พลิกปูม เคฟ ไดฟ์เวอร์’ วีรบุรุษดำน้ำถ้ำหลวง ช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่า

หมายเหตุ – ความเป็นมาของการดำน้ำในถ้ำหรือ “เคฟ ไดฟ์วิง” รวมถึงที่มาเป็นที่ไปของนักดำน้ำผู้เชี่ยวชาญจากชาติต่างๆ ที่ร่วมปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือเยาวชนนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี่และโค้ช 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา และเริ่มทยอยนำตัวออกจากถ้ำแล้ว

การดำน้ำภายในถ้ำ หรือ “เคฟ ไดฟ์วิง” นั้นเริ่มต้นจากการสำรวจและเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมท่องเที่ยวภายในถ้ำในสหราชอาณาจักร ก่อนที่จะเป็นที่รู้จักและนิยมกันไปถึงสหรัฐอเมริกา ในราวทศวรรษ 70 โดยเฉพาะในรัฐฟลอริดา แล้วกลายเป็นหนึ่งในกีฬา “เอ็กซ์ตรีม สปอร์ต” ในเวลาต่อมาพร้อมๆ ไปกับการ
กลายเป็นทีมค้นหาและกู้ภัยภายในถ้ำ

แต่ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจ การดำเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เป็นกีฬา หรือเป็นการดำน้ำเพื่อการค้นหาและกู้ภัย การดำน้ำภายในถ้ำถือเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงที่สุดในบรรดากิจกรรมเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม นักดำน้ำภายในถ้ำ หรือ “เคฟ ไดฟ์เวอร์” ระดับ “ผู้เชี่ยวชาญ” นั้นถือว่ามีจำนวนไม่มากนัก และกลายเป็น “สังคม” แคบๆ ที่ต่างคนต่างรู้จักกันดี

Advertisement

นักดำน้ำภายในถ้ำระดับผู้เชี่ยวชาญชั้นยอดจากหลายประเทศทั่วโลกมาชุมนุมกันเพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือเด็กๆ และโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี่ ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนครั้งนี้ถึงได้มีเพียงแค่ 13 คนเท่านั้น

ทั้งนี้ เนื่องจากการดำน้ำภายในถ้ำไม่เพียงเสี่ยงสูงสุดเท่านั้น นักดำน้ำภายในถ้ำยังจำเป็นต้องมีทักษะพิเศษอีกจำนวนหนึ่งแล้วยังต้องมีความรู้ ความชำนาญเกี่ยวกับอุปกรณ์ดำน้ำถึงระดับที่สามารถดัดแปลง หรือจัดสร้างอุปกรณ์พิเศษเพื่อการนี้ได้

‘ดำถ้ำ’เสี่ยงถึงชีวิต

Advertisement

การดำน้ำในถ้ำเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ด้วยเหตุผลหลายอย่างด้วยกัน แรกสุดก็คือส่วนใหญ่แล้วเป็นการดำน้ำในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีช่องเปิดให้ขึ้นไปพักหายใจ เป็นการ “ดำลอด” ที่จำเป็นต้องหาทางออกให้พบให้ได้ก่อนที่อากาศภายในถังดำน้ำจะหมดลง

วิธีป้องกันก็คือ การวางถังอากาศไว้เป็นระยะ รวมทั้งการผูกถังอากาศไว้กับเชือกนำทาง ในช่วงของการดำลอดที่ต้องใช้เวลานานเกินกว่าปริมาณของออกซิเจนในถังดำน้ำติดตัว
ในการฝึกนักดำน้ำภายในถ้ำ ครูฝึกมักจะวัดความสำเร็จในการฝึกด้วยการให้ดำลอดไปและกลับภายในถ้ำ เพื่อว่าเข้าไปและกลับออกมาในถ้ำได้ระยะทางเท่าใด โดยจำกัดให้ใช้ออกซิเจนภายในถังได้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น

เป็นการฝึกการบริหารจัดการถังอากาศจนเป็นปกติวิสัย

ในขณะเดียวกัน ภายในถ้ำส่วนใหญ่มักไม่มีแสงแดดส่องถึง สภาพน้ำภายในถ้ำจึงมืดเป็นพิเศษ ยิ่งหากประกอบกับโคลนเลนทัศนวิสัยใต้น้ำยิ่งย่ำแย่ ทัศนวิสัยใต้น้ำภายในถ้ำส่วนใหญ่มักจัดอยู่ในระดับต่ำเรื่อยไปจนถึงที่เลวร้ายที่สุดคือ ไม่มีทัศนวิสัยเลย หลงทาง หลงถ้ำได้ง่ายมาก ไฟฉายใต้น้ำจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญและเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้จำเป็นต้องวางเชือกนำทาง หรือไกด์ไลน์ให้ได้ก่อนที่จะดำเนินการช่วยเหลือ

