อิคิไก … เหตุผลที่ (จะ)ไม่เกลียดเช้าวันจันทร์

เวลาไถหน้าฟีดส์เฟสบุ๊กทุกเช้าวันจันทร์ เรามักจะเห็นสเตตัสหรือรูปการ์ตูนแนวๆ เบื่อวันจันทร์จังเลย คิดถึงวันหยุด หรือบางคนก็แอดวานซ์ถึงขั้นเอารูปที่ถ่ายไว้ตั้งแต่วันหยุดมาโพสต์เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจให้ตัวเอง ดูไปแล้วก็คิดว่านี่เป็นอาการร่วมของคนทั่วโลกหรืออย่างไรนะ ตัวเราเองก็ด้วย บางทีก็โพสต์อะไรแบบนั้นเหมือนกัน …. ก็นะ ใจมันลอยไปถึงวันศุกร์แล้วนี่นา

บางทีก็แอบรู้ตัวแว้บๆเหมือนกัน ว่าไม่ใช่โรคขี้เกียจหรอก แต่น่าจะเป็นอะไรที่มากกว่านั้น โดยเฉพาะสภาวะของการไม่อยู่กับปัจจุบันขณะ ทั้งที่ ณ เวลาที่คิดย้อนไปในอดีต และคิดถึงอีกหลายวันข้างหน้านั้น ก็ไม่ใช่เวลาที่เลวร้ายอะไรสักนิดด้วยซ้ำ

“เวลาเราทำงานเราก็คิดเมื่อไหร่จะเลิกงาน ตื่นเช้ามาแล้วก็คิดว่ายังง่วงอยู่เลย เราอาลัยอาวรณ์เตียง ซึ่งเป็นอดีตของเราที่สุขสบายและมุ่งหวังไปในอนาคตว่าเมื่อไหร่จะเลิกงาน เราไม่ได้อยู่กับงานที่อยู่ตรงหน้าของเรา หรือบางทีเวลาผมนั่งทำงาน มันจะมีแว้บนึงว่า โห ประโยคนี้นะมันคมมากเลย แล้วมันจะต้องถูกนำไปเป็นโคว้ท เราจะมีชื่อเสียงโด่งดัง คือเราไม่ได้ทำงานเพื่อทำงาน เราทำงานเพื่อผลตอบแทนอะไรบางอย่าง” วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ ผู้แปลหนังสือเรื่อง ‘The Little Book of Ikigai’ หรือ ‘อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่’ เอ่ยขึ้นระหว่างเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นผลงานเขียนของ เคน โมงิ นักเขียนและนักประสาทวิทยาชาวญี่ปุ่น และเป็นคำพูดที่กระแทกใจเราอย่างแรง

อิคิไกกำลังฮิตมากๆในญี่ปุ่น ทุกวันนี้คนญี่ปุ่นกำลังพูดถึงอิคิไกว่าเป็นเหตุผลของการตื่นนอนในตอนเช้า และเป็นสิ่งที่รักษาความกระตือรือร้นของชีวิตไว้ ด้วยเสาหลักห้าประการของอิคิไก คือ 1 เริ่มเล็กๆ 2 ปลดปล่อยตัวเอง 3 สอดคล้องและยั่งยืน 4 ความสุขกับสิ่งเล็กๆ และ 5 การอยู่ตรงนี้ ตอนนี้

Advertisement

“อิคิ แปลว่ามีชีวิต ไก แปลว่าเหตุผล อิคิไก คือเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ เมื่อสักประมาณเดือนก่อน ผมได้ไปเที่ยวในบาร์เล็กๆแห่งหนึ่งย่านเอกมัย ซึ่งมีบาร์เทนเดอร์เป็นชาวญี่ปุ่น ก็เลยถามว่าคุณรู้จักอิคิไกรึเปล่า เขาก็แบบ อืมอืม น่าสนใจ แต่ก็ไม่ได้มองว่ามันยิ่งใหญ่อะไร เพราะเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เขาใช้ในการดำเนินชีวิตปกติ เป็นความปกติของเขา”

