อ่านอดีตอีกครั้งกับหนังสือเล่มใหม่ของภาณุ ตรัยเวช…AMERICA FIRST รบเถิดอรชุน

ภาณุ ตรัยเวช เป็นนักเขียนหนุ่มที่มีผลงานมานานร่วมทศวรรษ ตั้งแต่เรื่องแต่งอย่าง ‘วรรณกรรมตกสระ’ รวมทั้งบทวิจารณ์จำนวนมากในบล็อกโดยใช้นามปากกา Laughable Love ในช่วงหลังเขาหันมาเขียนงานเชิงสารคดีทางประวัติศาสตร์ หนังสือ ‘ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง’ ที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนเมื่อปี 2559

ในปีนี้ภาณุ ตรัยเวช ปล่อยงานเขียนสารคดีประวัติศาสตร์ ‘American First รบเถิดอรชุน’ ออกมาให้นักอ่านได้สัมผัสกับสไตล์การเล่าเรื่องที่ชวนติดตามและชวนคิดไปพร้อมกัน

เอช จี เวลส์ นักประพันธ์เรืองนามชาวอังกฤษเคยเปรียบเทียบไว้ว่า ผู้ที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์เสมือนคนตาบอดที่เดินไปในเมือง ย่อมไม่รู้ทางที่จะไป งานเขียนเชิงสารคดีเล่มนี้ของภาณุก็ดูจะตอบสนองต่อความเปรียบดังกล่าว โดยเป็นการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา

ผู้เขียนหยิบยกเอาคำกล่าวในสุนทรพจน์หาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ว่า “เรารักประเทศของเรา และเราแสดงความรักนั้นด้วยการให้ความสำคัญต่ออเมริกาเหนือสิ่งอื่นใด ความมุ่งมั่นนี้ได้หายไปจากแผ่นดินมานานแสนนาน” สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านนโยบายสาธารณะของทรัมป์ ไม่จะเป็นเรื่องคนเข้าเมืองหรือนโยบายต่างประเทศ ภาณุ ตรัยเวช พาเราเดินทางไปบนเส้นทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยผูกโยงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสำคัญของอเมริกาสองคน ได้แก่ ชาร์ล ลินเบิร์กห์ และ โรเบิร์ต เอมเมต เชอร์วูด ซึ่งมีท่าทีต่อทิศทางของอเมริกาต่อสถานการณ์สังคมโลกแตกต่างกัน ส่วนคำว่า “รบเถิดอรชุน” เป็นคำพูดของพระกฤษณะที่ให้อนุศาสน์แก่อรชุนในทุ่งกุรุเกษตร หลังอรชุนเกิดท้อแท้เหนื่อยหน่ายการสงคราม การนำสองคำนี้มาวางเคียงกันแสดงให้เห็นความตึงแย้งระหว่างแนวคิดสองทิศทางในหนังสือเล่มนี้

Advertisement

ลินเบิร์กห์เป็นนักบินที่พาเครื่องบินโฉบปีกฝ่ายภยันตรายข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก จากอเมริกาไปยุโรปได้เป็นคนแรก นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่มีส่วนส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินในระดับแถวหน้าของโลก และพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์จนกระทั่งเปลี่ยนท่าทีของผู้คนที่หวั่นเกรงต่อการนั่งเครื่องบิน มาเป็นเทคโนโลยีเครื่องบินโดยสารสำหรับบุคคลทั่วไป ผู้เขียนวาดภาพลินเบิร์กห์ว่าเป็นคนที่เห็นความสำคัญของอเมริกามาก่อนการที่จะเข้าไปข้องเกี่ยวกับความขัดแย้งในเวทีโลก พูดชัดๆก็คือเขาเป็นสมาชิก America First แถวหน้าของประวัติศาสตร์อเมริกาเลยทีเดียว

ตัวละครในประวัติศาสตร์อีกคนคือเชอร์วูดเป็นนักเขียนบทละครนามอุโฆษผู้ได้รับรางวัลวรรณกรรมพูลิตเซอร์อันทรงเกียรติ ผลงานชิ้นสำคัญได้แก่ ‘Idiot’s Delight’ , ‘Abe Lincoln in Illinois’ และ ‘There Shall be No Night’ รวมทั้งหนังสือชีวประวัติของประธานาธิบดีโรสเวลต์ นอกจากนี้เขายังเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์รุ่นบุกเบิกก่อนที่ศิลปะแขนงที่เจ็ดนี้จะได้รับการยอมรับว่าเป็นการสร้างศิลป์ทางศิลปะเสียอีก ผู้เขียนวาดภาพนักประพันธ์ผู้นี้ในฐานะคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับลินเบิร์กห์ นั่นคือการเห็นความสำคัญของการเข้าร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อปกป้องประชาธิปไตยตะวันตก

นอกจากเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์แล้ว ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ยังอยู่ที่วิธีการเล่าเรื่องที่มีการผสมผสานระหว่างประเภทของงานเขียนสองแบบ ในด้านหนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นหนังสือสารคดี ที่พูดถึงประวัติศาสตร์อเมริกาโดยเน้นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งยังเป็นสงครามสนามเพลาะ แต่สิ่งที่แปลกคือการเล่าเรื่องที่หยิบยืมกลวิธีการประพันธ์ของเรื่องแต่ง ไม่ว่าจะเป็นการพรรณนาฉากเหมือนนวนิยาย การเล่าเรื่องจากมุมมองของตัวละครซึ่งเป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ รวมทั้งบทสนทนาที่สร้างสีสันบรรยากาศราวกับว่าเรากำลังอ่านนวนิยายที่ชวนติดตาม

