ถนนทุกสายมุ่งสู่ ‘เวมบลีย์’

REUTERS/John Sibley

ถนนทุกสายมุ่งสู่ ‘เวมบลีย์’

ศึกฟุตบอล ยูโร 2020 มาถึงช่วงไคลแมกซ์ กับการแข่งขันรอบรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งพิเศษตรงที่หลังจากตระเวนเตะกันมาใน 11 เมือง 11 ประเทศทั่วยุโรป การแข่งขัน 3 นัดสุดท้ายของทัวร์นาเมนต์จะเตะกันที่สนามเดียวคือ เวมบลีย์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งคว้าสิทธิจากการยื่นเสนอตัวแข่งขันกับชาติต่างๆ ในช่วงเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ

เวมบลีย์อาจไม่ใช่สนามฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก แต่เป็นสนามที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้รับการยอมรับว่าเป็น “บ้านของฟุตบอล” เนื่องด้วยเป็นสนามกีฬาแห่งชาติของอังกฤษที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของกีฬาฟุตบอลสมัยใหม่ และยังเข้ากับคอนเซปต์ “ฟุตบอลกลับบ้าน” ที่แฟนบอลและวงการลูกหนังเมืองผู้ดีมุ่งหวังแชมป์รายการใหญ่ที่เฝ้ารอมานาน

สนามเวมบลีย์ (เดิม) เปิดใช้เมื่อวันที่ 28 เมษายน ปี 1923 เดิมใช้ชื่อ บริติช เอ็มไพร์ เอ็กซิบิชั่น สเตเดียม หรือเรียกสั้นๆ ว่า เอ็มไพร์ สเตเดียม โดยใช้พื้นที่ของสวนสาธารณะ เวมบลีย์ ปาร์ก ในกรุงลอนดอน

วัตถุประสงค์แรกเริ่มสร้างขึ้นเพื่อรองรับการจัดนิทรรศการจักรวรรดิบริติช ควบคู่ไปกับแนวคิดการสร้างสนามกีฬาแห่งชาติที่ยิ่งใหญ่เพื่อแสดงแสนยานุภาพ

Advertisement
REUTERS/Matthew Childs/File Photo

พื้นที่ตรงนั้น ก่อนสร้างสนามขึ้นมาจริงจังก็เคยใช้เป็นสถานที่เล่นฟุตบอลมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1880 แล้ว
สนามเวมบลีย์เดิมใช้งบก่อสร้างราว 750,000 ปอนด์ หรือตีเป็นเงินยุคปัจจุบันก็ราวๆ 46 ล้านปอนด์ (2,024 ล้านบาท) ออกแบบโดยสถาปนิกดัง เซอร์จอห์น ซิมป์สัน และ แม็กซ์เวลล์ ไอร์ตัน

สนามเก่าแก่แห่งนี้มีเอกลักษณ์ที่เปรียบเหมือนเครื่องหมายการค้าสำหรับผู้มาเยือนคือ หอคอยคู่ตรงทางเข้าด้านนอกสนาม รวมทั้งจำนวนขั้นบันได 39 ขั้น เพื่อเดินไปยังรอยัลบ๊อกซ์ หรืออัฒจันทร์ที่ประทับ สำหรับการขึ้นรับแชมป์ของทีมที่ร่วมแข่งขัน

เวมบลีย์จัดเป็นสนามกีฬาเอนกประสงค์ ไม่ได้แข่งขันแค่กีฬาฟุตบอล แต่ยังมีทั้งรักบี้ฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล แข่งรถ กรีฑา แข่งวิ่งสุนัข และยังเป็นสนามกีฬาหลักของการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ปี 1948 ที่กรุงลอนดอนเป็นเจ้าภาพ รวมถึงจัดนิทรรศการหรือคอนเสิร์ตใหญ่ๆ อีกมากมาย

Advertisement

เกมฟุตบอลแมตช์แรกที่เวมบลีย์เดิมคือ ศึกเอฟเอคัพรอบชิงชนะเลิศที่จัดเตะกันวันเปิดสนาม ระหว่าง โบลตัน วันเดอเรอร์ส กับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด เรียกขานกันในชื่อ “ไวต์ ฮอร์ส ไฟนอล”

ส่วนแมตช์สุดท้ายที่เตะก่อนทุบทิ้งและสร้างใหม่คือ ศึกฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก ระหว่างอังกฤษกับเยอรมนีในวันที่ 7 ตุลาคม ปี 2000 ซึ่งลงเอยด้วยชัยชนะของอินทรีเหล็ก 1-0 จากประตูชัยของ ดีตมาร์ ฮามันน์

หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการทุบทำลายในปี 2002 และสร้างสนามใหม่ระหว่างปี 2003-2007 บนพื้นที่เดิม ใช้งบประมาณ 789 ล้านปอนด์ หรือตีเป็นค่าเงินยุคปัจจุบันราว 1,200 ล้านปอนด์ (52,800 ล้านบาท)

REUTERS/Carl Recine/File Photo

สนามเวมบลีย์ใหม่ ความจุ 90,000 ที่นั่ง เริ่มเตะแมตช์แรกอย่างไม่เป็นทางการด้วยเกมฟุตบอลระหว่างสต๊าฟของสนามเวมบลีย์กับเจ้าหน้าที่ของมัลติเพล็กซ์ บริษัทก่อสร้างของออสเตรเลียซึ่งรับผิดชอบการสร้างสนาม
ส่วนแมตช์อย่างเป็นทางการที่มีนักฟุตบอลอาชีพลงสนาม คือเกมฟุตบอลยู-21 ระหว่างอังกฟษกับอิตาลี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2007 ซึ่งลงเอยด้วยผลเสมอ 3-3

สำหรับความผูกพันระหว่างเวมบลีย์กับเกมลูกหนังที่สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ให้การรับรอง มีแมตช์ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นที่นี่มากมาย

ไม่ว่าจะเป็น “แมตช์แห่งศตวรรษ” ซึ่ง “เมจิคัล มักยาร์” ทีมชาติฮังการีในยุคของยอดดาวยิง เฟเรนก์ ปุสกัส ถล่มสิงโตคำราม 6-3 เมื่อปี 1953 สร้างประวัติศาสตร์เป็นทีมนอกเกาะอังกฤษทีมแรกที่บุกชนะถึงเวมบลีย์ได้สำเร็จ

นอกจากนี้ สนามดังกล่าวยังจารึกช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์เมื่ออังกฤษได้ชูถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรกและครั้งเดียวเมื่อปี 1966 ด้วยชัยชนะเหนือเยอรมนีตะวันตก 4-2 ในรอบชิงชนะเลิศ

สนามเวมบลีย์ยังเคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศถ้วยยุโรประดับสโมสรทั้งฟุตบอลยูโรเปี้ยนคัพและยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก มาแล้ว 7 ครั้ง เช่นรอบชิงปี 1965 ที่เวสต์แฮมเอาชนะ 1860 มิวนิก 2-0, รอบชิงปี 1968 ซึ่งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต่อเวลาชนะเบนฟิก้า 4-1, รอบชิงปี 2011 ที่แมนฯยูพ่ายให้บาร์เซโลน่า 1-3
นอกจากนี้ยังมีนัดชิง ยูโร 96 ซึ่งเยอรมนีเอาชนะสาธารณรัฐเช็ก 2-1 ด้วยกฎโกลเดนโกลที่เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน

ส่วนยูโรหนนี้ เวมบลีย์ได้เป็นเจ้าภาพจัดเตะมากที่สุดในจำนวน 11 สนาม รวม 7 นัด คือรอบแรก 3 นัด, รอบ 16 ทีมสุดท้าย 1 นัด, รอบรองชนะเลิศ 2 นัด และรอบชิงชนะเลิศ

อังกฤษอาศัยความได้เปรียบเรื่องการเป็นเจ้าภาพ ทำให้ได้เตะในบ้านเกือบทุกนัด ยกเว้นรอบก่อนรองชนะเลิศซึ่งต้องย้ายไปเตะที่กรุงโรม อิตาลี

REUTERS/Catherine Ivill

ขณะที่รอบ 16 ทีมสุดท้ายยูโรหนนี้ก็ได้บันทึกอีกหน้าประวัติศาสตร์วงการลูกหนังเมืองผู้ดี เนื่องจากชัยชนะของสิงโตคำรามเหนืออินทรีเหล็ก 2-0 นับเป็นชัยชนะแรกในรอบ 55 ปี ที่อังกฤษสามารถเอาชนะคู่ปรับตลอดกาลที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมายาวนานนี้ในรอบน็อกเอาต์ฟุตบอลระดับเมเจอร์ได้

หลังจากนี้เข้าสู่ไคลแม็กซ์สำคัญของทัวร์นาเมนต์ อังกฤษจะได้ลงสนามพบเดนมาร์ก ในรอบรองชนะเลิศ ถ้าผ่านด่านนี้ไปได้ ก็จะได้เข้าชิงที่สนามเวมบลีย์ ต่อหน้าผู้ชมร่วม 60,000 คน หลังรัฐบาลไฟเขียวให้ผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มเกี่ยวกับการป้องกันโควิด

หากไปถึงจุดนั้นจริง แน่นอนว่าสิงโตคำรามย่อมได้เปรียบเรื่องเสียงเชียร์และกำลังใจมหาศาล

แต่จะไปถึงหรือไม่ ต้องรอถามความเห็นของทีมโคนมเสียก่อน

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image