บทนำมติชน : เกมแห่งอำนาจ

บทนำมติชน : เกมแห่งอำนาจ

บทนำมติชน : เกมแห่งอำนาจ

รัฐสภาจะเปิดประชุมในสมัยวิสามัญ ในวันที่7-8 เมษายนนี้ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งได้กลายเป็นกลไกสำคัญ หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ก่อนหน้านี้ ในการพิจารณาวาระที่ 2 เกิดพลิกล็อก เมื่อรัฐสภาที่ปกติจะลงคะแนนตามความเห็นของกรรมาธิการเสียงข้างมาก กลับให้ความเห็นชอบ ตามความเห็นของกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ซึ่งมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอขอแก้ไขมาตรา 9 ขยายการออกเสียงประชามติเป็น 5 กรณี โดยให้รัฐสภา และประชาชนเสนอให้ทำประชามติได้

การแก้ไขมาตรา 9 ดังกล่าว วุฒิสภาไม่เห็นด้วยและพยายามแก้ไข ให้เป็นอำนาจฝ่ายบริหารตามเดิม ซึ่งเข้าใจได้ เมื่อพิจารณาจากที่มาของวุฒิสภาชุดนี้ แต่ยากที่จะยอมรับได้ เพราะการถามความเห็นของประชาชน เป็นเรื่องพื้นฐานของประชาธิปไตย นอกจากวุฒิสภาจะหาทางแก้ไขกลับไปตามเดิม ยังอาจจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรืออาจจะลงมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.ไปในคราวที่จะเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งเรื่องนี้ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ได้กล่าวว่า ในฐานะผู้สนับสนุนเสียงข้างน้อย มาตรา 9 ให้รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ริเริ่มทำประชามติได้ ขยายการทำประชามติจากเดิมที่แคบมาก ให้สภาและประชาชนริเริ่มได้เหมือนหลายประเทศ เช่น การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติออกมา หน้าที่ตรงนี้เป็นของรัฐสภาอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ถ้ารัฐสภาไม่มีอำนาจแล้วใครจะเป็นคนทำ

กรณีที่เกิดขึ้น ถือเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่ต้องการจำกัดอำนาจของประชาชนและรักษาอำนาจไว้กับฝ่ายตนเองให้นานที่สุดและมากที่สุด กับฝ่ายที่ต้องการขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่เชื่อมโยงไปถึงการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หากวุฒิสภาและ ส.ส.รัฐบาล จับมือกันแก้ไขร่าง กม.การทำประชามติกลับไปตามร่างเดิม จะมีผลกระทบไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประสบอุปสรรคอย่างมากก่อนหน้านี้ จนมีการคว่ำร่างแก้ไขไปแล้ว และวิกฤตการเมืองในประเทศจะดำเนินต่อไปด้วยแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากไม่มีปัจจัยเชิงบวกใดๆ หรือการประนีประนอมใดๆ จากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image