กรรมของคนไทย กรรมของละครประวัติศาสตร์

พอละครซึ่งใช้ฉากหลังเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์แพร่ภาพออกอากาศคราวใด จะมากจะน้อย เสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับรายละเอียดของงานสร้างก็เกิดตามมาทีนั้น ที่เป็นประเด็นก็คือ แทนที่ผู้ฟังจะมุ่งพินิจปมซึ่งเป็นเสียงวิจารณ์แล้วถกเถียงกันเรื่องรายละเอียดดังกล่าว กลับจะมีเสียงตัดบทตามเสียงวิจารณ์มาเสียทุกครั้งเหมือนกันว่า จะอะไรกันนักหนา ก็ละครอ่ะ ต้องไปคิดอะไรมาก

‘ต้องไปคิดอะไรมาก’ นี่เอง ที่ว่ากรรมของคนไทย ที่มีความเห็นอย่างนั้น คือไม่รู้จักคิด

หากดูละครแล้วสักแต่ดูๆ ไป ไม่ต้องคิดอะไร ก็ไม่ต้องสร้างกันมาให้ดูแล้ว เพราะดูแล้วคิดอะไรไม่ได้จะไปเสียเวลาดูทำไม ผู้สร้างก็ไม่ต้องเสียเวลาสร้าง หากงานที่สร้างมาให้ความคิดอะไรแก่คนดูก็ไม่ได้ ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ ทางตรงหรือทางอ้อม เอาแต่จะสนุกบันเทิงกันลูกเดียว กับเรื่องรักโศกซึ้งสะเทือนอารมณ์อิจฉาริษยาพยาบาท (ซึ่งแม้แต่เรื่องทำนองนี้ผู้สร้างที่มีคุณภาพก็ยังอาจให้แง่คิดสร้างสรรค์ได้)

คนไทยเป็นอย่างที่ว่านี้จริงๆ หรือ คือไม่เอาเรื่องอะไรเลย รักแต่สนุกกันลูกเดียว ไม่รู้จักคิด
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ‘บุพเพสันนิวาส’ นั้น เป็นเสียงวิจารณ์แบบที่เกิดมานานนับครึ่งศตวรรษแล้ว ที่ติงภาพยนตร์ไทยอันเป็นพาณิชยศิลปว่า ให้ผู้สร้างคิดถึงความสมจริงสมจังกันบ้าง เนื่องจากงานสมัยก่อน ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลอะไร ไม่ว่าเครื่องไม้เครื่องมือไม่ทันสมัย ทุนสร้างไม่มาก เวลาเร่งรัด นักแสดงถ่ายทำแต่ละเดือนแต่ละสัปดาห์ทีละสี่ห้าเรื่อง (เป็นอย่างน้อย) ก็อ้างไม่ได้ทั้งนั้น หากผู้สร้างละเอียดลออกับงาน พิถีพิถันในการทำงาน หนังทุนน้อยแค่ไหนก็ให้ภาพให้เรื่องราวที่สมจริงสมจังได้

Advertisement

แต่ส่วนมากไม่เป็นอย่างนั้น หนังที่สุกเอาเผากินจึงมีให้ผู้ชมหัวเราะหรือขำอยู่ตลอดเวลา
เหมือนเห็นรองเท้าแตะในละครประวัติศาสตร์ เห็น เพชรา เชาวราษฎร์ เกล้าผมใส่ขนตาปลอมดำนา หรือเห็นรถเข็นขายโรตีขะมักเขม้นราดนมข้นกระป๋องในตลาดเรื่อง ‘จุฬาตรีคูณ’ อย่างไรอย่างนั้น

เป็นหนังชีวิต แต่ทำให้ผู้ชมหัวเราะตกเก้าอี้มาแล้ว

Advertisement

แต่ไหนแต่ไรมา สุกเอาเผากิน กับ สมจริงสมจัง จึงเป็นคำคู่กันมาตลอดหลายทศวรรษ ในการวิพากษ์วิจารณ์หนังไทย

