วรรณกรรมน้ำตา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จฯสวรรคตท่ามกลางเสียงพิลาปรำพันของเหล่าพสกนิกรถ้วนหน้า แม้จนปัจจุบันก็ยังทรงเป็นที่รำลึกถึงอยู่ไม่วาย

ปิยะพันธ์ จัมปาสุต นอกเหนือจากที่เป็นข้าพสกนิกรผู้หนึ่ง ซึ่งทุกข์โทมนัสเช่นเดียวกับไพร่ฟ้าทั้งหลาย ยิ่งมีโอกาสได้เข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวังหลายครั้ง ได้อ่านบทกวีที่มีผู้เขียนถวายอาลัย ด้วยความจงรักและเศร้าโศก จึงนึกว่าต้องยังมีบทกวีอีกมากหลายที่ยังไม่ได้เขียน เพื่อจารึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อแผ่นดิน
เช่นนักเลงกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ จึงได้ค่อยๆ เขียนบทกวีเหล่านั้นขึ้นบ้าง เหมือนได้ร่วมเดินทางไปกับบรรดากวีร่วมสมัยในช่วงเวลาเดียวกัน

“วรรณกรรมน้ำตา” จึงเกิดขึ้น โดยเจตนาจะนำรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายซึ่งไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ บริจาคเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

Advertisement

หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์งดงาม ประกอบพระบรมฉายาลักษณ์ในพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์สี่สีตลอดทั้งเล่ม ทั้งพระราชกรณียกิจในพระวโรกาสต่างๆ พระราชพิธีพระบรมศพ ภาพพสกนิกรและกิจกรรมเทิดพระเกียรติ ที่สำคัญ ผู้เขียนได้รังสรรค์บทกวีประกอบอย่างซาบซึ้งประทับใจทั้งเล่ม ยิ่งชวนให้คำนึงถึงเป็นล้นพ้น

วรรณกรรมน้ำตา เพียงพระบรมฉายาลักษณ์เพียงภาพก็ล้ำค่า เพียงคำที่แบ่งปันความรู้สึกร่วมนานาในน้ำพระทัยเมตตา ก็ยิ่งชวนหามาเป็นหลักฐานความทรงจำแก่ลูกหลานสืบไป

๐ อัตชีวประวัติอีกเล่มที่ไม่อ่านไม่ได้มาอีกแล้ว “อยากลืมกลับจำ” เรื่องของธิดา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำซึ่งสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ยังไม่จบทั้งบวกและลบ จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม ที่แม้มีเพียง 5 ตอน วัยเด็ก-ปฏิวัติ 2475-วัยเรียน, วัยสาว-นักเรียนนายร้อยหญิง-สมรส, เลขานุการรัฐมนตรี, ชีวิตพลิกผันของพิบูลสงคราม, อยากลืมกลับจำ

Advertisement

แต่หนังสือหนาเกือบ 400 หน้า กลับบรรจุเนื้อหาของยุคสมัยไว้อย่างเต็มสาระ ที่อ่านได้ด้วยความบันเทิง ใครไม่อยากรู้เรื่อง 2475 จากสายตาธิดาท่านผู้นำ ใครไม่อยากรู้เรื่องนักเรียนนายร้อยหญิงหมายเลข 1 ที่อ่านไปอมยิ้มไปได้ และใครไม่อยากรู้รายละเอียดยามผู้นำต้องนิราศจากบ้านเมือง ไปไหน ได้รับการต้อนรับอย่างไร ฯลฯ และประเด็นที่ว่า ทำไมอยากลืมกลับจำ

รายละเอียดจากความทรงจำถึงชีวิตและความผันผวนต่างๆ ของครอบครัวดังกล่าวนี้ สามอาจารย์ ภูริ ฟูวงศ์เจริญ กับ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และ ณัฐพล ใจจริง ซึ่งล้วนเป็นผู้สนใจในประวัติศาสตร์ไทยยุคใกล้หรือยุคใหม่ ได้สัมภาษณ์บุตรคนที่สามและธิดาคนแรกของจอมพล ป. เพราะต้องการบันทึกข้อมูลช่วงจอมพลเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองเวลานั้น

ก่อนที่เจ้าของเรื่องจะจากไปเมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา ด้วยวัย 96 ปี ที่เปี่ยมด้วยความทรงจำสารพัด ไม่ว่าเรื่องราวชีวิต ผู้คน เหตุการณ์ ประสบการณ์ สภาพสังคม ที่ผ่านความคิดอ่านของเจ้าของเรื่อง จึงมิได้จำกัดอยู่กับเรื่องบุคคลสำคัญ หรือเบื้องหลังเหตุการณ์บ้านเมือง แต่เป็นเรื่องจากสายตาของสตรีวัย 96 ผู้หนึ่งซึ่งมองย้อนกลับไปในห้วงเวลาต่างๆ ของชีวิต จึงเต็มไปด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยน่ารู้ของบุคคลกับแวดวงสังคม เป็นสีสันมีชีวิตชีวา

อย่าพลาดทีเดียวเชียว นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นบรรณาธิการกำกับเนื้อหา อย่างหมดจดอีกที

