วรรณคดีญี่ปุ่น ไม่ราดน้ำแดงบนหิมะก็อ่านได้

ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยสงครามปลดแอกตองอู ครั้งพระนเรศวร์สร้างกองทัพกู้ราชอาณาเขต ประวัติศาสตร์ก็บันทึกถึงทหารญี่ปุ่นที่อยู่ในกองทัพอยุธยา จากนั้นนับมาหลายร้อยปี ไทยกับญี่ปุ่นก็เกี่ยวข้องกันมาโดยตลอด ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ

ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งหลัง กองทัพญี่ปุ่นที่เปิดฉากสงครามมหาเอเชียบูรพา ใช้ดินแดนไทยเป็นทางผ่านสู่พม่า ก่อโศกนาฏกรรมสำคัญฉากหนึ่งในการสร้างทางรถไฟสายมรณะขึ้น เป็นความทรงจำที่ไม่อาจลบเลือน

สิ้นสงคราม ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเปิดตลาดโรงหนังไทยพร้อมกับหนังอินเดีย ซามูไรญี่ปุ่นกับหนุมานแผลงศักดาอยู่บนจอเงินติดต่อกันนานนับปี

จนครึ่งค่อนศตวรรษก่อน เมื่อญี่ปุ่นพยายามฟื้นตัวจากการชดใช้ค่าปฏิกรณ์สงครามแก่ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร นักธุรกิจญี่ปุ่นเริ่มเข้าประเทศไทยมาอย่างมีระเบียบแบบแผน เรียนภาษา ศึกษาอุปนิสัยใจคอผู้คน ก่อนตัวแทนฝ่ายปฏิบัติการจะทยอยกันเข้ามาลงหลักปักฐาน นำสินค้าญี่ปุ่นทั้งหนักเบา ใหญ่น้อย เปิดตลาดที่ต่อมากลายเป็นอาณานิคมเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของลูกพระอาทิตย์ไป จนปลายทศวรรษ 2510 ของไทย นักศึกษาประชาชนถึงกับเดินขบวนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นอย่างจริงจัง

Advertisement

ส่วนนักเรียนประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ก็เข้ามาเรียนประวัติศาสตร์สังคม สะสมเครื่องมือเครื่องใช้ทางเกษตรกรรม นำกลับประเทศไป จนเดี๋ยวนี้ งอบ ลอบ แอก กระดึงคอวัว ฯลฯ อาจมีให้ดูในพิพิธภถัณฑ์ญี่ปุ่นมากกว่าในบ้านเราเอง

ระหว่างนั้น ก่อนการเข้ามาของวรรณกรรมเยาวชนอันลือเลื่อง ซึ่งกลายเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาเรียนของเด็กมัธยมไทยไป “”โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง”” ของ “คุโรนายางิ เท็ตสึโกะ” และงานของนักเขียนรางวัลโนเบลคนแรกของญี่ปุ่น “ยาสึนาริ คะวะบะตะ” ก็เป็นที่รู้จักของนักอ่านไทยทั่วไปแล้ว

Advertisement

พร้อมกับบรรดาภาพยนตร์อมตะของผู้กำกับรางวัลออสการ์คนแรก “อะกิระ คุโรสะวะ” เช่น “”ราโชมอน”” หรือ “”เจ็ดเซียนซามูไร”” ก็เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ชม

ดังนั้น เมื่อ “”ประวัติวรรณคดีญี่ปุ่น”” เขียนโดย “อรรถยา สุวรรณระดา” ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมมาตั้งแต่ญี่ปุ่นยังไม่มีตัวอักษรใช้ จนปัจจุบัน ถูกตีพิมพ์เสนอเป็นครั้งที่ 3 จึงเป็นหนังสืออีกเล่มที่น่าอ่านน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นนักอ่านระดับ “คอร์” หรือไม่ก็ตาม

เนื่องจากเกือบสามทศวรรษหลังที่ผ่านมา นักอ่านไทยไม่น้อยรู้จักนักเขียนญี่ปุ่นมากขึ้น จากการที่ญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายศึกษาแห่งหนึ่งของนักเรียนไทย ไม่ต่างจากยุโรปหรือสหรัฐ ทั้งวิศวกรรมศาสตร์และศิลปอักษรศาสตร์