ที่ออกมาแก้แทนว่า จะเอาอะไรกับเขานักหนา เขามีทุนน้อยทำได้แค่นี้ก็ดีแล้ว เครื่องไม้เครื่องมือเขาไม่ดี ถ่ายได้แค่นี้ก็ดีแล้ว แล้วยิ่งต้องรีบลงโรงให้ทันเพราะมีหนังหลายเรื่องตามคิวอยู่ ล้วนเป็นคำแก้ที่เหมาะกับงานซึ่งทำออกมาขายเอาสตางค์ผู้คนหรือไม่ เป็นคำแก้ที่ควรจะนำมาใช้แก้หรือไม่ ลองคิดจริงๆ ดูหน่อย

“น้า-ทั้งลูกชิ้น ทั้งหมูแดงหมูกรอบ มดแล้ว น้ากินเส้นลวกเปล่าๆ ไปก่อนนะ” ชามละ 40 บาท เท่าเดิม อร่อยไหม

ที่ออกมาแก้ว่า ก็แค่ละครอ่ะ จะอะไรนักหนา ฟังเหมือนจะดีว่าอย่าไปจริงจังอะไรนักเลย ก็แค่ดูละครเรื่องหนึ่งเอง แต่จริงๆ แล้วก็คือ ไม่เข้าใจประเด็นที่เขาติงเขาวิจารณ์เลย ว่าเขาหมายถึงอะไร

ความสมจริงสมจังในงานภาพยนตร์ เป็นสิ่งสำคัญ ที่นอกจากจะจูงใจผู้ชมให้คล้อยตามเนื้อหาที่เสนอแล้ว ยังเป็นการให้ความรู้เป็นอาหารตาอาหารสมองแก่ผู้ชมอีกด้วย ทำไมดูหนังประวัติศาสตร์ฝรั่งเพียงสองสามชั่วโมง จึงได้ความรู้เบ็ดเสร็จในเรื่องหนึ่งๆ มากมาย เพราะการเอาใจใส่ในการทำเนื้อหาให้เป็นภาพมีชีวิตเลือดเนื้อ เป็นสีสันขึ้น ให้รายละเอียดสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงความเป็นจริงให้มากที่สุด ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์กับผู้เสียเงินเข้าไปชมทั้งสิ้น

ทำไมเราเห็นข่าวภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ฝรั่งหลายเรื่องลงทุนมากมาย เพราะการก่อสร้างปราสาท ก่อสร้างฉากไม่ว่าท้องพระโรง นอกเหนือการใช้สถานที่จริงหลายแห่งเป็นฉากหน้า แม้แต่เครื่องแต่งกาย (ซึ่งอาจมีที่ดัดแปลงให้งดงามหรือแปลกไปกว่าของจริง ก็มีร่องรอยคล้ายคลึงให้สืบสาวได้) หรือการเลือกนักแสดง ถ้ามีตัวตนในประวัติศาสตร์จริงแล้วมีภาพเป็นหลักฐานแม้จะเป็นภาพลายเส้น เขาก็มักจะเลือกนักแสดงซึ่งมีหน้าตาคล้ายคลึงให้ได้มากที่สุด เพื่อเกิดความรู้สึกสมจริงในใจผู้ชม (นอกเหนือการแสดง)

ครึ่งศตวรรษที่แล้ว โคบาลมือปราบ ‘ไวแอท เอิร์พ’ กับ ‘ดอค ฮอลิเดย์’ ซึ่งนำแสดงโดย เบิร์ท แลงคาสเตอร์ กับ เคิร์ก ดักลาส แต่งองค์ทรงเครื่องหรูหราเสื้อผ้าเรียบกริบสะอาดเอี่ยม เหมือน เจิ้งเส้าชิว ที่แต่งกายสวยสะอาดในบท ฉู่หลิวเซี้ยง หรือ ชอลิ้วเฮียง ของ โกวเล้ง ฝีมือผู้กำกับ ฉู่หยวน

แต่สามทศวรรษถัดมา ‘ดอค’ ที่แสดงโดย สเตซี คีช กับ แฮริส ยูลิน กลายเป็นโคบาลขะมุกขะมอมสกปรก เสื้อผ้าไม่ได้มีสีสันและเปื้อนฝุ่นเพื่อให้สมจริงกับสถานที่สภาพแวดล้อมซึ่งมีแต่ฝุ่นโคลน เหมือนหนังจีนยุคก่อนและหลัง หลี่เหลียนเจี่ย เช่น  “เดชคัมภีร์เทวดา” ที่แต่งกายเรียบง่ายมอมแมมให้เข้ากับการสมบุกสมบันในยุทธจักร เพื่อสร้างความเชื่อถือแก่ผู้ชมให้ได้มากที่สุด