สภาวะทางกายภาพของถ้ำก็เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของการค้นหาและกู้ภัยเหมือนเช่นที่ถ้ำหลวง ซึ่งไม่มีการดำสำรวจมาก่อน และจำเป็นต้องอาศัยแผนที่ซึ่งนักสำรวจชาวฝรั่งเศสเคยจัดทำไว้เมื่อราว 20 ปีก่อนเป็นแนวทางเท่านั้น ในบางจุดของถ้ำหลวง เช่น บริเวณที่เรียกกันว่า “โช้กกิ้ง พอยต์” นักดำน้ำจำเป็นต้องปลดถังออกจากตัว เพื่อให้สามารถลอดผ่านช่องสูง 38 เซนติเมตร กว้าง 72 เซนติเมตรเข้าออกได้นั่นเอง

นักดำน้ำภายในถ้ำปกติแล้วมักใช้ถังดำน้ำพิเศษแบบที่เรียกว่า “ไซด์เมาท์ แท็งก์” ซึ่งจะแคบเล็กแต่ยาวกว่าถังทั่วไป เพื่อให้คล่องตัวในการดำลอดผ่านช่องแคบๆ

ในปฏิบัติการที่ถ้ำหลวง ผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำและการกู้ภัยภายในถ้ำ มีถังไซด์เมาท์ติดตัวมาด้วยคนละชุด แต่ถังอากาศส่วนใหญ่จะเป็นถังดำน้ำปกติเท่านั้น

ความเชี่ยวกรากของกระแสน้ำภายในถ้ำก็เป็นปัจจัยอันตราย ภายในถ้ำหลวง จากจุดซึ่งเป็นกองบัญชาการส่วนหน้าที่เรียกกันว่า “โถง 3” เพื่อไปยังจุด “เนินนมสาว” ซึ่งเป็นจุดที่ 13 ชีวิตรอคอยความช่วยเหลืออยู่นั้น หลายๆ ส่วนจำเป็นต้องใช้การดำทวนกระแสน้ำเข้าไป ทำให้จำเป็นต้องใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมง

ในขณะที่การกลับสู่โถง 3 เป็นการดำน้ำตามกระแสน้ำ จึงใช้เวลาน้อยกว่า ราว 5 ชั่วโมงเท่านั้นเอง

ชุมนุมเซียน‘ดำถ้ำ’

นักดำน้ำภายในถ้ำระดับผู้เชี่ยวชาญที่เดินทางมาร่วมในปฏิบัติการที่ถ้ำหลวงครั้งนี้ เดินทางมาจากอย่างน้อย 6 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ทั้งหมดอาสาสมัครมาเพื่อการนี้ ทางหนึ่งได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากทางการไทย บางคนเดินทางตรงมาเองหลังจากติดตามรายงานข่าว หรือได้รับการเชิญชวนจาก “บัดดี้” คู่ดำน้ำภายในถ้ำด้วยกัน

นักดำน้ำภายในถ้ำเหล่านี้มุ่งเน้นต่อปฏิบัติการเป็นหลัก ไม่เคยให้สัมภาษณ์ ไม่เคยแสดงตัว ยกเว้นเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่ผู้สื่อข่าวขุดคุ้ยเรื่องราวและประวัติออกมาให้ได้รับรู้กัน 2 คน ในจำนวนนั้นคือ ริชาร์ด “ริค” สแตนตัน วัย 57 ปี จาก โคเวนตรี กับ จอห์น โวแลนเธน วัย 47 ปี จากเมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ
ทั้งสองคนเป็นคนค้นพบ 13 ชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมี่

และล่าสุดที่ทางการออสเตรเลียแถลงออกมาอย่างเป็นทางการคือ นายแพทย์ริชาร์ด แฮร์ริส วิสัญญีแพทย์นักดำน้ำในถ้ำจากเมืองแอดีเลด รัฐเซาธ์ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย

ส่วนที่เหลือเป็นวีรบุรุษนิรนามแห่งถ้ำหลวงที่เอาชีวิตเข้าแลกพยายามเผชิญหน้าและเอาชนะอุปสรรคทุกอย่างทุกประการ เพื่อเอาทั้ง 13 ชีวิตออกมาให้ได้

อย่างไรก็ตาม แอนดี้ อีวิส อดีตนายกสมาคมดำน้ำภายในถ้ำแห่งอังกฤษ ให้สัมภาษณ์บีบีซี พูดถึงทีมนักดำน้ำภายในถ้ำที่ปฏิบัติการอยู่ที่ถ้ำหลวงทั้งหมดเอาไว้ดังนี้

