ภาณุ ตรัยเวช กับ ‘America First’ ในวันที่โลกหันขวา และหันหาอำนาจนิยม

ท่ามกลางเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่ไหลวนเป็นความทรงจำอยู่ในสังคม หนึ่งในเหตุการณ์ที่หวนย้อนกลับมาไม่นาน และทำให้โลกถึงกับหวั่นใจคือ คำกล่าวในสุนทรพจน์หาเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ว่า “เรารักประเทศของเรา และเราแสดงความรักนั้นด้วยการให้ความสำคัญต่ออเมริกาเหนือสิ่งอื่นใด (by putting America First) ความมุ่งมั่นนี้ได้หายไปจากแผ่นดินมานานแสนนาน”  ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านนโยบายสาธารณะของทรัมป์ ไม่จะเป็นเรื่องคนเข้าเมืองหรือนโยบายต่างประเทศเมื่อเขาเข้ารับตำแหน่ง

ไม่ใช่แค่อเมริกาที่หมุนพลิกขวาหันอย่างรุนแรง การเมืองในหลายประเทศก็เช่นกัน

ภาณุ ตรัยเวช นักเขียนหนุ่มที่เคยสร้างปรากฏการณ์ความนิยมในหนังสือสารคดีทางประวัติศาสตร์ อย่าง “ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” มาเมื่อปี 2559 นั้น เขาได้กลับมาอีกครั้งในวันที่โลกหันขวาและหันหาอำนาจนิยมแบบนี้กับ “AMERICA FIRST รบเถิดอรชุน” งานเขียนแนวประวัติศาสตร์ที่อ่านสนุกมาก และกำลังได้รับเสียงตอบรับที่ดีเยี่ยมอยู่ในขณะนี้

“AMERICA FIRST รบเถิดอรชุน” พาเราเดินทางไปบนเส้นทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยผูกโยงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสำคัญของอเมริกาสองคน ได้แก่ ชาร์ล ลินเบิร์กห์ และ โรเบิร์ต เอมเมต เชอร์วูด ซึ่งมีท่าทีต่อทิศทางของอเมริกาต่อสถานการณ์สังคมโลกแตกต่างกัน ส่วนคำว่า “รบเถิดอรชุน”เป็นคำพูดของพระกฤษณะที่ให้อนุศาสน์แก่อรชุนในทุ่งกุรุเกษตร หลังอรชุนเกิดท้อแท้เหนื่อยหน่ายการสงคราม การนำสองคำนี้มาวางเคียงกันแสดงให้เห็นความตึงแย้งระหว่างแนวคิดสองทิศทางในหนังสือเล่มนี้

Advertisement

ภาณุบอกว่า สาเหตุที่เขาใช้วิธีการเล่าเรื่องที่มีการผสมผสานระหว่างประเภทของงานเขียน โดยพื้นหลักเป็นสารคดี ที่พูดถึงประวัติศาสตร์อเมริกาโดยเน้นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 แต่หยิบยืมกลวิธีการประพันธ์ของเรื่องแต่งมานั้น เป็นเพราะสังคมไทยกำลังอยู่ในสภาวะของความ “ใคร่รู้”

“ผมเชื่อว่าสังคมไทยกำลังใคร่รู้อดีตครับ ใคร่รู้นะ ไม่ใช่โหยหา เพราะโหยหาคือการเสพสิ่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่ ใครต่อใครพูดเองเออเองว่า นี่คืออัตลักษณ์นะ นี่คือรากเหง้านะ แต่อาการใคร่รู้ เริ่มมาจากความคิดขบถต่อรากเหง้าดังกล่าว และเริ่มตั้งคำถามว่า คนไทย มนุษย์โลก หรือตัวฉัน เป็นอย่างที่ใครๆ เขาพูดกันจริงหรือ

สำหรับผม นี่คืออาการใคร่รู้อดีตและคือสิ่งที่คนยุคใหม่กำลังเป็นกันมาก งานเขียนยุคหลังๆ ของผม ตั้งแต่ คดีดาบลาวยาวแดง ในสาธารณรัฐไวมาร์ฯ และรบเถิดอรชุน ก็พยายามตอบสนองความใคร่รู้ตรงนี้” เขาอธิบายด้วยรอยยิ้ม แต่ถึงที่สุดแล้วงานทั้ง 2 ประเภทในมุมของเขานั้น ล้วนเกี่ยวกับความจริงทั้งคู่

Advertisement

“ทั้งสองอย่างล้วนเกี่ยวกับความจริงทั้งคู่ครับ ปิกัสโซมีคำกล่าวที่โด่งดังมาก ศิลปะคือเรื่องโกหกที่ช่วยให้เราตระหนักถึงความจริง การเข้าถึงความจริง ไม่ว่าจะด้วยกลวิธีแบบสารคดีหรือนิยายล้วนเป็นเรื่องสวยงาม ปิกัสโซ โผล่มาเป็นแขกรับเชิญใน America First รบเถิดอรชุนด้วย และเป็นตัวละครสำคัญที่มีสีสันมากครับ” เขาเล่าพร้อมหัวเราะเบาๆ

America First ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กับปัจจุบันในมุมมองของภาณุ มีความคล้ายกันอย่างมาก และกระแสนี้ไม่ได้เริ่มต้นจากอเมริกาเท่านั้น แต่เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งโลก และถ้ายังไม่ลืม เมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีคำว่า Thailand First เกิดขึ้นในพื้นที่สื่อไทยด้วย ซึ่งวาทกรรมดังกล่าวมีนัยยะถึงเสรีภาพที่ไม่ใช่เสรีภาพในนิยามสากล