ไม่ว่าจะเป็นคนทำความสะอาดในรถไฟชินคันเซ็น คุณแม่ลูกอ่อน หรือเชฟซูชิระดับมิชลิน หลักทั้งห้านี้ จึงเป็นหัวใจสำหรับทุกๆ สิ่งที่พวกเขาทำ พวกเขาจะพบความสุขและมีสติในทุกๆอย่างที่ตัวเองทำ

“ผมสนใจลักษณะความมุ่งมั่น การอยู่กับสิ่งนี้ ตอนนี้ คือทุกวันนี้ผมรู้สึกว่าเวลาเราทำอะไรบางอย่าง เรากลับไม่ได้จดจ่อกับสิ่งนั้น เราทำสิ่งนั้นเพียงเพื่อว่ามุ่งหวังบางอย่างที่เป็นสิ่งอื่น เมื่อก่อนตอนผมเด็กๆ ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งของท่านติช นัท ฮันห์ ชื่อว่า ‘ปาฎิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ’ เป็นหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตผมในช่วงวัยรุ่น เปลี่ยนโลกทัศน์ เขาสอนให้เราล้างจานเพื่อล้างจาน แกะเปลือกส้มเพื่อแกะเปลือกส้ม ไม่ได้มองไปข้างหน้าหรือมองไปย้อนหลัง

ก่อนหน้าแปลอิคิไก ผมเคยแปลอีกเล่มหนึ่ง ชื่อเล่ม ‘หยุดพูดแล้วลงมือทำซะ’ แนวคิดจะตะวันตกมาก เน้นย้ำเรื่องการตั้งเป้าหมาย ต้องตั้งเป้าหมายทุกวัน แล้วเน้นย้ำเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น ผมว่าจริงๆแล้วไม่มีอะไรถูกอะไรผิด คุณตั้งเป้าหมาย ทำให้ได้ แล้วคุณก็มีความสุข แต่ก็มีอีกวิธีหนึ่งคืออิคิไก ที่ให้ความสำคัญกับการอยู่ตรงนี้ ตอนนี้เท่านั้น”

ในฐานะที่ทำงานสื่อมาตลอด (ปัจจุบันวุฒิชัยคือบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร อะเดย์ บูลเลอทีน) วุฒิชัยมองว่าโลกตอนนี้ช่องว่างระหว่างทำงานเสร็จกับการโชว์ผลงานแคบลงเรื่อยๆ และทำให้ความหมายของการทำงานปัจจุบันเปลี่ยนไป ซึ่งก็รวมถึงตัวเขาเองด้วย และนั่นทำให้อิคิไกสำคัญสำหรับเขา เพราะคือการจัดการตัวเอง

“สำหรับผมที่ทำงานสื่อ ทุกวันนี้เหมือนกับเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆส่งเสริมให้รับผลตอบแทนหรือฟีดแบ็คของการทำงานทันที ทันใด ทุกวันนี้กลายเป็นเราไม่อาจเฝ้ารอ เขียนอะไรเสร็จปุ๊บต้องโชว์ทันที แม้กระทั่งรถติด ก็ต้องบอกว่ารถติด ไม่สามารถที่จะอดทนไม่แสดงออกได้เลย แล้วมีคนไลค์ด้วยนะ แค่การทำอะไรแค่เล็กน้อยก็ทำให้คนมีความสุขทันที มันทำให้ความหมายของการทำงานปัจจุบันเปลี่ยนไปหมด

