เสี่ยโต้ง เปิดเบื้องลึก ควัก 3 ล. สร้าง ‘ไทบ้าน’ ฉายวันแรก ‘ไม่กล้าดู’ รู้ว่าเสี่ยง แต่ขอลอง
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) เขตพระนคร กรุงเทพฯ เครือมติชนและหน่วยงานพันธมิตร ร่วมจัดงาน “Knowledge Fest เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม 2025 x เทศกาลดนตรีกรุงเทพ” ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม – อาทิตย์ที่ 9 มีนาคม 2568 เวลา 12.00 – 21.00 น.
เมื่อเวลา 16.00 น. เข้าสู่ช่วงกิจกรรม BookTalk หัวข้อ ‘จักรวาลไทบ้าน: จุดเริ่มต้นไทบ้าน และก้าวต่อไปสู่ระดับโลก’ โดยมีผู้ร่วมพูดคุยได้แก่ นายสุรศักดิ์ ป้องศร หรือ ศักดิ์ ผู้กำกับและนักเขียนบทลูกอีสาน, นายอัจฉริยะ ศรีทา หรือ อาจารย์โต้ง นักแสดงที่รับบท “สัปเหร่อศักดิ์” จากภาพยนตร์เรื่อง “สัปเหร่อ” และ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ หรือ โต้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินรายการโดย ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในตอนหนึ่ง นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ หรือ โต้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนทุนสร้างภาพยนตร์ ไทบ้าน 1 กล่าวว่า ตนเริ่มรู้จักน้องๆ จากกลุ่มกล้าลำดวน ซึ่งเป็นเด็กแสบในศรีสะเกษ ชื่อกลุ่มมาจากต้นลำดวน ต้นไม้ประจำจังหวัด ตอนนั้นตนเป็นประธานหอการค้า ผู้ว่าฯ บอกว่า เอาเด็กพวกนี้มาทำกิจกรรมดีกว่า เพื่อดึงคนมาเดินถนนคนเดิน เราก็เอากิจกรรมไปลงให้ จึงได้เริ่มเป็นที่รู้จักกัน
“เขาทำหนังในโซเชียลมาเมื่อ 8 ปีก่อน แต่มียอดวิวการรับชมเป็นล้านวิว เราเห็นว่าเขาสู้ เพจก็ชอบโพสต์คำพูดคมๆ มีคนมากดไลก์หลายพันคนแม้ไม่มีเงิน จนเราเชื่อว่าๆ สิ่งเหล่านี้สามารถลงทุนได้กับเขาได้
ตอนนั้นเด็กเข้ามา 4 คน เราคิดว่าเขาจะมาหลอกขายของไหม เราเลยให้เขาไปทำหนังชีวประวัติพ่อผม ถ้าทำออกมาดีก็จะชอบ แล้วเขาไปขอสปอนเซอร์ถึง 50 ราย ไม่มีใครกล้าให้ ผมคิดในใจแล้วผมจะกล้าให้ไหม
ตอนนั้นเขาเอาฉากหนังมาให้ดูก่อน ผมชอบการเล่นมุก ที่เป็นบ้านๆ ถามว่า แค่ประโยค ‘มีแฟนล่ะยัง ไม่มี เพราะผัวไม่ให้มี’ หนังแบบนี้ทำได้ด้วยเหรอ แต่ผมก็อยากลอง“นายสิริพงศ์ กล่าว
นายสิริพงศ์ กล่าวต่อว่า ช่วงนั้นผมอยากเปิดไลน์ธุรกิจใหม่ เลยขอหุ้นส่วนบริษัทขอทำหนังได้ไหม หุ้นส่วนไม่มีใครมั่นใจเลย เขาแนะนำให้ไปลองทำสัก 1-2 ตอน สุดท้ายก็ไม่ได้ น้องๆ ก็ต้องไปหาสปอนเซอร์เข้ามา แต่ข้อจำกัดเยอะ
