เมื่อนักประวัติศาสตร์ตั้งคำถาม: “วงศาวิทยาของอิเหนา” กับความท้าทายประวัติวรรณคดีไทย

เมื่อหนังสือ ‘วงศาวิทยาของอิเหนา: ปัญหาเรื่องลิ้น ความลื่นไหลของสัญญะ และการเดินทางสู่โลกของปันหยี’ ของ ผศ. ดร. ทวีศักดิ์ เผือกสม ได้รับการตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ยิปซี ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับในรูปของการจัดเสวนาเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้พอสมควร กระนั้นบทวิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและโต้แย้งก็ไม่ปรากฏมากนัก อาจจะเป็นเพราะหนังสือดังกล่าวแปลมาจากวิทยานิพนธ์เรื่อง “The Pursuit of Java: Thai Panji Stories, Meray Lingua Franca, and The Question of Translation” จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ของอาจารย์ทวีศักดิ์ ซึ่งได้รับรางวัล Wang Gungwu ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ประขำปี 2551 และได้รับการตอบรับจากวงวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามาแล้วในฉบับภาษาอังกฤษ

จริงอยู่ ข้อเสนอหลักของหนังสือเล่มนี้คือผู้เขียนสร้าง ‘แว่น’ ในการศึกษาดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยอาศัยกรอบภูมิภาคเอง นั่นคือ การแปลนิทานปันหยีอันเป็นมรดกของชวาเข้ามาสู่กรุของวรรณคดีไทย 2 ฉบับหลัก ได้แก่ ‘อิเหนา’ กับ ‘ดาหลัง’ นั้น ได้ทิ้งร่องรอยภาษามลายูเอาไว้โดยไม่แปล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาษามลายูในฐานะภาษากลางหรือลิงกัวฟรังคาในดินแดนแถบนี้ เห็นได้จากการติดต่อค้าขายตามท่าเรือต่างๆ สมัยพุทธศตวรรษที่ 21-23 มีการใช้ภาษามลายูเป็นสื่อกลาง ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ในราชสำนักอยุธยาเองก็มีการใช้ภาษามลายู เช่น สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ราชสำนักอยุธยาส่งสมณทูตไปวางรากฐานพุทธศาสนาที่ศรีลังกา โดยมีหลักฐานระบุว่ามีไพร่มลายู 6 คน และล่ามแปลเดินทางไปด้วย 2 คน นอกจากนี้ เดอ โชมอง ก็ระบุว่าแถวบริเวณใกล้ชุมชนชาวมักกะสันมีชาวมลายูอยู่จำนวนมาก

ผศ. ดร. ทวีศักดิ์ เผือกสม

อย่างไรก็ตาม วงศาวิทยาของอิเหนาฯ ไม่ใช่เพียงแต่มีคุณูปการในการสร้างข้อถกเถียงในวงวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังตั้งคำถามถึงการชำระประวัติวรรณคดีไทยอีกด้วย นิทานปันหยีฉบับไทยทั้งสองฉบับ คือ อิเหนา กับ ดาหลัง ได้รับการแปลและประพันธ์ในรูปของกลอน และมีการนำไปประกอบการระบำรำฟ้อน (อาจารย์ทวีศักดิ์อ้างงานของ William Gedney ที่ชี้ว่ากลอนถือเป็นพัฒนาการทางฉันทลักษณ์นับแต่สมัยปลายอยุธยาเป็นต้นมา)

เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลายใน พ.ศ. 2310 ต้นฉบับวรรณคดีก็สูญหายไปไม่น้อย แต่ได้มีการรวบรวมและปรับปรุงใหม่ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ต่อมามีการค้นพบต้นฉบับเนื้อหาบางส่วนที่ถูกค้นพบที่นครศรีธรรมราช สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเห็นว่าเป็นฉบับที่คัดมาจากต้นฉบับของอยุธยา ส่วนกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่าเป็นอิเหนาฉบับรัชกาลที่ 1 แต่ต่อมาพระองค์เปลี่ยนความเห็น โดยเห็นสอดคล้องกับพระราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 5 อย่างไรก็ตาม อาจารย์ทวีศักดิ์ได้วิเคราะห์ว่า หากอ่านเทียบกันโดยละเอียดจะพบว่า ทั้งสองฉบับเป็นเอกสารที่คัดมาจากต้นฉบับเดียวกัน เพียงแต่คัดคำหรือใช้เสียงต่างกันเป็นบางคำ

