ออเจ้าไม่ทันใจ! นักปวศ.ชี้ หญิงแรกรุ่นยุคอยุธยาหลายนางจ้างคนทำ ‘ฟันดำ’ ส่งสัญญาณ ‘มีผัวได้แล้วจ้า’

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ผศ.ดร. ธำรงศักดิ์  เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึงวัฒนธรรมการทำฟันดำในสมัยโบราณของคนไทย โดยระบุว่า หญิงชายในยุคสมัยพระนารายณ์ อยุธยา เมื่อกว่า 330 ปีมาแล้ว ทุกคนต่างฟันดำ โดยอาจยกเว้น จีน ฝรั่ง ญี่ปุ่น ชาวต่างประเทศที่มาอาศัยอยู่ในอยุธยา ค่านิยมดังกล่าวเกิดจากการเคี้ยวหมาก ซึ่งต้องเคี้ยวเป็นเวลานาน จึงจะดำ ทำให้หญิงแรกรุ่นหลายนางลงทุนจ้างคนทำฟันดำโดยไม่ต้องเคี้ยวหมากนานๆ เพื่อส่งสัญญาณว่าสามารถออกเรือนได้แล้ว

“ยิ่งดำมากยิ่งงามแบบไทยแท้ๆ การที่ฟันดำงดงามได้ทั้งปากเพราะเคี้ยวมากมานาน ดังนั้น หญิงแรกรุ่นหลายนางที่อยากให้ตนแสดงออกว่าโตมากพอจะมีผัวได้แล้ว ถึงกับไปจ้างให้หมอฟันทำเคลือบฟันให้ดำตามกรรมวิธีโบราณ หรือผู้ใหญ่ก็ไปเคลือบฟันให้ดำเช่นกันเพราะฟันดำๆขาวๆ ดำกระด่างนั้นดูน่าเกลียด การเคี้ยวหมากได้จะต้องมี หมาก กับ พลู และปูนทาหมาก ส่วนจะผสมอะไรเพิ่มอีกก็แล้วแต่รสนิยมและท้องถิ่น คนในราชสำนักต่างก็เคี้ยวหมาก ดังนั้น ยุคอยุธยาจึงมีการเก็บภาษีหมากพลู ซึ่งเป็นภาษีในแบบยาเสพติดขั้นพื้นฐานที่คนอยุธยาไม่เคี้ยวไม่ได้ ต้องลงแดงตายแน่ๆ สมัยพระนารายณ์ ได้เพิ่มภาษีหมากไป 100 เปอร์เซ็นต์จากรัชสมัยก่อน คือ หมาก 1 ทะลาย เก็บภาษี 3 ผล เพิ่มเป็น 6 ผล”

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ราชสำนักอยุธยามีสวนหมากพลูหลวงที่เมืองธนบุรี ทั่วทุกบ้านต้องปลูกหมากไว้เคี้ยวในครัวเรือน ดังนั้น ทุกครัวเรือนก็ต้องจ่ายภาษีหมาก เดินเก็บกันเป็นรายต้น ส่วน พลู สมัยพระนารายณ์เก็บภาษีค้างละ 1 บาท ซึ่งถือว่าแพงพอสมควร ลา ลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสในสมัยพระนาราย์กล่าวว่า ผู้หญิงอยุธยาเธอเอ่ยปากชมหญิงชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมากับคณะทูตด้วยว่า หมากพลูของฝรั่งเศสน่าจะดีกว่าของสยามอยุธยา เพราะทำให้หญิงฝรั่งเศสมีริมปากสีแดงสดที่สีแดงริมปากหญิงสยามสู้ไม่ได้เลย

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image