บทเรียนของยูฟ่า กับยูโรคอนเซปต์ ‘มาราธอน’

REUTERS/Andreas Gebert

บทเรียนของยูฟ่า กับยูโรคอนเซปต์ ‘มาราธอน’

ย้อนไปเมื่อเดือนธันวาคมปี 2012 สมัยที่ มิเชล พลาตินี่ ตำนานลูกหนังชาวฝรั่งเศส ยังดำรงตำแหน่งประธาน สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) และหลายปีก่อนโลกจะรู้จักกับไวรัสร้ายอย่าง โควิด-19 ยูฟ่ามีมติปรับเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปครั้งสำคัญ

ประการแรกคือการขยายขนาดการแข่งขัน จากเดิมมี 16 ทีมฟาดแข้งกันรวม 31 นัด เป็น 24 ทีม และต้องเตะกันรวม 51 แมตช์

แต่ที่พิเศษยิ่งกว่าคือไอเดียของพลาตินี่ที่ต้องการให้ยูโร 2020 กระจายการแข่งขันไปตามเมืองต่างๆ ทั่วทวีปยุโรป โดยอ้างเหตุผลเรื่องวาระครบรอบ 60 ปีของการแข่งขัน อีกทั้งยังมองว่าเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจ ณ เวลานั้น เพื่อที่ประเทศเจ้าภาพจะได้ไม่ต้องรับภาระหนักเหมือนตอนจัดแข่งอยู่ชาติเดียว

ยูฟ่าเปิดให้ชาติต่างๆ เสนอตัวเป็นเจ้าภาพโดยแบ่งออกเป็น “แพ็คเกจ” คล้ายการเปิดซองประมูลสิทธิการจัดการแข่งขัน แพ็คเกจมาตรฐานคือการจัดรอบแบ่งกลุ่มพ่วงรอบน็อกเอาต์ (รอบ 16 ทีม หรือ 8 ทีมสุดท้าย) 1 นัด และแพ็คเกจไฟนอล พร้อมสิทธิจัดรอบแบ่งกลุ่ม, รอบ 16 ทีมสุดท้าย 1 นัด, รอบรองชนะเลิศ 2 นัด และรอบชิงชนะเลิศ

Advertisement

ปรากฏว่ามี 19 ประเทศยื่นเสนอตัวแพ็คเกจมาตรฐาน และได้รับเลือก 12 เมือง ในจำนวนนี้ อังกฤษยื่นข้อเสนอใหม่เพื่อแพ็คเกจไฟนอลและได้รับสิทธิดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เหมือนตลกร้าย เมื่อล่วงเข้าปี 2020 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทำให้โปรเจกต์ใหญ่ฉลอง 60 ปีของยูโรต้องเลื่อนออกไป 1 ปี กลายเป็นการจัดในปีที่ 61 หลังยูโรหนแรก แถมยังต้องปรับแผนเรื่องจำนวนผู้ชม จนทำให้ 2 เมืองที่เคยได้สิทธิหลุดโผไป

นั่นคือกรุงดับลินของไอร์แลนด์ที่ไม่สามารถเปิดให้ผู้ชมเข้าสนาม 25 เปอร์เซ็นต์ ตามเงื่อนไขของยูฟ่าจนโดนถอนสิทธิ ขณะที่เมืองบิลเบาของสเปน ย้ายสิทธิไปให้เมืองเซบีย่าแทน

Advertisement
สนามเวมบลีย์ (REUTERS/Carl Recine)

เท่ากับยูโรหนนี้มีเจ้าภาพ 11 เมือง ใน 11 ประเทศ ได้แก่ ลอนดอน (อังกฤษ), เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (รัสเซีย), บากู (อาเซอร์ไบจาน), มิวนิก (เยอรมนี), โรม (อิตาลี), อัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์), บูคาเรสต์ (โรมาเนีย), บูดาเปสต์ (ฮังการี), โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก), กลาสโกว์ (สกอตแลนด์) และเซบีย่า (สเปน)

ส่วนใหญ่แต่ละเมืองจะได้สิทธิจัดรอบแบ่งกลุ่ม 3 นัด บวกกับรอบน็อกเอาต์อีก 1 นัด ยกเว้น สนามเวมบลีย์ กรุงลอนดอน เจ้าของแพ็คเกจไฟนอลและยังได้สิทธิโอนจากดับลิน 1 สิทธิ ได้จัดรวม 7 นัด ขณะที่ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สเตเดียม ได้สิทธิจัด 7 นัดเช่นกัน แต่เป็นรอบแบ่งกลุ่ม 6 นัด และรอบน็อกเอาต์ 1 นัด

การได้สิทธิเป็นเจ้าภาพ ไม่ได้การันตีว่าชาตินั้นๆ จะได้โควต้าเตะรอบสุดท้ายทันที รวมถึงไม่ได้การันตีด้วยว่า พวกเขาจะได้เตะในบ้านทุกนัด

แต่ประเทศที่ไม่ได้เป็นเจ้าภาพเลยหนักหนาสาหัสกว่ามาก เพราะถ้าโชคร้ายก็ต้องตะลอนทัวร์ไปทั่วทวีป ไม่มีฐานที่มั่นเป็นหลักแหล่ง