๐ นี่่ก็น่าอ่านแน่ๆ อีกเหมือนกัน เพราะวางแผงเป็นเล่มที่ 2 แล้ว “มองตะเกียบเห็นป่าไผ่ 2” โดยแฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีน นิธิพันธ์ วิประวิทย์ จึงแทบไม่ต้องสงสัยคุณภาพเนื้อหา

ไทยกับจีนไม่ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน พูดกันมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว แม้ความสัมพันธ์ทางการทูตจะเพิ่งเกิดหลังจีนโพ้นทะเลหอบเสื่อผืนหมอนใบมาฝังรกรากยาวนานแล้วก็ตาม แต่ก็ยิ่งยืนยันความใกล้ชิดที่สมควรเรียนรู้ระหว่างกันให้มาก เนื่องจากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีนแฝงฝังอยู่หลายลักษณะในสังคม

หนังสือเกือบ 300 หน้ามีเรื่องของบุคคล วัฒนธรรม และภูมิปัญญา 3 หมวดที่น่าสนใจทุกเรื่อง แค่เรื่องแรกก็สนุกแล้ว เรื่องจริงพลิกคดีเปาบุ้นจิ้นประหารราชบุตรเขย ซึ่งคอหนังชุดที่ยังจำเรื่องได้ต้องตะลึง, คลองต้ายุ่นเหอ อภิมหาโครงการชั้นยอดของฮ่องเต้จอมโหด, หงซิ่วฉวน กบฏ ศรัทธา และดราม่าชิงแผ่นดิน, พระถังซัมจั๋ง นักเรียนนอกผู้ยิ่งใหญ่ ฯลฯ เห็นเรื่องก็อยากรู้รายละเอียดแล้ว

ยังมีวิกฤตล้างบางพุทธศาสนาในประวัติศาสตร์จีน, กตัญญูสุดโต่ง, วาทะแรงๆ ของเมิ่งจื่อ ไร้ทายาทคืออกตัญญู, กินสุนัข มาตรวัดใจมนุษย์ ฯลฯ นี่ก็ชวนคิดแทบทุกเรื่อง

ยังมีลิงหกหู ซึงหงอคงตัวปลอม, มีขงเบ้งไว้ทำไม, เรียนรู้จากปฏิวัติวัฒนธรรม, กำแพงเมืองจีน ความจำเป็นเอาใจทุกคนไม่ได้, คดีประทับตราเปล่า เมื่อจูหยวนจางปราบคอรัปชั่น ฯลฯ นี่ก็สนุกแบบขบแล้วคิด

๐ อีกเล่มเป็นความพิศดารพันลึกในวรรณคดีไทยกับอินโดนีเซีย ‘อิเหนา ผู้ชายที่เป็นตุ๊ดแล้วเป็นทอมต่ออีกที’ งานเขียนที่ให้ความสำราญเป็นเบื้องต้นของ พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์ จากนั้นให้ความคิดพร้อมกันไปจนบั้นปลาย เนื่องจากเป็นเรื่องที่อย่างน้อยก็ต้องคุ้นเคยจากที่เป็นหนึ่งในวรรณคดีสำคัญของไทย จากบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2

แต่คราวนี้ผู้เขียนนำมาจากอิเหนาอินโดนีเซีย หิกะยัต ปันหยี สะมิหรัง ซึ่งทรงแปลโดย สมเด็จฯเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่เมื่ออ่านแล้วพบความพิศดารนานาจึงนำมาเล่าตามแบบฉบับเฮฮาในเพจของตัว กลายเป็นว่ามีผู้ติดตามล้นหลาม ถึงได้เปลี่ยนรูปมาเป็นหนังสือเล่มนี้

ผู้อ่านจะได้พบอิเหนาอีกแบบ อันเป็นความรักและการผจญภัยของเจ้าหญิงจินตะหรากับเจ้าชายอิเหนา ซึ่งหากใช้ศัพท์อังกฤษก็ต้องว่าเป็นอีกเวอร์ชั่น ของ นิทานปันหยี ที่แพร่หลายอยู่ในแถบอุษาคเณย์นี้
ต่อให้อารมณ์ไม่ดีก็อ่านได้เพลิดเพลิน เชื่อเถอะ

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับโอเค-ออเจ้า 7 ปีที่รอคอยของเบลลา ราณีกับมาตรฐานเต็มที่ของการะเกด อ่านปรากฏการณ์ระเบิดเวลาทีวี.ดิจิตอล พุทธธรรมกับทุนนิยมของอาจารย์นิธิ มนัส สัตยารักษ์เขียนถึงสล้าง บุนนาค อาจารย์นิตยาชวนมาฟังเสียงออกพระวิสุทธิสุนทร แถมเรื่องพระเจ้าอู่ทองไม่ได้หนีโรคห่าแต่ปราบโรคห่า ฮ่าฮ่าฮ่า ไม่อยากรู้หรือว่าเรื่องเป็นไง

อ่านอิ่ม อ่านเอม สิ้นสัปดาห์แล้วยังย่อยไม่หมด.

 

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image