Advertisement

ในหัวข้อว่าด้วยความเป็นผู้ประพันธ์ในสังคมไทย การล่มสลายของอยุธยาทำให้เกิดปัญหาในการระบุตัวผู้ประพันธ์ คำถามที่ว่าใครคือผู้ประพันธ์ยากจะสืบค้นได้ เฉพาะเรื่อง อิเหนา นั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่าต้นฉบับนิทานปันหยีในสมัยอยุธยามี 2 ฉบับ คือ ดาหลัง กับ อิเหนา ซึ่งประพันธ์โดยพระราชธิดาของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 2 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้ากุณฑล และเจ้ามงกุฎ โดยเจ้าหญิงทั้งสองพระองค์ได้โครงเรื่องมาจาก “ข้าหลวง” ชาวมลายูที่สืบเชื้อสายจากเชลยเมืองปัตตานี


อย่างไรก็ตาม วงศาวิทยาของอิเหนาฯ ชี้ชวนให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่นิทานปันหยีอาจแพร่เข้ามาสู่สังคมไทยผ่านชุมชนชวาที่มีอยู่จำนวนไม่น้อยในอยุธยา หรืออาจจะมีคนไทยที่เคยไปอยู่เกาะชวานำเข้ามา ข้อท้าทายจากนักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาตั้งเป็นโจทย์ให้นักวิชาการด้านวรรณคดีไทยถกเถียงกันต่อก็คือ

“…เมื่อไม่นานมานี้ นักวิชาการบางท่านได้เพียรพยายามอธิบายว่า นิทานปันหยีเผยแพร่เข้ามายังอยุธยาผ่านทางราชสำนักมะละกาและปัตตานี ทั้งนี้ โดยอาศัยข้อมูลของกรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระองค์เจ้าธานีนิวัติเป็นหลัก แต่การอธิบายโดยพิจารณาเพียงอิทธิพลของภาษามลายูและลักษณะร่วมกันบางอย่างระหว่างนิทานปันหยีสำนวนมลายูกับสำนวนไทยเท่านั้นยังไม่น่าจะเพียงพอ หากจำเป็นต้องคำนึงถึงบริบททางประวัติศาสตร์ของสังคมวัฒนธรรมอยุธยา ณ ช่วงเวลาแห่งการก่อเกิดขึ้นของนิทานปันหยีสำนวนไทยด้วย นอกจากนั้น ยังจำเป็นต้องตอบคำถามพื้นฐานง่ายๆที่ว่าทำไมชาวชวาซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในอยุธยาจึงไม่ถูกมองว่าเป็นผู้เล่าเรื่องตำนานนิยายรักอันมาจากวัฒนธรรมของตนเหล่านี้เอง ทำไมต้องไปอาศัยลิ้นของชาวปัตตานีหรือต้องเดินทางผ่านมะละกาก่อน ในเมื่อมีชาวชวาอยู่เป็นจำนวนมากในอยุธยา หรือกระทั่งชาวอยุธยาเองก็เคยเดินทางไปมาหาสู่ยังเกาะชวาอยู่จำนวนไม่น้อยในแต่ละปี?” (หน้า 100)

Advertisement

ในอดีตหนังสือ ปากไก่และใบเรือ ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนมหาศาลต่อวงวรรณคดีไทย จนถึงกับทำให้นักวรรณคดีไทย ได้แก่ อาจารย์ดวงมน จิตร์จำนง และอาจารย์สุมาลี วีระวงศ์ เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การนำวรรณคดีมาใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในผลงานชิ้นเอก (Opus Magnum) ดังกล่าวของอาจารย์นิธิ

คำถามท้าทายใน วงศาวิทยาของอิเหนาฯ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่นักวิชาการด้านวรรณคดีไทยน่าจะถือเป็นโอกาสหันมาสนใจการเขียนประวัติวรรณคดีไทยใหม่อีกครั้ง

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image