“การดำน้ำภายในถ้ำเป็นการดำน้ำที่แตกต่างจากการดำน้ำทั่วไปในที่เปิดอย่างมาก ดังนั้นปฏิบัติการ (ที่ถ้ำหลวง) นี้จึงจำเป็นต้องใช้นักดำน้ำภายในถ้ำเป็นการเฉพาะ คนเหล่านี้คือคนที่มีประสบการณ์และมีกรอบความคิดจำเพาะที่จำเป็นสำหรับสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ซึ่งทั้งคับแคบ ทั้งทัศนวิสัยต่ำ และไม่มีช่องว่างเหนือหัวให้โผล่ขึ้นไปหายใจ

“ทีมที่ปฏิบัติการช่วยเหลือในครั้งนี้เป็นทีมดำน้ำภายในถ้ำจากนานาชาติ ซึ่งนั่นเป็นหัวใจสำคัญของปฏิบัติการหนนี้ เพราะหมายถึงว่า การช่วยเหลือได้ตัวนักดำน้ำในถ้ำในระดับปรมาจารย์ของอาชีพดำน้ำในถ้ำนี้มาร่วมกันทำงาน เป็นคนที่คุ้นเคยกับปฏิบัติการทำนองนี้มาก่อน”

“ทีมนี้คือทีมที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่บนโลกใบนี้ ที่มีโอกาสมากที่สุดในการนำเด็กๆ เหล่านั้นออกมา”

ในขณะที่ แอนดี้ ทอร์เบ็ท อดีตนักดำน้ำประจำกองทัพอังกฤษ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของสแตนตัน กับโวแลนเธน บรรยายถึงคนทั้งสองไว้สั้นๆ เพียงว่า

“ทั้งคู่คือ 2 นักดำน้ำในถ้ำที่ดีที่สุดในโลก”

ริค สแตนตัน
นักดำถ้ำระดับเครื่องราชฯ

ริค สแตนตัน (AFP PHOTO / Lillian SUWANRUMPHA)

ริชาร์ด สแตนตัน วัย 57 ปี เป็นพนักงานดับเพลิงเกษียณอายุประจำสำนักงานดับเพลิงเขตเวสต์มิดแลนด์ เริ่มสนใจดำน้ำตั้งแต่อายุ 16-17 ปี แต่เริ่มเรียนรู้การดำน้ำเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

สแตนตันเคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2007 ว่าฝังใจกับการดำน้ำภายในถ้ำ เมื่อผู้เป็นมารดาเรียกให้ดูภาพยนตร์สารคดีการดำน้ำในถ้ำใต้ดินที่ชื่อ “อันเดอร์กราวด์ ไอเกอร์” ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นการดำลอดที่ยาวที่สุดในโลก

“หลังจากดูสารคดีนั้นแล้ว ผมตัดสินใจทันทีว่าการดำน้ำในถ้ำเป็นสิ่งที่เกิดมาเพื่อผมโดยเฉพาะ”

สแตนตันดำน้ำภายในถ้ำจนได้รับการยอมรับว่าเป็นนักดำถ้ำระดับหัวแถวของโลก เคยเข้าร่วมปฏิบัติการกู้ภัยในหลายประเทศ จนในที่สุดสำนักพระราชวังบักกิงแฮม โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “ออร์เดอร์ ออฟ เดอะ บริทิช เอ็มไพร์” หรือ “เครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิบริทิช” ให้เป็นเกียรติ เมื่อปี 2012
สแตนตันบอกเพียงว่ารู้สึกแปลกใจที่ได้รับการเชิดชู “เพราะผมแค่ทำงานที่ผมรักให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถทำได้เท่านั้น”

ประวัติการดำถ้ำเพื่อการกู้ภัยครั้งสำคัญๆ ของสแตนตันมีมากมาย ที่โด่งดังครั้งหนึ่งคือการเดินทางไปร่วมในปฏิบัติการช่วยเหลือทหารอังกฤษ 6 นายที่ติดอยู่ในถ้ำในประเทศเม็กซิโก เป็นเวลา 8 วัน เมื่อปี 2004 เพราะเกิดน้ำท่วมถ้ำเฉียบพลันเช่นเดียวกับกรณีที่ถ้ำหลวง

“เราต้องใช้เวลานานถึง 9 ชั่วโมงกว่าจะเอาทั้งหมดออกได้” สแตนตันให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ โคเวนตรี เทเลกราฟไว้ในตอนนั้นเมื่อปี 2011 สแตนตันยังได้รับรางวัลเหรียญเกียรติยศจากสำนักงานดับเพลิง เวสต์มิดแลนด์ พร้อมกับตำแหน่ง “วีรบุรุษแห่งปี”

อเล็กซ์ ดิว ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาของสแตนตัน พูดถึงสแตนตันเอาไว้ว่า เป็นคนเยือกเย็น นิ่ง และละเอียดถี่ถ้วนมาก

“ถ้าเด็กๆ หมูป่ามีคนช่วยอย่างเขา รับรองปลอดภัยแน่นอน”

