‘บุพเพสันนิวาส’ …ป๊อป คัลเจอร์ และอุตสาหกรรมวัฒนธรรม

ปรากฏการณ์ละครเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ มาแรงขนาดทำให้ถนนยามค่ำคืนโล่งอย่างไม่น่าเชื่อ ถึงตอนนี้ตัวนิยายพิมพ์ซ้ำไป 37 ครั้ง หนังสือขาดตลาดขนาดต้องพรีออเดอร์ แต่ก็มีนักวิชาการประวัติศาสตร์บางท่านก็ออกมาท้วงติงเรื่องข้อเท็จจริง ทั้งเรื่องภาษา เครื่องแต่งกาย มีกระทั่งเสียงค่อนแคะเรื่องการกดขี่ของระบบศักดินาที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องรักโรแมนติก แต่กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้ผู้ชมคลายความนิยมแต่อย่างใด ช่วงวันหยุดที่ผ่านมาภาพที่เห็นเต็มวัดไชยวัฒนารามคือผู้คนที่แต่งชุดไทยมาตามรอย ‘แม่การะเกด’ แถมยังมีการจัดทริปท่องเที่ยวย้อนรอยสถานที่ที่เป็นฉากในละครอย่างเช่นอยุธยา ลพบุรี โดยมีมักคุเทศก์เป็นนักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อยุธยาด้วยซ้ำ

นั่นหมายความว่าผู้ชมเองก็ตระหนักว่าเรื่องราวในนวนิยายหรือละครที่ใช้เหตุการณ์และช่วงเวลาในประวติศาสตร์มาเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นเป็นเรื่องราวความรักโรแมนติกข้ามภพข้ามชาติ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ หากแต่เป็นเรื่องแต่งที่อาศัยเค้าประวัติศาสตร์มาเสริมแต่งเท่านั้น

อันที่จริงถ้าเราลองอ่านบทสัมภาษณ์ของ รอมแพง ผู้แต่งบุพเพสันนิวาส เธอกล่าวว่านักประวัติศาสตร์ในดวงใจของเธอคือ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งนักเรียนประวัติศาสตร์หรือผู้สนใจประวัติศาสตร์ก็คงทราบดีว่าอาจารย์ธงชัยเป็นนักวิชาการคนสำคัญที่นำทฤษฎีของ Hayden White นักทฤษฎีเรื่องเล่านามอุโฆษผู้ได้รับอิทธิพลจาก มิแชล ฟูโกต์ มาใช้วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ไทย

Advertisement

การศึกษาในอดีตมักจะเข้าใจว่าประวัติศาสตร์คือเรื่องราวของข้อเท็จจริงในอดีตที่มีความต่อเนื่อง แต่ไวท์เห็นว่างานเขียนทางประวัติศาสตร์ก็มีการใช้วิธีการเล่าเรื่องหรือ narrative ไม่ต่างจากนวนิยาย นั่นคือ มีการวางโครงเรื่องให้กับหลักฐาน การเลือกเล่า เลือกไม่เล่า การมีตัวละครดี ตัวละครร้าย ไม่ต่างอะไรกับการมีถุงมือที่สวมรับได้พอเหมาะพอดีกับมือของเรา

แต่มีที่น่าแปลกใจอยู่บ้างคือ ขณะที่รอมแพงชื่นชมนักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์ธงชัยที่วิพากษ์ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมที่ครอบงำสังคมไทย แต่หากพิจารณาดีๆแล้วนวนิยายเรื่องบุพเพสันนิวาสดูจะมีกลิ่นอายของราชาชาตินิยมอยู่ไม่น้อย นั่นคือการยกย่องวีรกษัตริย์ที่นำพาให้ประเทศไทยผ่านปัญหานานัปการด้วยธรรมแห่งผู้ปกครอง เป็นความรักของราษฎรมากกว่าความเกรงกลัว ตั้งแต่อดีตอันไกลโพ้นจนถึงอดีตเมื่อไม่นานมานี้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นบางส่วนของบทสนทนาในนิยายเรื่องนี้ที่ก็เหมือนจะสะท้อนเสียงที่แปร่งแย้งจากโครงเรื่องประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะแนวคิดที่เกี่ยวกับระบบขุนนาง ไพร่ ทาส และความไม่ใช่เมืองฟ้าเมืองสวรรค์เมืองทองสำหรับทุกคน

