ประกาศชื่อ ‘ปีศาจ’ 11 หนัง มรดกชาติ

ประกาศชื่อ ‘ปีศาจ’ 11 หนัง มรดกชาติ

ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2563 โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ปีนี้มีภาพยนตร์ 11 เรื่องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์แห่งชาติ

โสกันต์พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต (2471)
ภาพยนตร์บันทึกพระราชพิธีโสกันต์ของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต และพระราชพิธีเกษากันต์ ของ ม.จ.ยุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถ่ายด้วยฝีพระหัตถ์และโปรดให้ข้าราชบริพารร่วมถ่าย ซึ่งถือเป็นตัวอย่างอันมีค่าและหายากของพระราชพิธีโกนจุกพระโอรสธิดาและพระนัดดาของพระเจ้าแผ่นดิน ที่สืบทอดมาในราชสำนักสยาม และปัจจุบันกลายเป็นอดีตไปแล้ว

ห้วงรักเหวลึก (2498)
สร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกันที่ตีพิมพ์ในปี 2492 ของหลวงวิจิตรวาทการ เนื้อเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมเรื่องสิทธิสตรีในสังคมไทยยุคแรกเริ่ม ทั้งการตอบโต้การกดขี่ทางเพศ และการเดินเรื่องโดยผู้หญิงซึ่งไม่ได้เป็นกุลสตรีตามขนบ อำนวยการสร้างโดยชอุ่ม วิสุทธิผล งานกำกับของสมควร กระจ่างศาสตร์
คำปราศรัยในวันครบรอบปีที่ 2 แห่งการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2503 (ไม่สมบูรณ์) (2503)

Advertisement

บันทึกการอ่านคำปราศรัยของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันครบรอบปีที่ 2 แห่งการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2503 ซึ่งแม้เนื้อหาช่วงต้นจะขาดหายไป แต่ภาพยนตร์ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการถ่ายทอดให้เห็นถึงความสามารถในการเป็นนักปราศรัยของจอมพลสฤษดิ์ ที่คนไทยยุคหนึ่งเคยติดใจ และยังเป็นอนุสรณ์ถึงผลพวงของการรัฐประหารครั้งที่กล่าวกันว่า เป็นการล้างระบบทางการเมืองของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ออกไป และสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบ ‘ไทยๆ’ ขึ้นมาแทน

สุรีรัตน์ล่องหน (2504)
สร้างจากบทละครวิทยุของสมสุข กัลย์จาฤก โดยภาพยนตร์ได้รับการกล่าวถึงในฐานะภาพยนตร์แนวนิยายวิทยาศาสตร์แบบกึ่งแฟนตาซียุคแรกๆ ของไทย และยังดำเนินเรื่องด้วยตัวละครหญิงเป็นหลัก ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นขนบของภาพยนตร์ไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2500 อำนวยการสร้างโดยสกุล เกตุพันธ์ กำกับการแสดงโดย ส. อาสนจินดา เรื่องนี้สมสุขได้แรงบันดาลใจมาจาก The Invisible Man นิยายวิทยาศาสตร์ของ เอช จี เวลส์ นักประพันธ์ชาวอังกฤษ มาผนวกกับเรื่องของสาวน้อยที่มีชีวิตอาภัพราวกับซินเดอเรลลา และการอิจฉาริษยาแย่งชิงมรดกในตระกูลใหญ่

นิสิตพัฒนา (ไม่สมบูรณ์) (2505)
ภาพยนตร์ของสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ เล่าถึงการออกค่ายอาสาสมัคร จุฬาลงกรณ์ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม-14 เมษายน 2505 ที่หมู่บ้านแกใหญ่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ถือเป็นเอกสารบันทึกการออกค่ายอาสาพัฒนาในยุคแรกของนิสิตนักศึกษาไทย และแม้จะมีจุดประสงค์เพื่อโฆษณาชวนเชื่อ แต่ก็ได้ถ่ายทอดให้เห็นถึงการร่วมแรงร่วมใจ และอุดมคติของหนุ่มสาวที่ต้องการมีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคม

