กองเรือหาคู่… การเมืองของความรักในยุคอาณานิคม

เวลาที่นึกถึงประวัติศาสตร์โลกยุคที่มีการล่าอาณานิคมเกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่แล้วภาพจำที่เรานึกถึง มักหนีไม่พ้นภาพของสงคราม ที่มีทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำในการต่อสู้เพื่อแย่งชิงและรักษา ผู้กระทำอย่างประเทศมหาอำนาจจากยุโรปที่ยึดครองแผ่นดินและชาติ หวังขยายพื้นที่ของอาณานิคมโดยอำนาจแห่งกองกำลังและอำนาจทางเศรษฐกิจ และผู้ถูกกระทำในทวีปอื่นๆ ทั้งเอเชีย แอฟริกา ออสเตรเลีย ที่หลายประเทศตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษและรัฐในอารักขา ช่วงที่พีคมากๆ ในศตวรรษที่ 18-19 จักรวรรดิบริติช (British Empire) ซึ่งรวมตัวเป็นจักรวรรดิได้ด้วยดินแดนอาณานิคมโพ้นทะเลและสถานีการค้าที่อังกฤษก่อตั้งระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้กลายเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นมหาอำนาจโลกชั้นแนวหน้านานกว่าหนึ่งศตวรรษ ประโยคที่เราได้ยินว่า “ดวงอาทิตย์ไม่เคยตกดินในจักรวรรดิบริติช” ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้นั่นเอง เพราะการแผ่ขยายดินแดนออกไปทั่วโลก จึงทำให้ดวงอาทิตย์ยังส่องแสงอยู่บนอาณานิคมหรือชาติใต้ปกครองที่มีอยู่มากมายอย่างน้อยที่สุดแห่งหนึ่งอยู่ตลอดเวลา

“อินเดีย” ก็เป็นหนึ่งในอาณานิคมที่สำคัญยิ่งของอังกฤษ อินเดียยุคบริติชราช (ค.ศ.1858 -1947) ถูกแบ่งการปกครองออกเป็นบริติชอินเดีย (British India) คือเขตปกครองภายใต้ข้าหลวงต่างพระองค์ และรัฐที่มีเจ้าเมืองปกครอง (มหาราชา ราชา นาวาบ นิซัม) ภายใต้อำนาจของรัฐบาลในสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียแห่งอังกฤษ

นั่นคือสิ่งที่เรารู้แบบกว่างๆ เสมอเวลาที่เราพูดถึงยุคสมัยของการล่าอาณานิคม ทั้งที่ภายใต้การต่อสู้ของฝ่ายกระทำและฝ่ายถูกกระทำนั้น คือ “ชีวิตของมนุษย์” มนุษย์ตัวเล็กตัวน้อยที่การแสวงหาและการยอมรับอาณานิคมทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความเปลียนแปลงในระดับปัจเจกนี้ก็มีผลไม่น้อยกับโครงสร้างของสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พวกเขาแปลกปลอมเข้าไป

ในหนังสือเรื่อง “กองเรือหาคู่ : จากเรือฝรั่งขึ้นฝั่งที่อินเดีย” (The Fishing Fleet)โดย Anne de Courcy ซึ่งแปลโดย สุภัตรา ภูมิประภาสได้สร้างการรับรู้ถึงยุคอาณานิคมอีกแง่มุมในประวัติศาสตร์โลก ผ่านชีวิตความรักของหญิงสาวชาวอังกฤษแบบเร่งด่วนยิ่งกว่ากินฟาสต์ฟู้ด ที่ต้องเดินทางข้ามมหาสมุทรมาเพื่อหาสามีให้ได้ภายใต้เงื้อมเงาของการเมืองโลกที่แปรผัน เป็นประวัติศาสตร์ฉบับสามัญชนในยุคสมัยนั้นที่น้อยครั้งจะได้รับการค้นคว้าและนำมาเปิดเผยสู่สาธารณะ

Advertisement

ลองนึกย้อนไปในช่วงยุคนั้น ท่ามกลางการขยายและเติบโตของอาณานิคมในอารักขาของจักรวรรดิบริติช นั่นหมายความว่าชาวอังกฤษ โดยเฉพาะชายหนุ่มจะต้องจากบ้านเมืองไปไกล เพื่อร่วมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งนอกจากหน้าที่ของขุนนาง ข้าราชการ ในฝ่ายปกครองแล้ว บ.อีสต์ อินเดีย ที่ขยายเขตการค้าในอินเดียให้อังกฤษ ก็ชักนำนักธุรกิจ วิศวกร นายช่าง และชายหนุ่มในสาขาอาชีพต่างๆของอังกฤษ รวมถึงทหารในกองทัพให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่อินเดีย แม้จะลำบากไม่น้อยแต่นั่นหมายถึงการแลกมาด้วยหน้าที่การงานที่รุดหน้าและฐานะที่มั่นคง ได้ทั้งลาภได้ทั้งยศ ถ้าจะขาดก็คงขาดเพียง “ภรรยา”

นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ คิดว่าพอไปถึงแล้วจะมีสาวเมืองอาณานิคมมาไว้ในครอบครองได้ เพราะวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมอันซับซ้อนได้กีดกันการคบหาคนท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าของประเทศตัวจริง ถึงขั้นมีกฏออกมาห้ามด้วยซ้ำ ว่าห้ามลูกครึ่งอังกฤษ-อินเดียเข้าทำงานในบริษัทหรือหน่วยงานในอาณัติของอังกฤษ

อินเดีย จึงกลายเป็นตลาดหาคู่ของสาวๆ ชาวอังกฤษยุควิคตอเรียนที่ยังไงก็จำเป็นต้องแต่งงาน และก็ไม่รู้ว่าจะอยู่บ้านเกิดไปเพื่ออะไร ในเมื่อผู้ชายเจ๋งๆ ไปทำงานที่บ้านเมืองอื่นกันหมดแล้ว และนั่นก็เลยกลายเป็นการก่อเกิด “กองเรือหาคู่” ที่สาวๆ จะต้องมาตกปลาแถวมหาสมุทรอินเดีย ส่วนใครจะตกได้ไม่ได้ ได้ปลาเล็กปลาใหญ่นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่น้อยรายมากที่จะไม่ประสบความสำเร็จ

Advertisement

สิ่งที่น่าสนใจมากๆ ในหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่เรื่องของใครจะตกปลาอะไรได้ แต่คือการค้นคว้าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางประวัติศาสตร์แบบกระซิบกระซาบของAnne  de Courcy ที่ทำให้เห็นถึงการเมืองของความสัมพันธ์ที่ซ้อนเร้นอยู่ในความรักแบบด่วนจี๋ ทั้งการเมืองของการต่อรองในความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายท่ามกลางวัฒนธรรมที่แตกต่าง การพยายามปรับตัวให้เข้ากับอีกซีกโลกหนึ่งผ่านการมองด้วยสายตาของเจ้าอาณานิคมที่มีต่อผู้ถูกยึดครอง ท่ามกลางการปิกนิกริมแม่น้ำ งานรื่นเริงในพระราชวัง หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตให้ผ่านพ้นวิบัติแห่งฤดูกาลในแต่ละวัน ทุกอย่างล้วนมีนัยมีมากกว่าเพียงแค่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของหนุ่มสาว

เพราะทุกความสัมพันธ์บนพื้นดินแล้งไร้ คือการเมืองของความรักในยุคอาณานิคม

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image