วันก่อนผมสัมน้องวี ไวโอเลต น้องน่ารักมากเลย ผมก็ขอเซลฟีแล้วอัพรูปน้องในสเตตัสของผม พออัพรูปก็ราวกับว่าทำงานเสร็จแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้กลับบ้านไปถอดเทปเลย สัมภาษณ์มาชั่วโมงครึ่ง ถ่ายรูปครึ่งวันกว่าจะเสร็จ ยังไม่ได้เรียบเรียง ไม่ได้เขียน ไม่ได้รีทัชรูปเลย และยังต้องอีกเจ็ดวันกว่างานจะพิมพ์ แต่พอลงสเตตัส ความพึงพอใจมาแล้ว คนมากดไลค์ๆๆ ผมก็คอยพิจารณาใจตัวเองตลอดเวลานะ ว่าเวลาพึงพอใจ เมื่อกลับถึงบ้าน ก็คือหย่อนยานน่ะ เพราะฟินไปแล้วตั้งแต่เซลฟี่ แล้วค่อยมาทำในวันเดดไลน์ ที่ฝ่ายผลิต ฝ่ายศิลป์ โรงพิมพ์เร่งล่ะ เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้น้องๆ เราก็ทำงานแบบเร่งๆ พอฟินแล้วจากการอัพสเตตัสความจดจ่อในการทำงานก็เปลี่ยนไป ความรู้สึกเรื่องช่องว่างระหว่างการทำงานและการตอบแทน ส่งผลอย่างรุนแรงทำให้เจเนอเรชั่นแต่ละเจเนอเรชั่นมันเปลี่ยนแปลงไป แล้วกลายเป็นช่องว่างระหว่างเจเนเรอชั่นมาก จึงเกิดคำถามแบบ ทำไมเด็กรุ่นนี้ อย่างนั้นอย่างนี้ เพราะเขาพึงพอใจกับชีวิตเขาไปแล้ว นี่ไม่ใช่การตัดสินว่าทำงานแบบนี้มันผิด บางทีชีวิตเรางานที่เราทำอาจไม่ได้มีเหตุผลไม่ได้มีความหมายมากมายเลยก็ได้ มีความสุขแล้วก็จบไป”

อิคิไกของวุฒิชัยจึงคือการจัดการตัวเอง มากกว่าเรื่องของวงกลมสี่วงที่คนรับรู้ทั่วไป วงกลมสี่วงที่วาดมาตัดกัน วงกลมของสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราทำได้ดี สิ่งที่เราทำแล้วได้เงิน และสิ่งที่เราทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อโลก และจะสามารถเจอจุดตัดของวงกลมทั้งสี่ได้ เมื่อคิดทบทวนตัวเองได้อย่างลึกซึ้งมากพอ

“อิคิไกสำหรับผม คือการจัดการตัวเอง เป็นเป้าหมายภายใน ไม่ใช่เป้าหมายภายนอก โดยทั่วไปคนอาจจะจดจำ หรือรับรู้ผ่านเรื่องวงกลมสี่วง แต่สำหรับผมมองว่ามันอาจมีวิธีการดูว่าอะไรที่มันเหมาะกับเรา เป็นเป้าหมายที่เราจะไปถึงตรงนั้น เป็นเรื่องของการจัดการตัวเอง สร้างสมดุลให้ตัวเอง หนังสอเล่มนี้ไม่ได้อธิบายอิคิไกผ่านวงกลมสี่วงนั้น แต่อธิบายผ่านลักษณะนิสัยพื้นฐานมากๆเลยของผู้คนที่เรียกว่าเสาหลักห้าประการ คือการเริ่มต้นเล็กๆ การปล่อยวางตัวเอง การอยู่กับคนอื่นอย่างสอดคล้อง การมีความสุขกับสิ่งง่ายๆเล็กๆใกล้ตัว และท้ายที่สุดเป็นเรื่องที่ผมสนใจที่สุด คือการอยู่ตรงนี้ ตอนนี้ เป็นเรื่องของการจัดการภายในตัวเอง”

จัดการตัวเอง เพื่อให้ยิ้มรับทุกเช้าวันจันทร์ได้อย่างสบายใจ

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image