Advertisement

โฆษณาเพียว (2506-2508)
ภาพยนตร์โฆษณาเครื่องดื่มเพียว ผลงานของปยุต เงากระจ่าง ผลิตโดยสำนักโฆษณาสรรพสิริ ของสรรพสิริ วิรยศิริ ผู้บุกเบิกการผลิตภาพยนตร์โฆษณาการ์ตูนไทยรายแรก จุดเด่นของโฆษณาชิ้นนี้ คือการใช้ตัวละครเป็นตัวการ์ตูนชุด ‘ตุ๊กตา’ ของพิมน กาฬสีห์ ผู้บุกเบิกการ์ตูนสำหรับเด็กในเมืองไทย

การเดินทางอันไกล (2512)
บันทึกการมาเยือนเมืองไทย เมื่อ พ.ศ.2512 ของนีล อาร์มสตรองพร้อมด้วยคณะนักบินอวกาศที่ไปดวงจันทร์ สร้างโดยสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ เล่าผ่านเรื่องราวของอรนุช ภาชื่น เด็กหญิงที่ได้เขียนจดหมายเชิญชวนนักบินอวกาศให้ไปเยี่ยมโรงเรียนของเธอ แม้จะได้รับคำตอบว่าไม่สามารถทำตามคำร้องขอได้ แต่อรนุชก็ได้เดินทางมาร่วมต้อนรับคณะนักบินอวกาศที่กรุงเทพฯ และยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สื่อข่าวและช่างภาพของสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ เพื่อรายงานข่าวให้ทางโรงเรียนด้วย

ทอง (2516)
ภาพยนตร์ที่ฉลอง ภักดีวิจิตร ทุ่มทุนสร้างด้วยการนำดาราชื่อดังจากต่างประเทศมาร่วมงานและเต็มไปด้วยฉากบู๊ลุ้นระทึก ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังถือเป็นผลงานร่วมสมัยในยุคสงครามเวียดนาม ซึ่งฉายภาพปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างไทยและอเมริกาที่เกิดขึ้นในเวลานั้นได้อย่างมีสีสัน โดยบริษัท Golden Harvest ได้ติดต่อขอซื้อภาพยนตร์เรื่องนี้ไปจัดจำหน่ายทั่วโลก

วิมานดารา (2517)
ผลงานร่วมสร้างของสุเทพ วงศ์กำแหง,สวลี ผกาพันธุ์ ร่วมด้วย ธงชัย วงษ์ประเสริฐ กำกับโดย ชุติมา สุวรรณรัต เล่าเรื่องราวของบัณฑิตสาวผู้ทดลองทฤษฎีเพื่อทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ด้วยการเสาะหาผู้ที่เคยมีอดีตโด่งดังในด้านต่างๆ มาอยู่รวมกันในบ้าน เพื่อพิสูจน์ว่ายุคสมัยเป็นสิ่งที่ต่อต้านได้ หากบุคคลที่มีฝีมืออย่างแท้จริงแต่กำลังตกอับ ได้รับโอกาสให้แสดงความสามารถ พวกเขาจะกลับมาประสบความสำเร็จได้อีกครั้ง แต่เมื่อทุกอย่างกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี หญิงใบ้คนรับใช้ประจำบ้านที่ทำหน้าที่ดูแลชายหนุ่มทั้ง 5 คน กลับเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา โดยที่ไม่มีใครยอมรับว่าเป็นพ่อของเด็กในท้อง

Goal Club เกมล้มโต๊ะ (2544)
ผลงานของผู้กำกับ กิตติกร เลียวศิริกุล เล่าเรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นชายยุคมิลเลนเนียม ที่เข้าไปพัวพันกับกระแสการพนันฟุตบอลผิดกฎหมาย ซึ่งแม้เวลาจะผ่านไปยี่สิบปี แต่ภาพยนตร์ยังคงมีน้ำหนักและเชื่อมต่อได้กับผู้ชมในปัจจุบัน ทั้งในแง่การเป็นเอกสารบันทึกทั้งด้านมืดและด้านสว่างของกระแสความคลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลในเมืองไทย และการเป็นคำพยากรณ์ของสหัสวรรษใหม่ต่อชีวิตวัยรุ่นที่ต้องเผชิญหน้ากับสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง

