‘ตากสินมหาราช’ ชาตินักรบ ผิดถูกมิใช่เพราะเป็นสายตาคนนอก

คราวที่นักเขียนสตรีลูกครึ่งอเมริกันฝรั่งเศส ผู้เป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส ในฐานะล่ามภาษาอังกฤษของประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการ เดินทางมาประเทศไทยเมื่อ 11-12 ปีที่แล้ว เพื่อพูดถึงหนังสือแปลของตน “ตากสินมหาราชชาตินักรบ” ซึ่งมี กล้วยไม้ แก้วสนธิ ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยนั้น แคลร์ คีฟ – ฟอกซ์ กล่าวว่า เธอให้นายทหารฝรั่งเศสเป็นตัวเดินเรื่อง มองสิ่งที่เกิดขึ้น หากเธอตีความผิด หรือเข้าใจความหมายใดผิดไป ก็เหมือนกับเรื่องนี้ดูจากมุมมองของสายตาคนต่างชาติ
แต่ว่ากันโดยสิ่งที่เป็นอยู่ภายในสังคม การหวนกลับไปมองเหตุการณ์เสียกรุงครั้งหลังที่เกิดขึ้น มาจนย้ายราชธานีเป็นกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร กระทั่งพระเจ้าตากสินถูกสำเร็จโทษ แม้แต่สายตาคนในที่อ่านพงศาวดารเล่มเดียวกับฟอกซ์ รับรู้หลักฐานนานาเท่าที่มีเช่นเดียวกับฟอกซ์ ก็ยังไม่สามารถเห็นภาพที่จดจารไว้นั้นได้กระจ่าง

ยังต้องครุ่นคิด สันนิษฐาน ตีความกันด้วยความรู้กับหลักฐานแวดล้อมอีกหลายประการ เพื่อเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นให้ใกล้เคียงความเป็นไปได้ที่สุด

เวลาผ่านมา 230 กว่าปีนับจากสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เรื่องของพระเจ้าตากสินมีการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการอยู่หลักๆไม่กี่ประเด็น เฉพาะเรื่องที่ถูกตั้งข้อสงสัยอย่างกว้างขวางคือ การบันทึกถึงพระอาการอันแสดงความวิปลาศของพระสติ และที่พยายามอ่านหลักฐานกันอย่างมากในระยะหลังคือ การก่อจลาจลยึดอำนาจในเมืองหลวง ก่อนสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจะกลับมายุติเหตุ

ส่วนการปลงพระชนม์นั้น ยังมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า พระองค์มิได้เสด็จสวรรคต เป็นแต่มีตัวตายแทน โดยลงเรือหลบราชภัยไปบวชเป็นพระอยู่ถ้ำเขาขุนพนมในนครศรีธรรมราช

Advertisement

“ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน” รวมเรื่องสั้นของ หลวงวิจิตรวาทการ ประมาณปี 2480 ที่ผู้เขียนเล่าว่า ขณะเป็นบรรณารักษ์นอนเฝ้าหอสมุดแห่งชาติ คืนหนึ่งเหมือนมีใครมาจับมือเขียนเรื่องสับเปลี่ยนตัวกับพระญาติ ที่มาถูกสำเร็จโทษแทน นิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ อิงอยู่ในความทรงจำของสังคมและแพร่หลายสำทับเป็นความเชื่ออยู่ไม่น้อย มายาวนาน

อีกเล่มคือ “ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ซึ่งมีอายุเนิ่นนานกว่าครึ่งศตวรรษเช่นเดียวกัน ของภิกษุณี วรมัย กบิลสิงห์ ที่ว่าเขียนโดยติดต่อกับดวงพระวิญญาณของพระองค์ ก็มีเนื้อหาหลบหนีราชภัยไปเช่นเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่ 4 หลังสุดปี 2547

ยังมี นิยายเล่มเดียวของนักหนังสือพิมพ์ผู้ลุ่มลึก สุภา ศิริมานนท์ เรื่อง “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข” เขียนเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว แต่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2545 ก็จุดประเด็นท้าทายนักประวัติศาสตร์ว่า แท้แล้ว พระเจ้าตากสินมิได้ถูกประหารชีวิต

Advertisement

แต่ความทรงจำหลักของสังคมอันสำคัญก็คือ การเป็นผู้กู้เอกราช ปลดแอกจากพม่า ทำให้เกิดพระรูปบูชาในพระเจ้าตากสินอยู่แทบทุกหัวระแหง โดยเฉพาะพื้นที่เส้นทางที่พระองค์ทรงแหวกวงล้อมพม่าไปทางตะวันออก ปักหลักต่อเรือรบที่จันทบุรี ก่อนจะกลับมากู้กรุงในเวลาอันรวดเร็ว ความทรงจำนี้ดำรงวีรกรรมวีรบุรุษไว้มั่นคงมิอาจจะลบเลือน

