มหาธีร์ โมฮัมหมัด มาแล้ว 93 ปีไม่ได้แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน : ตู้หนังสือ

การชนะเลือกตั้งเมื่อ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ภายใต้พรรคร่วมฝ่ายค้าน รักขะตัน หะระปัน หรือพันธมิตรแห่งความหวัง อัลไลแอนซ์ ออฟ โฮป ของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ครองตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก 22 ปี มหาธีร์ โมฮัมหมัด ให้ภาพวิสัยทัศน์การเมืองของประเทศในภูมิภาคอุษาคเณย์ได้อย่างชัดเจนว่า แม้มิได้มีมิตรหรือศัตรูทางการเมืองถาวร แต่การจะเข้าร่วมกันทำงานก็มิได้เป็นเพราะฝนตก ขี้หมูจึงไหลเข้ารวมกันได้

“เราเป็นประเทศเล็ก จะไปสู้อเมริกา ยุโรป จีนไม่ได้ แต่เราต้องปกป้องประเทศของเราเอง ” มหาธีร์เคยกล่าวไว้คราวหนึ่ง

และคราวนี้ เนื่องจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง โกยเงินรัฐเข้ากระเป๋าตัวเองของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ชื่อเสียงประเทศมัวหมอง การลงทุนจากต่างประเทศลดลง คนว่างงาน มหาธีร์จึงรวมกำลังพรรคต่างๆ ทั้งฝ่ายซ้าย ฝ่ายเป็นกลาง แม้แต่พรรค อันวาร์ ที่เคยเป็นฝ่ายตรงข้าม ก็เชิญมาตั้งเป็นสัมพันธมิตรฝ่ายค้านเพื่อหยุดการฉ้อโกงบ้านเมือง และฟื้นฟูประเทศขึ้นใหม่ ต่อสู้ด้วยวิถีประชาธิปไตย

ปรากฏว่าได้ใจประชาชนจนชนะการเลือกตั้ง

Advertisement

มหาธีร์เป็นผู้ทำแผนพัฒนาที่วางไว้ถึงปี 2020 ซึ่งใช้อยู่จนปัจจุบัน เป็นผู้นำที่เห็นว่าประเทศเล็กๆที่มีคนหลายเชื้อชาติของตน ต้องปกครองแบบเผด็จการนิยมจึงจะเหมาะ และไม่เห็นว่าสมาชิกอาเซียนควรเข้าร่วมกับเอเปค เพราะจะเสียเปรียบประเทศใหญ่ ควรร่วมกับจีน เกาหลี ญี่ปุ่นที่วัฒนธรรมใกล้เคียงกันมากกว่า

ขณะเดียวกันก็สร้างสัญลักษณ์ที่มิได้เลื่อนลอยชนิดเอาใหญ่ที่สุดในโลกเข้าว่า แต่มีรูปธรรมสร้างสรรค์ เช่นตึกแฝด เปโตรนาส ที่แสดงการเติบโตขึ้นเรื่อยๆของมาเลเซีย ทั้งยังสร้างเมืองใหม่อันงดงาม ปุตรชัย ศูนย์ราชการ ไซเบอร์ชัย เป็นศูนย์มัลติมีเดียอันทันสมัย มีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าตั้งแต่ปี 2540 จนถูกขนานนามว่าเป็น ฟาเธอร์ ออฟ โมเดิร์นไนเซชั่น

การกลับมาอีกครั้งเพื่อชาติบ้านเมืองของมหาธีร์ จึงเป็นแบบเรียนทางการเมืองอีกบทให้ประเทศที่ยังด้อยพัฒนาได้เห็นความคิดของนักการเมืองคุณภาพ (ซึ่งหาอ่านได้จาก “สองผู้นำอาเซียนที่ควรจับตา มหาธีร์กับดูแตร์เต” ของ ธิดา สอนศรี ในมติชน ออน ไลน์ 17/5/61)

Advertisement

การรู้จักมหาธีร์ผู้มีต้นทุนทางปัญญากว้างขวางให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จึงจำเป็นสำหรับเราที่เป็นปัญญาชนเพื่อนบ้าน ซึ่งกำลังตกในสถานะอับปัญญาทางการเมือง ‘จับเข่าคุย มหาธีร์ โมฮัมหมัด’ หนังสือในชุด ยักษ์แห่งเอเชีย ของผู้เขียน นักสื่อสารมวลชนผู้เคยทำงานในเอเชียหลายประเทศ อาจารย์แผนกสื่อสารมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆทางสาธารณะมากมาย ทอม เพลท แปลโดย สุภาภรณ์ กาญจน์วีระโยธิน