Advertisement

อันที่จริงแล้วมีนักปรัชญาและนักทฤษฎีจำนวนมากที่เห็นว่า ประวัติศาสตร์หยิบยืมกลวิธีบางอย่างจากเรื่องแต่งมาใช้อยู่แล้ว เนื่องจากประวัติศาสตร์มิใช่แค่เรื่องข้อเท็จจริง ปอล ริเกอร์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเห็นว่างานเขียนทางประวัติศาสตร์ก็มีการวางโครงเรื่องเช่นกัน ความแตกต่างอยู่ที่ว่าขณะที่จินตนาการในวรรณกรรมนำพาเราไปสู่โลกที่ดูจะห่างไกลจากชีวิต แต่ก็สะท้อนความจริงบางอย่างเกี่ยวกับชีวิต ขณะที่ประวัติศาสตร์นั้นจินตนาการนำพาอดีตอันห่างไกลให้ปรากฏชัดต่อหน้าของเรา ข้อแตกต่างประการสำคัญคือประวัติศาสตร์ยังจำเป็นต้องอ้างอิงหลักฐานและข้อเท็จจริง

ภาณุ ตรัยเวช ผสมผสานทั้งสองลักษณะนี้เข้าด้วยกันอย่างพอเหมาะ แน่นอนว่าเทคนิคการเล่าเรื่องของเขาอยู่ในระดับเอกอุ แต่รายละเอียดข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ก็หนักแน่นเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากรายการบรรณานุกรมท้ายเล่ม เทคนิคการเล่าเรื่องก็น่าสนใจยิ่ง เขานำเปิดเรื่องด้วยแก่นเรื่องที่ต้องการนำเสนอ นั่นคือท่าทีและนโยบายของอเมริกาต่อสังคมโลกมาเป็นที่ตั้ง และความเป็นชาตินิยมกับสากลนิยมที่ยกย่องแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยดูจะเป็นคู่ขัดที่ดำเนินไปตลอดเรื่อง จากนั้นจึงกล่าวถึงเรื่องราวของเด็กชายสองคน ได้แก่ ชาร์ล ลินเบิร์กห์ และโรเบิร์ต เอมเมต เชอร์วูด มาเล่า พรรณนาถึงภูมิหลังของชีวิตวัยเยาว์ที่ก่อรูปตัวตนและบุคลิกภาพของบุคคลสำคัญทั้งสองคนที่เป็นภาพตัดของความคิดและอุดมการณ์ที่แตกต่างกันของชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่สองคน

ภาพของชาร์ล ลินเบิร์กห์คือคนที่เชื่อมั่น มีระเบียบ มองสิ่งต่างๆอย่างเป็นขั้นตอน กระทั่งเป็นกลไก แม้ว่าเขาจะเป็นรักความเป็นส่วนตัว แต่ถึงที่สุดแล้วก็จำเป็นต้องอาศัยนักข่าวเป็นเครื่องมือที่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการบินเฟื่องฟู เพราะเปลี่ยนความรับรู้ของผู้คนต่อการบิน ขณะเดียวกับผู้เขียนก็ตัดสลับเล่าเรื่องราวชีวิตของเชอร์วูดที่ก้าวขึ้นมาเป็นนักประพันธ์แถวหน้า จนกระทั่งกลายเป็นคนร่างคำปราศัยให้แก่แฟรงคลิน โรสเวลต์
คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าภาณุ ตรัยเวช ได้ทำหน้าที่ผู้ถือสารทางประวัติศาสตร์มาเล่าให้เราฟัง และคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เขาเลือกชาร์ล ลินเบิร์กห์ ภาพแทนของเทคโนโลยี ซึ่งในที่นี้ก็คือการบินคือผู้มองโลกเชิงไกลไกและอุปกรณ์ เน้นความแม่นตรง สุดท้ายเรื่องราวของเขาก็เข้าไปพาดเกี่ยวกับนาซีเยอรมัน จากเหตุการณ์ที่ไปเป็นเยือนเยอรมนีและได้พบฮิตเลอร์ในโอลิมปิกในปี 1936 เอกบุรุษชาวอเมริกันที่บรรพบุรุษอพยพมาจากสวีเดนกลับด่างพร้อย ขณะที่เชอร์วูดเป็นศิลปิน นักประพันธ์ที่เป็นภาพตัดกับคนแรกอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญกว่านั้น ภาณุยังถือเป็นนักเขียนคนแรกๆที่หันเหจากการเขียนเรื่องแต่งมาเขียนสารคดีโดยใช้เทคนิคของเรื่องแต่ง ตรงข้ามกับนักเขียนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะนำวาทกรรมทางประวัติศาสตร์มาใช้ในเรื่องแต่งของตน

บทเรียนที่เราเรียนรู้จากอดีต จากประวัติศาสตร์ เพื่อที่จะไม่มืดบอดหลงทาง ก็คงจะเป็นสิ่งที่ภาณุ ตรัยเวชบอกว่าเรา ความขัดแย้งเป็นธรรมดาของสังคมประชาธิปไตย และคำกล่าวของเอดวาร์ด เบนเนช ประธานาธิบดีของเชโกสโลวะเกียที่ผู้เขียนอ้างถึงในหนังสือ ‘AMERICA FIRST รบเถิดอรชุน’

“ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีอิสระ มีสิทธิอันเท่าเทียม…ประชาชนไม่ได้มีอยู่เพื่อรัฐบาล รัฐบาลต่างหากที่มีอยู่เพื่อประชาชน”

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image