การกลับมาของ “แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล” ในมุมของ “ผู้ถูกกระทำ”

เวลามีใครทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของ “แม่นาคพระโขนง” ก็ให้ชวนสงสัยทุกครั้งว่าจะมีอะไรใหม่ๆให้ตื่นเต้นได้สักแค่ไหนกัน

ก็เรื่องราวของตำนานนี้ ถูกสร้างและถ่ายทอดผ่านสารพัดสื่อมาหลายสิบปีตั้งแต่ก่อนเราเกิดด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเวลาที่ใครสามารถตีความและถ่ายทอดอะไรใหม่ๆ จากตำนานเก่าแก่นี้ได้มากกว่าประเด็นเรื่องราวของความรักสุดหัวใจที่กลายเป็นโศกนาฏกรรม ความน่ากลัว และความหลอนแล้วนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย

รวมถึงละครเวทีเรื่อง “แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล” จากค่ายเซเนริโอ ก็เป็นหนึ่งในการตีความใหม่ๆที่ไม่ธรรมดา ทั้งที่เมื่อเก้าปีก่อน เซเนริโอก็เคยสร้างละครเวทีเรื่องนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง และในปี 2561 นี้ ก็กลับมารีเสตจอีกครั้งพร้อมกับการตีความเรื่องเล่าในประเด็นของ “ผู้ถูกกระทำ”

Advertisement

โดยปกติแล้ว เมื่อเราเอ่ยถึงแม่นาค เรามักจะนึกถึงการเป็น “ผู้กระทำ” ของแม่นาค ที่ทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆขึ้นมากมาย แต่ในละครเวทีเรื่องนี้ แม่นาคถูกสร้างให้เป็นผู้ถูกกระทำ และการถูกกระทำทั้งจากบุคคล และจากคำพิพากษาของสังคมนี้ล่ะ ที่กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำเกิดโศกนาฏกรรมตามมา

การรีเสตจของ “แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล” ครั้งนี้จึงแตกต่างจากการแสดงครั้งแรกไม่น้อย เพราะถ้าครั้งแรกเน้นประเด็นของความรักและโศกนาฏกรรมแล้วนั้น ในครั้งนี้เราจะได้เห็นถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุดังกล่าว ทั้งการถูกกล่าวหาถึงความเป็นเสนียดจัญไรของแม่นาค ที่นอกจากจะเจอข้อหาหนักๆอย่างทำให้พ่อแม่ตายแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านประสบปัญหาต่างๆอีกด้วย ประเด็นนี้ถูกย้ำตลอดเวลาตั้งแต่ครั้งที่แม่นาคยังมีชีวิตจนกระทั่งตายไปแล้วก็ตาม

Advertisement

คำพูด คำประนามจากคนอื่น มักเกิดจากพื้นฐานอยู่ไม่กี่อย่าง อย่างหนึ่งคืออคติ ที่เกิดได้ทั้งจากการที่สิ่งนั้นไม่เป็นดังใจตัวเอง ไม่ได้อย่างที่ตัวเองหวัง หลายครั้งที่อคตินำไปสู่การสร้างความเชื่อบางอย่างขึ้น จากความเชื่อของคนๆเดียว นำไปสู่คนที่ 2 ที่ 3 และกลายเป็นความเชื่อของคนหมู่มาก เป็นความเชื่อที่อย่าลบหลู่ ถ้าไม่อยากมีปัญหากับคนอื่นๆ และกลายเป็นคำพิพากษาในท้ายที่สุดเสมอ

ความเชื่อที่ห้ามลบหลู่ ยิ่งกว่าความเชื่อเรื่องผีๆสางๆทั้งหลาย กลายเป็นความเชื่อของคน ความเชื่อที่กลายเป็นหอกทิ่มแทงทำร้ายคนอื่นทั้งยามเป็นยามตาย ความเชื่อที่กลายเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของสังคม จะว่าไปก็เหมือนที่พระท่านว่าในละครเวทีนั่นล่ะ ที่ร้ายกาจและน่ากลัวยิ่งกว่าผี ก็คือคน คนที่กระทำต่อคนด้วยกันเอง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพล็อตเรื่องในการรีเสตจจะซับซ้อนมากขึ้น โดยเล่นกับการตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ในสถานะของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ละครเวทีเรื่องนี้ห่างหายจากรสชาติอื่นๆไป โดยเฉพาะรสตลกที่ครั้งนี้ได้ โดม-จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม และ ตั้ม – วราวุธ โพธิ์ยิ้ม มารับบทคู่หู โอ่ง – เงาะ ที่เล่นได้เข้าขากันมากๆ หลายฉากขโมยซีนไปเลยด้วยซ้ำ

ในส่วนรสรักนั้น นัท มีเรีย เบเนเดตตี้ ที่เคยรับบทแม่นาคเวอร์ชั่น 9 ปีที่แล้วก็ยังคงรักษาคุณภาพในระดับน่าประทับใจได้เช่นเดิม นัทสามารถทำให้เราเห็นถึงความรัก ความอาลัย และความห่วงใยของแม่นาคที่มีต่อพ่อมากอย่าง ตู่- ภพธร สุนทรญาณกิจได้อย่างลึกซึ้ง ขนาดว่ารีเสตจรอบนี้พล็อตซับซ้อนขึ้นมากกว่าการเน้นเรื่องความรักอย่างครั้งก่อน ก็ยังสามารถสัมผัสถึงความรู้สึกระหว่างสองคนนี้ได้และทำให้เข้าใจถึงสาเหตุแห่งการไม่ยอมปล่อยวางของนาค ที่มาจากทั้งองค์ประกอบภายนอกคือการเป็นผู้ถูกกระทำ และองค์ประกอบภายใน อย่างความรักและความต้องการครอบครอง

แต่ที่เราประทับใจมากเป็นพิเศษคือรสหลอน ที่มาจากเทคนิคของการเล่นแสงและการจัดไฟ เป็นการเล่าเรื่องด้วยแสง สี และเสียงที่ทำให้คนดูรู้สึกตกใจและหวาดระแวงได้เลย วิธีการเหล่านี้เมื่อประกอบกับเทคนิคอื่นๆ ทั้งฉากตัวบ้านที่มีกลไกลูกเล่นให้ได้ฮือฮาตลอด การปรากฏตัวของแม่นาคแบบสามมิติสุดๆ ยิ่งทำให้ “แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล” มีความสมบูรณ์มากขึ้นในระดับที่ต่อให้เคยดูแล้วเมื่อ 9 ปีก่อน ก็ยังดูอีกครั้งได้แบบไม่เสียดายสตางค์


ละครเริ่มแสดงแล้วที่เมืองไทย รัชดาลัย เธียเตอร์ ใครเคยดูแล้วก็น่าไปซ้ำ ใครไม่เคยดูก็ไม่น่าพลาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image