เป็นบทสนทนาเล่มโตซึ่งได้รับความนิยมกล่าวขวัญ จากทั้งผู้นำ นักการเมือง ทูต แม้จนนักธุรกิจและนักเขียนด้วยกัน ว่าเป็นบทสนทนาที่เห็นความรักใคร่ในการสร้างสรรค์บ้านเมืองตัวเองให้ก้าวหน้าอยู่เย็นเป็นสุขอย่างน่าชื่นใจบ้านเมืองที่แผ่นดินยังไร้แม้ใบพุทรา น่าจะช่วยกันพรวนดินลงปุ๋ยกำลังปัญญากันหนักหน่วง

หาซื้อหนังสือน่าอ่านเล่มนี้ได้ที่ร้าน มติชน กับ ข่าวสด ประชานิเวศน์ 1 สองที่เท่านั้น

๐ อ่านเอาเรื่องอีกเล่ม ‘วิวัฒนาการรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส ในกระแสเศรษฐกิจโลก จากระบบฟิวดัลถึงการปฏิวัติ’ ที่เป็นเสมือนตำราพื้นฐานสำหรับผู้สนใจเรื่องรัฐและวิวัฒนาการรัฐเปรียบเทียบ ความพิเศษอันคลาสสิคของงานชิ้นนี้ คือเป็นเครื่องมือประสานประสบการณ์ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ส่งผ่านเป็นบทเรียนสำหรับบ้านเมืองที่ต้องการพัฒนารัฐทุกแห่งหน (แน่นอน รวมทั้งไทย)

กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ผู้เขียน วิเคราะห์อังกฤษที่มีวิวัฒนาการระบบทุนนิยมซึ่งก้าวหน้าที่สุด และเป็นต้นแบบระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาแห่งแรกของโลก กับฝรั่งเศสที่เป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งนำมาสู่การปฏิวัติสังคมที่ทุกชนชั้นมีส่วนร่วม อันรู้จักในนามการปฏิวัติฝรั่งเศส ปี 1789 (2332 สมัยรัชกาลที่ 1)

เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติมจาก ‘อังกฤษและฝรั่งเศส สงครามและการสร้างรัฐ’ ดังนั้นจึงน่าอ่านยิ่งขึ้นไปอีก


๐ นามของคน เงาของไม้ การเรียนประวัติศาสตร์ แม้จะเป็นการศึกษาเหตุการณ์ แต่เท่ากับเป็นการเรียนพฤติกรรมบุคคลพร้อมกันไป ‘สามมุกงามสกุลซ่ง’ สามสาวที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในแผ่นดินจีน ซ่งอ้ายหลิง พี่สาวคนโต แต่งงานกับ ข่งเสียงซี มหาเศรษฐีอันดับหนึ่ง ซ่งชิงหลิง น้องรอง แต่งงานกับ ซุนยัดเซ็น บิดาแห่งสาธารณรัฐจีนยุคใหม่ ซ่งเหม่ยหลิง น้องเล็ก แต่งงานกับ เจียงไคเช็ค ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งที่ล้วนถูกจารึกนามในประวัติศาสตร์

บทบาทของพวกเธอ ไม่พียงอยู่เบื้องหลังสามี แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อบ้านเมือง บางครั้งอาจอยู่ตรงกันข้าม หลายคราวอาจขัดแย้ง แต่ที่พวกเธอมีเหมือนกันซึ่งมิใช่เป็นเพียงสายเลือด ก็คือความรักชาติรักแผ่นดิน
บ้านเมืองซึ่งแร้นแค้นผู้คนที่เกิดมาคิดถึงชาติ ชนิดลิ้นไม่ห้อย น้ำลายไม่ไหลหยดตึ๋งๆ อ่านวีรกรรมอันงามที่บันทึกไว้แล้วตลอดกาลโดย สุภาณี ปิยพสุนทรา เรียบเรียงให้เพลิดเพลินอย่างละมุนละม่อมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์

๐ โลกนี้หากไม่มีงานวรรณกรรม มีดอกไม้ใบหญ้าก็เหมือนเห็นแต่พืชพรรณ มีสายน้ำขุนเขาก็เหมือนเห็นแต่ที่ชำระล้างกับกรวดหินดินทราย งานร่วมสมัยที่ลือลั่นทั้งอินเดียและไทย ‘คนขี่เสือ’ การต่อสู้ของชนชั้น วรรณะ ขนบ ความเชื่อ และความหิวของ ภวานี ภัฏฏาจารย์ แนวคิดเชิงวิญญาณของการตระหนักรู้ในตัวเอง ซึ่งได้รับความนิยมมาทั่วโลก ผ่านพากย์ไทยโดย จิตร ภูมิศักดิ์ กลายเป็นงานสำคัญซึ่งนักเลงหนังสือไม่ว่ารุ่นไหนสมัยใด หรือนักเรียนนักศึกษา ผู้คนที่สนใจปรัชญาขีวิตและความแตกต่างที่ขจัดได้แต่ไม่ยอมขจัดในมวลหมู่มนุษย์ด้วยกันเอง พลาดไม่ได้ เพราะนั่นเท่ากับบัวดอกซึ่งงามสดใสที่สุดในใจตัวเอง ถูกปิดโอกาสมิให้โผล่พ้นขึ้นรับแสงอาทิตย์