เขาจึงให้ช่วย โดยน้องๆ เสนองบมาจาก 4 ล้าน ผมบอกขอ 2 ล้านทำไหวไหม? ผมก็ให้เขากลับไปคิดก่อน แต่ผมก็คิดนะ ผมพลาดอะไรหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่ก็อยากลองทำหนังจริงๆ สุดท้ายก็ให้ทุนไป 2 ล้านบาท
ผมเชื่อว่า การทำหนัง ขาดทุนตั้งแต่วันที่ลงทุน เมื่อหนังฉายเมื่อไหร่ มีคนมาดูเท่าไหร่ก็ไปลดขาดทุนเอา เราไม่สามารถคาดการณ์คนมาดูได้ วันนี้ผมคิดว่าผมเสียแค่นี้ผมจะตายไหม? แต่ถ้าผมรับความเสี่ยงไหว ผมก็รอดแล้ว อยากจะบอกว่า ระหว่างถ่าย เขาก็แอบมาเบิกเพิ่มตลอด (หัวเราะ) เบ็ดเสร็จเกือบ 3 ล้านบาทเลย“ นายสิริพงศ์ กล่าว
นายสิริพงศ์ กล่าวอีกว่า ตนบอกว่าขาดทุนไม่เป็นไร แค่ถ้าคุณเหยาะแหยะ ต้องคืนตนทุกบาททุกสตางค์ เชื่อไหมว่าฉายหนังวันแรก ตนไม่กล้าดูเลย
“เราจะไม่ไปหวังอะไรกับงานเด็ก กลัวจะทำให้มุมมองผมไปยุ่งกับงานเด็ก ให้เขา ได้เขาทำไป
วันแรกออกโรงหนังมา 22.00 น. เงียบสนิทไม่มีฟีดแบคใดๆ ในเฟซบุ๊กเลย ผมถามสภาวัฒนธรรมดูแล้วเป็นอย่างไรบ้าง เขาบอกเสียงเบาไป ฟังไม่รู้เรื่อง ภาพก็ไม่ชัด แล้วก็พูดคำหยาบ แต่ก็เป็นคำพูดของคนอายุ 60 ปี
แต่เมื่อผ่านไป ภาคแรกได้กำไร 47 ล้าน ผมไม่เอากำไรเลย ผมเอาแต่ทุนคืน ให้พวกเขาไปสร้างอนาคต ตอนนี้น้องๆ เขาก็ไปไกลกันเลย เพราะเสน่ห์ของไทบ้านคือ มักจะมาพร้อมกันเพลงประกอบ ที่ฮิตติดกระแสมาก“ นายสิริพงศ์ กล่าว
นายสิริพงศ์ กล่าวว่า ตนชอบความคิดเด็กๆ ที่เวลาคิดอะไร แล้วมันดูเรียล มีฉากหนึ่งที่ไม่ได้ออกฉาย ในประเด็นพระ
“เขาบอก พี่ เขาไม่ยอมให้ออกเป็นคำ18+ ผมก็บอกเขา ถ้าจะทำแบบนี้ต้องไปลงออนไลน์ ออกฉายในโรงภาพยนตร์ไม่ได้ ช่วงนั้นน้องๆ ก็ล้มลุกคลุกคลานเยอะ
พอน้องๆ อยากไปทำภาคต่อ เงินก็หมดเพราะ ทำสโตผัก ซึ่งน้องไปทำที่ศรีสะเกษ พื้นที่ยากจน แต่ดันจะทำผักออร์แกนิกขาย ถามน้องจะขายให้ใคร? น้องก็อยากจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่มันต้องลงทุนเยอะ อยากทำร้านกาแฟ ก็ทำไม่ได้ เพราะว่าพอเปิดแอร์ที ไฟก็ตกทั้งหมู่บ้าน
ผมมองอนาคตระยะยาวของไทบ้านว่า ต้องพยายามทำธุรกิจออกมาขายให้หลากหลาย แต่ในอดีตก็เจ๊งเยอะ เพราะคนดูเยอะแต่ไม่ซื้อ แต่เรามีแฟนคลับ เรามีปากต่อปากกัน ซึ่งทำให้กระแสตอบรับดีมาก“ นายสิริพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย