‘สวลี ผกาพันธุ์’ ถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบัน ญาติจัดบำเพ็ญกุศลศพ 17.00 น.ที่วัดธาตุทอง

นับเป็นความสูญเสียของวงการเพลง เมื่อนักร้องศิลปินแห่งชาติอย่าง สวลี ผกาพันธุ์ เสียชีวิตในวัย 86 ปี อย่างสงบ ในบ้านพักส่วนตัว เมื่อช่วงหัวค่ำของคืนวันที่ 1พ.ค. ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นางเชอร์รี่ เศวตนันทน์ (สวลี ผกาพันธุ์) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) พ.ศ.2532 ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบัน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น.ที่บ้านเลขที่ 403 ซอย 101/1 ถนนสุขุมวิท เขตพระโขนง สิริรวมอายุ 86 ปี สำหรับการบำเพ็ญกุศลนั้น จะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันที่ 2 พฤษภาคม เวลา 17.00 น.และสวดอภิธรรมศพ เวลา 18.30 น. ณ ศาลาพระครูประจักษ์ วัดธาตุทอง มีกำหนดสวดพระอภิธรรมศพระหว่างวันที่ 3-8 พฤษภาคม เวลา 19.00 น. ณ ศาลาพระครูประจักษ์ วัดธาตุทอง เขตป้อมปรามศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ และเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล 100 วัน และ สวธ.จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป

“นอกจาก สวธ.จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพแล้ว ยังมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท ซึ่งจากไปของ สวลี ผกาพันธุ์ ถือเป็นการสูญเสียศิลปินนักร้องคนที่สำคัญยิ่งในวงการเพลงลูกกรุงของประเทศไทย ตั้งแต่เป็นศิลปินแห่งชาติ สวลี ผกาพันธุ์ ได้ทำงานในฐานะศิลปินแห่งชาติอย่างน่ายกย่องยิ่ง ให้การช่วยเหลืองานของ สวธ.มาอย่างต่อเนื่อง เช่น ร่วมแสดงในคอนเสิร์ตต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสาธารณะกุศล และยังมอบเงินรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตเข้าสบทบกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง” นางพิมพ์รวี กล่าว

สำหรับประวัติของนางเชอร์รี่ เศวตนันทน์ (สวลี ผกาพันธุ์) เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2474 ที่กรุงเทพฯ มีผลงานด้านศิลปะการแสดงหลายแขนงกล่าวคือ การแสดงละคร การขับร้องเพลงไทยสากล และเพลงสากลตั้งแต่อายุ 17 ถึงปัจจุบัน ด้านการแสดงละคร ได้แสดงติดต่อกันให้คณะละครเวทีหลายคณะ โดยเป็นผู้แสดงนำฝ่ายหญิง ซึ่งเป็นบทที่ต้องแสดง และร้องเพลงด้วย ต่อมาเมื่อละครเวทีได้คลายความนิยมลงได้แสดง และพากย์ภาพยนตร์หลายเรื่อง เมื่อมีสถานีโทรทัศน์เกิดขึ้น จึงได้มาแสดงละคร และร้องเพลงทางโทรทัศน์ ผลงานดีเด่นเป็นพิเศษ คือ การขับร้องเพลง มีผลงานที่บันทึกแผ่นเสียงไว้ไม่น้อยกว่า 1,500 เพลง และได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำถึง 4 ครั้ง นับเป็นนักร้องหญิงที่ได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำมากที่สุด และได้รับความนิยมอย่างสูงสุดเช่นกัน นอกจากการร้องเพลงเป็นอาชีพแล้ว ยังร้องเพลงเพื่อการกุศล และในงานสังคมต่างๆ มาโดยตลอด นับว่าเป็นศิลปินที่ใช้ผลงานทางศิลปะให้ความบันเทิง และจรรโลงใจของคนในสังคมตลอดมา

Advertisement

สวลี ผกาพันธุ์ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) พ.ศ.2532

 

มติชนออนไลน์ขอแสดงความเสียใจมา ณ โอกาสนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image