จนเมื่อปี 2529 เมื่อหนังสือวิชาการอ่านสนุก “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ มานะแหวกความคลุมเครือของเรื่องราว พยายามคลี่คลายประเด็นอึมครึมของทั้งนักประวัติศาสตร์และนักเรียนนักศึกษาออกมาทีละปม เรื่องของพระเจ้าตากสินจึงยิ่งขยายความสนใจของผู้คนและสังคมกว้างขวางออกไป

ก่อนหน้านี้ ปี 2546 “ฟอลคอนแห่งอยุธยา” ของฟอกซ์ก็ตีพิมพ์เป็นพากย์ไทยออกมาโดยผู้แปลคนเดียวกัน ดังนั้น เหมือนกับเป็นความสืบเนื่อง เมื่อตัวละครหลักนามหนึ่งคือ ชวง ฟอลคอน ผู้เป็นเหลนของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ที่ครอบครัวและสกุลตกต่ำลงหลังพระเพทราชายึดอำนาจ ชวงซึ่งเป็นพ่อค้าได้พบกับ มาธิว นายร้อยราชองครักษ์พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ที่หนีคดีฆ่าคนตายจากการดวลมาสยาม เพื่อมาพึ่งพี่ชายที่เป็นบาทหลวง ชวงรู้จักกับสิน สินรู้ว่ามาธิวเป็นนายทหารจึงชักชวนไปทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะเมื่อกำลังจะเกิดสงคราม

ชวงกับมาธิวเดินเรื่อง โดยมีสินเป็นศูนย์กลางเนื้อหา ชวงยังมีพี่ชายพิการกับน้องสาวที่ผูกสัมพันธ์กับเจ้าฟ้าอุทุมพร ซึ่งภายหลังพบกับมาธิวระหว่างพระยาตากเดินทัพไปตะวันออกอย่างคาดไม่ถึง

ฟอกซ์ลำดับเรื่องตามพงศาวดาร ตัวละครนับถือคริสตศาสนาแต่งสีสันที่เกี่ยวข้องให้เกิดชีวิตชีวาขึ้น การให้ภาพถูกล้อมกรุง วันคืนอันยากลำบากของผู้คน ไม่เพียงอาหารการกิน กระทั่งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ทำให้ผู้อ่านนิยายเล่มนี้สะดุดสะดุ้งกับความคิดตัวเองเมื่อเห็นความงามของ “ศรีอโยธยา” ที่กำลังแพร่ภาพ ผุ้เขียนให้รายละเอียดที่จำเป็นต่อจินตนาการผู้อ่าน ความทุกข์แร้นแค้นและโหดเหี้ยมของสงคราม การเทครัวผ่านด่านเทือกภูสู่มะริดตะนาวศรี เส้นทางเรือจากสยามสู่อ่าวเมาะตะมะ และต่อไปมะละกา เปิดประตูให้เห็นสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์ของผู้คนได้ชัดเจนขึ้น

ความเชื่อของบาทหลวง พิธีกรรมกับการดำเนินชีวิต ชะตาของตัวละครที่ขึ้นอยู่กับศาสนา สร้างความเข้าใจกับผู้อ่านอย่างชัดเจน

แม้หนังสือจะไม่หนานัก ยิ่งเมื่อเทียบกับฟอลคอนแห่งอยุธยา แต่รายละเอียดที่จำเป็นดังกล่าว ช่วยให้เห็นภาพที่ผู้เขียนต้องการสื่อสถานการณ์ทั้งหลายได้

รายละเอียดของมิตรร่วมรบ ขุนศึกคู่พระทัย 4 นายของพระเจ้าตาก หลวงราชเสน่หา (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท), หลวงพิชัยอาสา (พระยาพิชัยดาบหัก), พระยาเชียงเงิน, หลวงพรหมเสนา(พระยานครสวรรค์) อาจมิได้มีบทบาทโดดเด่นร่วมกันนัก เนื่องจากเหตุการณ์มองจากสายตานายทหารฝรั่งเศส แต่เห็นได้ว่าทรงเกรงพระทัยพระยาจักรีกว่าผู้ใด

นิยายเล่มนี้อาจไม่มีประเด็นด้านประวัติศาสตร์แหลมคมให้เกิดข้อคิดมากมาย แต่ความเพลิดเพลินที่ได้ เกิดจากจินตนาการผู้เขียนที่สร้างภาพแวดล้อม โดยเฉพาะยามสงคราม ให้ผู้อ่านนึกเห็นความเป็นไปได้ และอาจแต่งแต้มต่อไปมากกว่าตัวอักษร ถึงความลำเค็ญของผู้คนเมื่อต้องเอาตัวให้รอดจากการทำลายล้าง ในยุคสมัยที่สงครามยังเป็นการแสดงพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์

นิยายเกี่ยวกับตัวเอง หาอ่านได้ก็ไม่เสียหลาย

พยาธิ เยิรสมุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image