่อนคลายสไตล์คุณแม่ฝรั่งเศส  พาเมลา  ดรักเคอร์แมน  อ่านแล้วยังบอกว่า   ชาติหน้าฉันอยากเกิดเป็นคนดัทช์   นี่น่าประกันคุณภาพระดับสูงทีเดียวแล้ว   เมื่อคุณแม่ว่าเอง

ส่วนผู้เขียนทั้งสองซึ่งเป็นคุณแม่ชาวอเมริกันกับอังกฤษที่แต่งงานกับชายดัทช์   ก็ต่างเล่าประสบการณ์เลี้ยงลูกในเนเธอร์แลนด์อย่างถึงแก่น   ว่าอะไรทำให้เด็กดัทช์มีความสุขและปรับตัวได้เยี่ยม   อย่างหนึ่งเพราะบรรดาคุณพ่อลางานมาเลี้ยงลูกได้   สองกินช็อคโกแลตเป็นอาหารเช้า   สามขี่จักรยานไปได้ทุกที่   หรือเปล่า?

ลองหาความไม่ลับจากหนังสือเล่มนี้ดู   แล้วจะรู้ว่าบ้านเมืองซึ่งเด็กๆหลับยาวนานถึง  ๑๕  ชั่วโมงได้แห่งนี้   มีอะไรดี   จึงหล่อหลอมพวกเขาขึ้นมาได้อย่างยอดเยี่ยม  อสมาพร  โคมเมือง  แปลให้เข้าใจ

หนังสืออ่านเอาเรื่องเด็ดๆทั้งนั้น.

 

บรรณาลักษณ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image