จึงทำให้นักอ่านไทยมีโอกาสได้อ่านวรรณกรรมชั้นเยี่ยมนานาของญี่ปุ่น ที่ถ่ายตรงจากภาษาเดิมโดยไม่ผ่านภาษาอังกฤษเช่นแต่ก่อน

นักอ่านไทยได้รู้จัก “เอโดงาวะ รัมโป” นักเขียนเรื่องลึกลับระดับเผยแพร่ไปนานาชาติจนถึง “ฮะรุกิ มุระคะมิ” นักเขียนระดับโลกอีกคนซึ่งมีสาวกชาวไทยติดตามกันงอมแงมชนิดอุ่นหนาฝาคั่ง ในฐานะผู้รู้จักความเหงาร่วมสมัยเป็นอย่างดี

ประวัติวรรณคดีญี่ปุ่นเล่มนี้ หยิบจับแล้ว อาจรู้สึกถึงความเป็นวิชาการอยู่ จนหลายคนอาจไม่แน่ใจว่าอยากจะอ่านหรืออ่านได้ตลอดรอดเล่ม

แต่ความรู้สึกนั้น สามารถแปลเป็นความคิดแบบสายตากระทบทุเรียนก้านยาวหรือหมอนทองใบโตได้ ว่าหากแงะเปลือกอันอุดมหนามแหลมออกไปแล้ว กลิ่นหอมที่ตลบอบอวล กับเนื้อในอันหวานละมุนลิ้นและฟัน จะบำเรอสุนทรียรสของการลิ้มลองให้อิ่มเต็มขนาดไหน

ผู้เขียนซึ่งเป็นนักเรียนอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ภาษาญี่ปุ่น ซึ่งได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปเรียนปริญญาโทและเอกด้านวรรณคดีญี่ปุ่นโบราณ ที่มหาวิทยาลัยโอซากา เล่าว่า วรรณคดีญี่ปุ่นมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยังไม่มีอักษรใช้ จนสมัยนารา ศตวรรษที่ 8 จึงยืมเสียงอ่านจากอักษรจีนมาบันทึกเรื่องราวต่างๆ แล้วเกิดวรรณคดีลายลักษณ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาจึงมีการประดิษฐ์อักษร จนสมัยเฮอันวรรณคดีญี่ปุ่นได้คลี่คลายไปอย่างรวดเร็วกระทั่งเกิดบุคลิกเป็นของตน

ผู้อ่านจะได้รู้จักวรรณคดีตั้งแต่สมัยยะมะโตะ นารา ที่เกี่ยวกับเทพเจ้า ตำนาน บทเพลง กลอนญี่ปุ่น กลอนจีน จนสมัยเฮอันที่เป็นบทกลอน เรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า บันทึก และความเรียง

จากนั้นถึงสมัยคะมะกุระ มุโระมะชิ ที่เป็นนิยายรัก นิยายสงคราม นิยายประวัติศาสตร์ จนถึงประเภทละคร จึงถึงสมัยเอโดะเกิดนวนิยาย บทกลอน ละครคะบุกิ ซึ่งทั้งหมด เมื่ออ่านแล้วบังเกิดความคุ้นเคยได้ไม่ยาก

ที่สนุกคือ ผู้เขียนประมวลเนื้อหาสำคัญโดยนำตัวอย่างวรรณกรรมจากตอนสนุกๆ อันเป็นที่รู้จักกันในหมู่คนญี่ปุ่น ให้เข้าใจวรรณกรรมโบราณและลักษณะงานเหล่านั้น รวมทั้งสรุปเรื่องย่องานสำคัญบางชิ้นไว้ด้วย

ทำให้นักอ่านได้พื้นฐานวิวัฒนาการลักษณะวรรณกรรมญี่ปุ่นในแต่ละยุคอย่างเข้าใจ เหมาะแก่นักอ่านทั่วไปที่รักและสนใจญี่ปุ่นไปแทบทุกทาง จนปัจจุบันเกิดนักเดินทางที่ยังตื่นญี่ปุ่นกันไม่เลิกรา

“ถึงกับไปราดน้ำแดงบนหิมะกินชื่นใจ ให้เป็นข่าววิตกวิจารณ์กันเมื่อไม่นานมานี้

โดย พยาธิ เยิรสมุด

 

 

 

All site contents copyright © by Matichon Public Co.,Ltd. All Rights Reserved.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image