เกิดอะไรขึ้น เมื่อชนชั้นสูงต้องศิโรราบกราบกรานลงแทบเท้าอันสากระคายของช่างตีเหล็ก โลกแห่งการกดขี่กลับตาลปัตรไปหรือ มิได้ โลกกดขี่ยังไม่สิ้นสูญ แต่เกิดอะไรขึ้นกันแน่

๐ วรรณกรรมชิ้นเอกของอินเดียอีกเล่ม ที่ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่แล้ว ‘โคทาน’ ซึ่งเขียนขึ้นแต่ปี 2479 เป็นงานชิ้นสุดท้ายของ เปรมจันท์ นักเขียน นักปฏิรูปสังคม ที่ทำให้ได้รับสมญานามว่าเป็น จักรพรรดิแห่งนักเขียน เรื่องของชาวนายากจน ซื่อสัตย์ จิตใจดี ที่อยู่ในขนบความเชื่ออย่างเคร่งครัด จนถูกเอารัดเอาเปรียบนานา

แต่ผู้เขียนได้ให้ภาพผู้คนต่างชั้นวรรณะ พร้อมทัศนะความคิดของแต่รูปนามอย่างไม่อคติเอนเอียง ไม่ว่านักการเมือง นายทุน เจ้าที่ดิน นายธนาคาร นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ หมอ จึงทำให้กลายเป็นงานสัจนิยมสมจริงที่สามารถพิเคราะห์พิจารณ์ข้อเท็จจริงได้ อีกทั้งผู้แปล กิติมา อมรทัต สถาปัตยกรรมบัณฑิตกับครุศาสตร์มหาบัณฑิตจุฬา และปริญญาเอกจากอินเดีย ถ่ายทอดความเชื่อจากทุกแง่มุมให้เข้าใจได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง

กระทั่งกำลังจะตาย ชีวิตที่ถูกกระทำก็ยังไม่สิ้นสุด เมื่อเมียถูกคนรอบข้างร้องให้ทำพิธีโคทานขอชีวิตสามีจากพระผู้เป็นเจ้า ทั้งๆชาวนาจะเป็นเจ้าของวัวสักตัวนั้นยากเย็นแสนเข็ญ

ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว ก็คืออย่างนี้เอง ถ้าอ่านแล้วตระหนักรู้ก็อยู่ได้โดยมีสติ

๐ หนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน แต่สงสัยว่าคนไทย 70 ล้านคนจะมีถึงสัก 100 คนไหมที่ได้อ่าน หรือพยายามหาหนังสือเล่มนี้อ่าน

‘ศรีทะนนไชย สำนวนกาพย์’ พิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์หมอสมิธสมัยรัชกาลที่ 5 โน่น หมอสมิธซึ่งเกิดอินเดียมากรุงเทพฯแต่อายุ 12 ปีก่อนไปเรียนสหรัฐอีก 14 ปีและกลับมาอีกครั้ง เป็นที่รู้จักน้อยกว่าหมอบรัดเลย์ แต่เป็นผู้พิมพ์นิยายคำกลอนจักรๆวงศ์ๆ รวมถึง พระอภัยมณี ให้เป็นที่รู้จัก นอกเหนือการพิมพ์นิราศ สุภาษิต พงศาวดาร

นิทานตลกขบขันพื้นบ้านเรื่องนี้ เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วภูมิภาค ไม่ว่าลาว เขมร มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย แต่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ลาวเรียก เชี่ยงเมี่ยง เขมรเรียก ธนัญชัย มาเลย์เรียก อาบู นาวัส ฟิลิปปินส์เรียก ฮวน ปูซอง คือเป็นเรื่องของตัวเอกเจ้าปัญญา ฉลาดแกมโกง ด้วยไหวพริบปฏิภาณ

ฝีมือกาพย์ยานี กาพย์สุรางคณางค์ กาพย์ฉบังเรื่องนี้อ่านเพลินทีเดียว ให้ลูกหลานวัยเริ่มรู้หนังสือได้อ่านออกเสียง สนุกกับคำคล้องจอง และเรื่องราวขบขันเฮฮาที่พ่อแม่ปู่ย่าเล่าเสริมเพิ่มเติม

ก็จะเป็นหนังสือดีที่คนไทยควรอ่านจริงๆ ขอบอก


บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image