“ผมว่าคล้ายกันอยู่พอสมควรครับ America First ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามที่ผู้คนมองว่าเป็นความผิดพลาด อเมริกาไม่น่าส่งคนหนุ่มไปสังเวยความขัดแย้งในทวีปยุโรปตั้งแต่แรก

ผมมองว่าคนอเมริกาในปัจจุบันกำลังมองความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ด้วยสายตาแบบเดียวกันนี้ สังคมอเมริกากำลังจะตีกลับไปในทิศทางบ้านใครบ้านมัน ใครอยากทำอะไรในบ้านตัวเองแค่ไหน ทำไปเลย ส่วนฉันก็จะอยู่ของฉันแบบนี้ ปกป้องตัวเองจากภัยรุกราน ทั้งทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ทั้งผู้ก่อการร้าย และผู้อพยพ

ผู้นำบ้านเราเพิ่งออกมาใช้คำว่า Thailand First เมื่อไม่นานมานี้เอง เอาเข้าจริง กระแสตรงนี้ไม่ได้เริ่มต้นจากอเมริกาเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งโลก

เมื่อเรามองหานิยามของเสรีภาพอันเป็นสากลไม่ได้ เราเริ่มยกธงขาวยอมแพ้ ปล่อยให้แต่ละประเทศนิยามเสรีภาพกันตามใจชอบ เสรีภาพแบบไทยๆ เสรีภาพแบบอเมริกาๆ เสรีภาพแบบพม่าๆ ซึ่งผมมองว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง เสรีภาพเกี่ยวโยงกับความมีเหตุมีผล เป็นภาวะสากล โลกนี้ไม่มีคำว่า สิทธิมนุษยชนอเมริกัน สิทธิมนุษยชนพม่า สิทธิมนุษยชนคือสิทธิอันพึงมีของมนุษย์ในทุกเชื้อชาติทุกศาสนา ประชาธิปไตยและเสรีภาพก็เช่นกัน

ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะนิยามเสรีภาพให้สอดคล้องกับทุกวัฒนธรรม แต่ถ้าเรายอมแพ้ เลิกใคร่ครวญหาคำตอบตรงนี้ เลิกสู้เพื่อเสรีภาพ สิ่งที่รออยู่คือเผด็จการครับ”

ภาณุเล่าว่า ในความตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้ของเขานั้น จึงแตกต่างกับการเขียนเล่ม “ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” อย่างมาก เพราะเล่มนั้นเขียนขึ้นมาเพื่อหวังหยุดยั้งกระแสเผด็จการ แต่ “America First รบเถิดอรชุน” เขียนขึ้นมาเพื่อปลุกปลอบคนที่ยังอยากลุกขึ้น และก้าวเดินต่อไปข้างหน้า

“ความคาดหวังของ America First รบเถิดอรชุน คือ สังคมจะเริ่มถกเถียงกันอย่างจริงจังว่า เราควรปฏิเสธ ต่อต้านสิ่งผิดแค่ไหน ด้วยวิธีการใด เริ่มตั้งคำถามว่ามีอะไรบ้างที่สมควรค่าแก่การปกป้อง แม้จะต้องจ่ายราคาแพงก็ตาม” เขากล่าว

ท่ามกลางความสนุกของหนังสือและความคาดหวังของผู้เขียน ถ้าสังเกตุจากบุคลิกบุคลิกลักษณะของตัวละครที่ภาณุวางไว้ จะเห็นถึงลักษณะของความขัดแย้ง การตัดกันอย่างชัดเจน อาทิ ลิห์นเบิร์ก/เทคโนโลยี/ ชาตินิยม VS เชอร์วูด/ ศิลปะ/ เสรีนิยม/ สากลนิยม แต่สุดท้ายก็พลาดท่าทั้งคู่ในระนาบการเมือง ภาณุบอกว่าที่เป็นแบบนี้ เพราะเขาไม่เชื่อในความเป็นกลาง

“ผมไม่เชื่อว่ามีคำตอบที่ถูกต้องอยู่ระหว่างสองสุดโต่ง ไม่เชื่อว่าคำตอบที่ถูกต้องคือการรักษาระยะห่างระหว่างสากลนิยมและชาตินิยม ระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะ แต่ในทางกลับกัน ผมก็ไม่เชื่อว่า เมื่อเราเลือกคำตอบใดคำตอบหนึ่งไปแล้ว เราต้องยึดติดอยู่กับคำตอบนั้นในทุกสถานการณ์ บางครั้งโลกเราต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ แต่บางครั้ง ก็ต้องอาศัยศิลปะ มาช่วยเสริมในสิ่งที่วิทยาศาสตร์ขาดไป

ผมถึงได้เลือกนำเสนอเรื่องราวของวีรบุรุษอเมริกันสองคน แนวคิดแตกต่างกันสุดขั้ว ไม่มีใครถูกใครผิดเสมอไป ทั้งลินด์เบิร์กห์และเชอร์วูดต่างแพ้ชนะกันคนละเวที

ผมอยากให้เราเลือกในหนทางที่ถูกต้องเสมอ แม้นั่นจะเป็นหนทางที่แลดูสุดโต่งก็ตาม ขณะเดียวกันเมื่อถึงเวลาที่หนทางเดิมใช้การไม่ได้  

ผมก็อยากให้เรากล้าหาญพอจะปลีกตัวเองออกมาจากทางเลือกเดิม”

 

…..

ดอกฝน

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image