จอห์น โวแลนเธน
ที่ปรึกษาด้านไอที

จอห์น โวแลนเธน (AP Photo)

จอห์น โวแลนเธน อายุ 47 ปี อาชีพประจำเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไอที ในเมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ ซึ่งช่วยให้โวแลนเธนสามารถใช้ชีวิตสุดโต่งอย่างที่ต้องการได้ ตั้งแต่การดำน้ำในถ้ำ ซึ่งสนใจมาตั้งแต่เมื่อได้เรียนรู้ในมหาวิทยาลัย เรื่อยไปจนถึงการวิ่งมาราธอนและการปีนเขา

อย่างไรก็ตาม จิล โวแลนเธน ผู้เป็นมารดา บอกว่า จอห์นเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัวสูงมาก ไม่ค่อยชอบพูด ชอบเล่าเรื่องราวอะไรต่อมิอะไรที่ตัวเองทำลงไป เธอบอกว่า จอห์นคงทึ่งที่คราวนี้ทุกคนในเมืองรู้เรื่องและชื่นชมปฏิบัติการที่เขาทำลงไปที่ถ้ำหลวง

โวแลนเธนเคยบอกกับซันเดย์ ไทม์ ไว้เมื่อปี 2013 ว่าการทำงานกู้ภัยภายในถ้ำจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีสติ ระงับอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

“การตกใจมากไปไม่เหมาะแน่นอน การแตกตื่นกับอะดรีนาลีนอาจดีสำหรับบางสถานการณ์ แต่ไม่ใช่ในการดำน้ำในถ้ำแน่ ในการดำน้ำในถ้ำเรื่องอะดรีนาลีนขอเป็นเรื่องสุดท้าย”

ปี 2010 โวแลนเธนเคยจับคู่กับสแตนตัน ปฏิบัติการค้นหาเพื่อช่วยเหลือเอริค เอสทาบลี นักดำน้ำมืออาชีพและนักสำรวจถ้ำชาวฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจจัดทำแผนที่ถ้ำอาร์แดช กอร์จ ใกล้กับมาร์กเซย์ ประเทศฝรั่งเศส แล้วติดอยู่ภายในถ้ำเพราะก้อนหินถล่มลงมาปิดทางออก

โวแลนเธนกับแสตนตันใช้เวลา 8 วัน หาจนเจอร่างไร้ชีวิตของเอสทาบลี ห่างจากทางเข้าถ้ำไป 780 เมตร

โวแลนเธนบอกว่า เขาตัดสินใจปฏิบัติการหนนี้ทันที เพราะเชื่อว่าถ้ากลับกันเป็นตนเองติดถ้ำอยู่ เอสทาบลีก็คงตัดสินใจช่วยทันทีเช่นกัน

ริชาร์ด แฮร์ริส
หมอนักดำถ้ำ

ริชาร์ด แฮร์ริส (ภาพจาก เฟซบุ๊ก Richard Harris)

นายแพทย์ริชาร์ด แฮร์ริส เป็นวิสัญญีแพทย์ ซึ่งทำงานประจำอยู่กับ “เมดสตาร์” บริการกู้ชีพทางอากาศ ประจำสำนักงานรถพยาบาลเซาธ์ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประสบการณ์การแพทย์ฉุกเฉินที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งในกรณีของเด็กๆ ที่ถ้ำหลวง สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือในเวลาเดียวกัน แฮร์ริส

ยังมีประสบการณ์ดำน้ำ และดำน้ำภายในถ้ำมานานถึง 30 ปี

เมื่อปี 2011 แฮร์ริสเคยเป็นส่วนหนึ่งของทีมในการกู้ชีพที่กลายเป็นการกู้ศพ แอ็กเนส มิโลวกา นักดำน้ำในถ้ำอีกรายออกจากถ้ำ “แทงค์ เคฟ” ในเมืองมิลลิเซนต์

แฮร์ริสมีประสบการณ์ดำน้ำในถ้ำเพื่อการสำรวจทั้งในจีน, หมู่เกาะคริสต์มาส, นิวซีแลนด์ และในออสเตรเลีย และให้ความสนใจเป็นพิเศษในด้านความปลอดภัยในการดำน้ำ รวมทั้งการสืบสวนสอบสวนอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับถ้ำและเทคนิคการดำน้ำอีกด้วย

มีรายงานข่าวระบุว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญนักดำน้ำในถ้ำที่ปฏิบัติการอยู่ที่ถ้ำหลวงก่อนแล้วเป็นผู้เสนอแนะให้ทางการไทยเจาะจงตัวนายแพทย์นักดำน้ำผู้นี้มาร่วมปฏิบัติการเป็นกรณีพิเศษ

และได้รับความร่วมมือด้วยดีจากนายแพทย์ผู้นี้และทางการออสเตรเลีย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image