สวิตเซอร์แลนด์เดินทางไกลที่สุด (REUTERS/Maxim Shemetov)

ในยูโรหนนี้ ตั้งแต่รอบแรกจนจบรอบรองชนะเลิศรวม 50 นัด ทีมที่ต้องเดินทางไกลที่สุดคือ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งตัดสินใจตั้งแคมป์ที่กรุงโรม โดยเดินทางจากกรุงเบิร์น เมืองหลวงของตัวเองไปโรม จากนั้นไปบากูเพื่อเตะนัดเปิดสนามกับเวลส์ กลับไปโรมเพื่อเตะกับอิตาลี และบินไปบากูอีกรอบเพื่อเตะนัดสุดท้ายของรอบแรกกับตุรกี

พอผ่านเข้ารอบได้ รอบ 16 ทีมสุดท้ายไปเขี่ยฝรั่งเศสร่วงที่บูคาเรสต์ แล้วจึงแพ้ดวลจุดโทษสเปน ในรอบก่อนรองชนะเลิศที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

รวมระยะการเดินทางของขุนแข้งแดนนาฬิกาในยูโรหนนี้ 15,485 กิโลเมตร!

ทีมที่วิบากกรรมรองลงมาคือ เบลเยียม ทีมเบอร์ 1 ของโลก ซึ่งตระเวนเตะจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก-โคเปนเฮเกน-เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก-เซบีย่า-มิวนิก ก่อนตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย รวมระยะทาง 10,245 กิโลเมตร

จาก 11 ชาติเจ้าภาพ มีอยู่ 6 ประเทศที่ระยะการเดินทางออกนอกบ้านในรอบแรกเป็น 0 ได้ปักหลักซ้อมและเตะในสนามของตัวเองทั้งหมด ได้แก่ อิตาลี อังกฤษ เยอรมนี สเปน เนเธอร์แลนด์ และ เดนมาร์ก

สำหรับทีมที่มีระยะการเดินทางน้อยที่สุดจาก 24 ทีมในยูโรหนนี้คือ สกอตแลนด์ ซึ่งถึงจะไม่ได้เตะในบ้านทุกนัด แต่ที่ไปไกลสุดก็คือการเยือนเพื่อนบ้านอย่างอังกฤษที่เวมบลีย์ รวมระยะ 1,108 กิโลเมตร

แต่นั่นคือสกอตแลนด์ที่ตกรอบแรก ได้เล่นเพียง 3 นัด ขณะที่ “สิงโตคำราม” ซึ่งทะลุถึงรอบชิงชนะเลิศ ลงสนามรวม 6 นัด ไปเตะนอกบ้านครั้งเดียวคือแมตช์รอบ 8 ทีมสุดท้ายกับ ยูเครน ที่ฟาดแข้งกันที่กรุงโรม นอกนั้นการเดินทางเป็น 0 ทั้งสิ้น

การได้เล่นในบ้านอย่างต่อเนื่องนั้น ไม่ใช่ได้เปรียบเรื่องบรรยากาศและเสียงเชียร์อย่างเดียว เมื่อพิจารณาเรื่องระยะทางการเดินทาง การเตรียมความพร้อม ความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์เครื่องบินดีเลย์ หรือถึงขั้นเลวร้าย ไม่สามารถขึ้นบินได้ ต้องเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางอย่างกะทันหัน

อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานยูฟ่า (REUTERS/Yves Herman/File Photo)

อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานยูฟ่าคนปัจจุบัน เพิ่งออกปากยอมรับว่า ยูโรหนนี้คอนเซปต์ไอเดียดี แต่ปฏิบัติจริงแล้วไม่เวิร์กอย่างแรง เป็นยูโรที่ไม่ยุติธรรมมากๆ

ถ้ามีเจ้าภาพเดี่ยวหรือเจ้าภาพร่วมแค่ 2 ชาติอย่างแต่ก่อน เต็มที่ทีมต่างๆ ก็ยังได้ปักหลักอยู่ในประเทศเจ้าภาพ แค่ย้ายเมือง ไม่ใช่บินไปบินมาจนสะสมไมล์ทะลุเป้าเหมือนอย่างหลายทีมในทัวร์นาเมนต์นี้

ไม่ใช่แค่ทีมที่เดือดร้อน แฟนๆ ของทีมนั้นก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน ยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดอย่างนี้ การจะเดินทางข้ามประเทศทีไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่ทุกชาติเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ทั้งหมด ไหนจะต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ต่างสกุลเงิน การย้ายสนามเตะแต่ละที ต้องลงทุนลงแรงอย่างมาก

เซเฟรินยืนยันว่า คอนเซปต์นี้ทำได้ครั้งเดียวจะไม่ทำอีกในอนาคต เพราะไม่เป็นผลดีในแง่ความบริสุทธิ์ยุติธรรม

ที่สำคัญ ตอนนี้ยูฟ่าโดนตั้งคำถามไม่จบว่ารู้เห็นเป็นใจอะไรกับอังกฤษหรือเปล่า ถึงดูได้เปรียบกว่าทีมอื่นๆ เขาขนาดนี้ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม!

อังกฤษได้เล่นในบ้าน 5 จาก 6 นัด (REUTERS/Laurence Griffiths)

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image