หลากวงการร่วมอาลัยการจากไปของ “บรู๊ซ แกสตัน”

หลากวงการร่วมอาลัยการจากไปของ “บรู๊ซ แกสตัน”

หลังข่าวการสูญเสีย บรู๊ซ แกสตัน หนึ่งในผู้ก่อตั้งวงฟองน้ำ ได้มีบุคคลจากหลากวงการต่างพากันโพสต์ข้อความไว้อาลัยการเสียชีวิตของ บรู๊ซ แกสตัน

อย่าง นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ที่ได้โพสต์ถึง บรู๊ซ แกสตัน เอาไว้ว่า

“ครูบรูซ แกสตัน

เมื่อครูบรูซเริ่มก่อตั้งวง ฟองน้ำ มาได้สี่ปี นิตยสาร สารคดีที่จำหน่ายได้ไม่กี่ฉบับมีโอกาสสัมภาษณ์ท่านในปี 2528

Advertisement

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสรู้จัก

ครูบรูซในวัยสามสิบกว่า มีความหลงใหลดนตรีไทยจริงๆ

Advertisement

คงมีชาวต่างประเทศไม่กี่คน ผู้หลงรักเครื่องดนตรีไทยและทำงานหนักจนสามารถผสมผสานเสน่ห์ของดนตรีไทยเข้ากับดนตรีสากล จนกลายเป็นเสียงเพลงแห่งความสนุกสนานและทั่วโลกชื่นชมและยอมรับ

บรูซ แกสตัน คือหนึ่งในตำนาน

อาจารย์บรูส แกสตัน ในวัย 24 ปีเดินทางมาเมืองไทยเมื่อห้าสิบปีก่อน หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านดนตรี ด้วยความรักในการสอนดนตรีให้กับเด็กไทย เมืองที่เขาใฝ่ฝันอยากมาใช้ชีวิต

อาจารย์บรูซเป็นครูสอนนักเรียนในต่างจังหวัดหลายปี วันหนึ่งเขาได้ยินเสียงปี่พาทย์ของชาวบ้าน และเป็นจุดเริ่มต้นของความหลงรักดนตรีไทย จนมีโอกาสได้เรียนตีระนาดจากครู บุญยงค์ เกตุคง ปรมาจารย์ระนาดเอก

และเป็นจุดเริ่มต้นการทำวงดนตรีผสมผสานระหว่างเครื่องดนตรีไทยกับดนตรีสากล ในนามของวง “ฟองน้ำ “เมื่อปีพ.ศ. 2524 เป็นวงที่สามารถใช้เครื่องดนตรีไทยผสมผสานกับเครื่องดนตรีตะวันตก ได้อย่างลงตัว ต่อมาการแสดงของวงฟองน้ำ กลายเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของดนตรีไทย และสร้างชื่อเสียงให้กับวงการดนตรีไทยจนถึงปัจจุบัน
ผู้คนมีความสุขจากเสียงดนตรีที่ครูบรูซรังสรรค์ขึ้นมาตลอดสี่สิบปี

บัดนี้อาจารย์บรูซ แกสตัน ได้จากไปสู่สรวงสวรรค์แล้ว

ชีวิตของอาจารย์บรูซ จะเป็นตำนานที่ผู้คนจะกล่าวขานอีกนาน”

ขณะที่ อานันท์ นาคคง อาจารย์คณะดุริยางคศาสตร์ ม.ศิลปากร ได้โพสต์ไว้ว่า

“แม้ฟองน้ำจะเป็นเพียงอากาศธาตุในมวลน้ำ เกิดจากความว่างไร้แก่นสารที่ถูกธรรมชาติปรุงแต่งจนมองเห็น รู้สึกในรูปทรงอุปมาสมมติได้ จากอากาศธาตุภายในเคลื่อนย้ายคลี่คลายไปสู่อากาศธาตุภายนอก กระทบความว่างเปล่าที่ไพศาลกว่าเบื้องบนผิวน้ำจนแตกดับลับสลาย ว่างเปล่าไร้ตัวตน ทุกอย่างเกิดและดับในระยะเวลาอันแสนสั้น เช่นเดียวกับชีวิตที่ไม่อาจตั้งอยู่ได้ตลอดกาล แต่ฟองน้ำนั้นก็ยังถูกธรรมชาตินำพาย้อนกลับมาทำหน้าที่ครูของชีวิต ให้เราได้ตระหนักถึงความไม่จีรังยั่งยืน สิ่งสมมติที่ไม่อาจยึดเหนี่ยวรักษาเอาไว้ตามกฏไตรลักษณ์ สิ่งที่ใครไม่อาจยึดครองเป็นเจ้าของได้ วัฏจักรของฟองน้ำสอนให้เห็นสัจธรรมของการเกิดและดับในธรรมชาติอยู่เสมอ จนกว่าในที่สุด มนุษย์จะค้นพบคำตอบว่าการสิ้นสุดที่แท้จริงของฟองน้ำคืออะไร เมื่อไร อย่างไร”

รักครูนะครับ
พักผ่อนครับครูบรูซ แกสตัน
17102021

ก่อนจะโพสต์ในเวลาต่อมาว่า “รดน้ำศพครูบรูซ แกสตัน 1600 ศาลาเสถียรไทย 32 วัดธาตุทองครับ”

ส่วน จิระ สัตตะพันธ์คีรี ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Jira Sattapunkeeree พร้อมกับภาพของบรู๊ซ แกสตัน ขณะเล่นเปียโน โดยระบุว่า

“ภาพนี้ผมถ่ายเมื่อปี 2014 ไม่คิดเลยว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้พบกับครูบรู๊ซ แกสตั้น เพิ่งจะโพสเรื่องการจากไปของพี่จิ๋ว วง Isn’t ได้ไม่ถึงชั่วโมง ก็ต้องเสียใจและอาลัยกับการจากไปของท่านอีกคน

ผมไม่สามารถจะบรรยายได้ว่าวันนี้วงการดนตรีเราสูญเสียไปมากน้อยเพียงใด บอกได้แค่ว่าครูบรู๊ซท่านรักดนตรีไทยมากกว่าคนไทยหลายๆคนเสียอีก”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image