คำถามก็คือเราจะจัดประเภท (genre) ของนวนิยายหรือละครเรื่องนี้อย่างไร ใช่นวนิยายอิงประวัติศาสตร์หรือไม่ เรื่องนี้คงถกเถียงกันได้อีก แต่สิ่งสำคัญคือละครเรื่องนี้เป็นกระแสของป๊อป คัลเจอร์ ที่น่าสนใจมาก

การนำเรื่องที่มีเค้ามูลทางประวัติศาสตร์มาผูกโครงเรื่องเป็นนวนิยายแล้วแปลงมาเป็นละครที่เข้าถึงคนจำนวนมากได้และได้รับความนิยมมากเช่นนี้ คงไม่ใช่แค่เพียงภาพสะท้อนถึงความเบื่อหน่ายสภาพสังคมการเมืองในปัจจุบันจนต้องหาทางหลีกหนีไปสู่โลกแห่งจินตนาการ หรือไม่ใช่เพียงโอกาสอันเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งที่นักวิชาการด้านวรรณคดีศึกษาและนักประวัติศาสตร์จะได้ใช้ความรู้ของตนมาจับผิดละครทีวี หรือแสดงภูมิรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงจริงๆทางประวัติศาสตร์ หรือภาษาที่ตัวละครพูดผิดยุคผิดสมัย ยิ่งในยุคสมัยที่ผู้นำประเทศและผู้บริหารด้านการศึกษาเห็นวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นเพียงไม้ประดับหรือกระทั่งกาฝากด้วยแล้ว กระแสป๊อบของบุพเพสันนิวาสน่าเปิดโอกาสให้เราคิดถึงเรื่องอื่นๆ

ที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินนักวิชาการทางประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีออกมาวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมว่าความเป็นไทยแท้ไม่ได้มีมาแต่เดิม แต่เพิ่งถูกสร้างขึ้นไม่นานมานี้เอง ซึ่งในแง่หนึ่งก็ทำให้เราได้คลายความรู้สึกชาตินิยมที่บอดใบ้ลงได้ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องปิดโอกาสในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กระแสเรื่องบุพเพสันนิวาสดูจะเป็นอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ นักวิชาการไม่ได้มุ่งขยายประเด็นว่าประเพณีบางอย่างเพิ่งสร้างขึ้น แต่กลับเน้นที่ประเด็นว่าเรื่องจริงหรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร
ถ้าเรามองบุพเพสันนิวาสในแง่ป๊อป คัลเจอร์ แล้วจะเห็นได้ว่า น่าจะเป็นโอกาสที่ดีคนไทยเราจะหันกลับไปสนใจอดีต ไม่ว่าจะรูปของการจัดทัวร์ประวัติศาสตร์ย้อนรอยละครเรื่องนี้ หรือการใช้กิมมิคในละครมาทำเป็นโฆษณา สิ่งเหล่านี้โดยตัวมันเองก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร กลับจะช่วยกระตุ้นเศษฐกิจให้กระเตื้องขึ้น หรือถ้าจะคาดหวังมากกว่านั้นก็ถือโอกาสใช้เป็นสิ่งกระตุ้นให้คนหันมาสนใจประวัติศาสตร์จริงๆได้ด้วย ไม่ว่าจะด้วยการจับผิดละครหรือการนำเสนอข้อเท็จจริงของช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่ละครนำมาใช้

ปัญหาคือเราเคยคิดประเด็นอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวอย่างเป็นจริงเป็นจังหรือเปล่า หรือจะเป็นแค่กระแสชั่ววูบที่ผ่านมา แล้วก็ผ่านไป รอ ‘ดราม่า’ ใหม่ๆเข้ามาให้กระโดดเข้าไปผสมโรงอีกชั่วประเดี๋ยวประด๋าวเช่นเดิม

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image