จนแม้แต่หนังชุดย้อนยุคของเกาหลีที่เราดูกันไม่กี่ปีหลัง เขาก็แสดงให้ผู้ชมเห็นว่า พระราชวังของเขาเป็นอย่างไร หอจดหมายเหตุหรือห้องสมุดเขาเป็นอย่างไร การสอบกลางแจ้งเข้าเป็นข้าราชสำนัก ซึ่งมีบัณฑิตเข้าแข่งขันจำนวนมากนั้น เขาทำกันอย่างไร ชาวบ้านแต่งตัวแบบไหน ข้าราชสำนักแต่งตามยศศักดิ์ผิดแผกกันอย่างไร กระทั่งอาหารการกินในวัง หรือในหมู่บ้านร้านตลาด

นี่คือความหมายของสมจริงสมจัง ที่ให้ประโยชน์แก่ทั้งสายตาและความคิดผู้ชม ซึ่งนำมาพูดเพียงรายละเอียดของสภาพแวดล้อม สถานที่ และเครื่องแต่งกายเท่านั้น

ส่วนเนื้อหาประวัติศาสตร์ ย่อมอยู่ที่การตีความของบทและผู้กำกับ เนื่องจากผู้สร้างไม่ได้เกิดในยุคนั้นหรือถอดจิตกลับไปยุคนั้นได้

การตีความก็เพื่อนำเสนอความคิดของผู้สร้างแก่ผู้ชม ว่าที่คิดเรื่องนี้อย่างนี้น่ะ พอจะเป็นไปได้ไหม ไม่ใช่เขาบังคับมาเด็ดขาดว่าต้องให้เชื่อหนังที่เขาสร้างนะ ไม่มีใครคิดอย่างนั้น (เว้นไว้แต่คนไทยช่างแก้หรือช่างขัดกระมัง?)

เช่นที่ยกตัวอย่างมาหลายกาละเทศะว่า หนังฮอลลีวู้ดเรื่อง ‘แมรี่ ควีน ออฟ สกอท’ นั้น สร้างจากเรื่องในยุคช่วงชิงราชบัลลังก์อังกฤษ ซึ่งท้ายสุด พระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 1 ราชธิดาของเฮนรี่ที่ 8 กับพระนางแอน โบลีน ราชินีคนที่ 2 ได้ครองราชบัลลังก์ โดยมีพระนางแมรี่แห่งสกอทเป็นคู่ต่อกร ตามประวัติศาสตร์แล้ว ทั้งสองเชื้อพระวงศ์ไม่เคยได้พบกัน แต่หนังนำราชินีทั้งสององค์มาเผชิญหน้ากัน เพื่อถกประเด็นการเมืองกันอย่างเผ็ดร้อนน่าฟัง พอหนังออกฉาย ไม่เห็นนักประวัติศาสตร์อังกฤษออกมาโวยวายต่อว่าคนสร้างหนังว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์เลยสักคน

ก็หนังอ่ะ – ใช่ไหม

ก็หนังอ่ะ – ประโยคเดียวกันนี้หากเอ่ยขึ้นตอนนี้ จะเหมือนกับที่คนไทยช่างแก้ช่างขัดคอยท้วงละครประวัติศาสตร์ว่า ก็ละครอ่ะ – ไหม

ไม่ใช่เพราะความไม่รู้คิดนี่หรือ ถึงคิดไม่เป็น และไม่รู้จักคิดเสียที ว่าคนเขาพูดเรื่องอะไรกัน

เจาะจงให้ละเอียดเข้าไปอีกก็ต้องว่า ไม่รู้ว่าประเด็นที่เขาพูดกันคืออะไร จับประเด็นไม่เป็น

อยากจะเข้ามาขัด แต่เดินไม่ดูตาม้าตาเรือ ตกกระดานไปแล้วก็ยังไม่รู้.

 

อารักษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image