สาย สีมา นักสู้สามัญชน (2524)
สร้างจากนวนิยายเรื่อง ‘ปีศาจ’ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือศักดิชัย บำรุงพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2533 ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของวงการวรรณกรรมไทย
ภาพยนตร์สร้างขึ้นโดยกลุ่มนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ นำโดย เจน จำรัสศิลป์ และขรรค์ชัย บุนปาน เจ้าของโรงพิมพ์พิฆเณศ ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชน กำกับการแสดงโดย เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียนบทโดย สมาน คำพิมาน และ เวทย์ บูรณะ นายกสมาคมนักข่าวในตอนนั้น ส่วนผู้กำกับซึ่งใช้นามแฝงว่า ‘หนุ่ม 22’ นั้น แม้ข้อมูลหลายแหล่งจะระบุว่าเป็น สุพรรณ บูรณะพิมพ์ แต่เสนีย์ เสาวพงศ์ ได้เขียนไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพของสุพรรณว่า สุพรรณถอนตัวจากการเป็นผู้กำกับก่อนที่ภาพยนตร์จะสร้างเสร็จ

สาย สีมา นักสู้สามัญชน เล่าเรื่องของทนายหนุ่มผู้ตัดสินใจหันหลังให้ความร่ำรวยและการงานที่ก้าวหน้าเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกโกงจากความไม่รู้กฎหมาย ในขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับคำดูถูกเหยียดหยามจากตระกูลผู้ดีสูงศักดิ์ของรัชนี หญิงสาวที่เขารัก เพียงเพราะเขามีพื้นเพมาจากครอบครัวชาวนา

เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียนนวนิยายเรื่องนี้ในช่วงทศวรรษ 2490 พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก ใน พ.ศ.2500 แต่ระบอบเผด็จการทำให้ ‘ปีศาจ’ ต้องเงียบหายไปนานนับสิบปี ก่อนจะกลับมาตีพิมพ์ใหม่ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

การต่อสู้ของ สาย สีมา และวาทะอมตะที่เขากล่าวแทงใจดำบรรดาศักดินาเก่าบนโต๊ะอาหารอันหรูหรา กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่หนุ่มสาวจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม

ภาพยนตร์ออกฉายใน ปี 2524 แต่ไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีนัก ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ นักวิชาการวรรณกรรมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อครั้งที่การนำนวนิยายเล่มนี้มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ มีเรื่องเล่าขานกันว่าในการจัดฉายหนังเรื่องนี้ให้ตัวแทนสายหนังต่างจังหวัดดูก่อนตัดสินใจสั่งซื้อ เถ้าแก่สายหนังท่านหนึ่งได้เปรยขึ้นหลังจากดูจบว่า ‘เป็นหนังผีที่ไม่สนุกเอาเสียเลย’ ซึ่งสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์เดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับตัวนิยาย ที่ชื่อเรื่องทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องผี อย่างไรก็ตาม ชื่อของภาพยนตร์ก็ยังเป็นที่สับสน เมื่อโปสเตอร์และโชว์การ์ด รวมทั้งความทรงจำของผู้สร้างและผู้ชมบางรายยืนยันว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายในชื่อ ‘ปีศาจ’ แต่ในฟิล์มภาพยนตร์ระบุชื่อในไตเติลว่า ‘สาย สีมา นักสู้สามัญชน’ ซึ่งตรงกันกับข้อมูลบางแห่งที่ค้นพบ

ทั้งนี้ แม้ภาพยนตร์จะไม่ประสบความสำเร็จตอนออกฉาย แต่คณะกรรมการมีความเห็นว่าผลงานเรื่องนี้ถือเป็นมรดกจากความกล้าหาญของนักหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาสร้างภาพยนตร์อันเต็มไปด้วยอุดมคติอันแรงกล้า ในขณะเดียวกันยังเป็นตัวแทนในโลกภาพยนตร์เพียงหนึ่งเดียวของวรรณกรรมอมตะที่ทรงอิทธิพลต่อบรรดานักคิดนักเขียนไทย และสิงสถิตอยู่ในความคิดอ่านของหนุ่มสาวผู้รักความเป็นธรรมมาทุกยุค รวมทั้งแฝงไปด้วยบรรยากาศและจิตวิญญาณแห่งการเป็น ‘ปีศาจของกาลเวลา’ ไม่ต่างไปจากบทประพันธ์

ถือเป็น 11 ภาพยนตร์ที่ขึ้นหิ้งเป็นมรดกของชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image