โกลบอลโฟกัส : ภารกิจ “ท้านรก” ที่ถ้ำหลวง

Thai Navy SEAL - AFP

ภารกิจที่ถ้ำหลวง ซึ่งเกาะกุมความรู้สึกนึกคิดของผู้คนทั่วโลกในช่วง 17-18 วันระหว่างวันที่ 23 มิถุนายนเรื่อยมาจนถึงวันที่ 10 กรกฎาคมนั้น เป็นภารกิจที่ยิ่งได้รับรู้รายละเอียดมากขึ้นเท่าใด ยิ่งตระหนักถึงอันตรายและความเสี่ยงชนิดเอาชีวิตเข้าแลกของทุกคนที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ยิ่งเสี่ยง ยิ่งอันตรายมากเท่าใด เรายิ่งได้ตระหนักถึงความกล้าหาญ การอุทิศตนที่ยิ่งใหญ่ของทุกฟันเฟืองใหญ่น้อยที่ประกอบกันขึ้นเป็นจักรกลขนาดใหญ่ ขับเคลื่อนภารกิจครั้งนี้จนประสบผลสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น

มีองค์ประกอบหลายอย่างที่กอรปกันขึ้นทำให้ภารกิจที่ถ้ำหลวงซับซ้อน ละเอียดอ่อน จนกลายเป็นภารกิจที่ “ยากเย็น” ที่สุดในโลกครั้งหนึ่ง อย่างที่ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ระบุกันไว้

แรกสุดคือสภาพทางกายภาพของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ที่ทำให้ภารกิจนี้ “เสี่ยงตาย” ตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น

Advertisement

ถ้ำหลวง ซอกซอนลึกเข้าไปในภูนางนอน พื้นถ้ำสูงๆ ต่ำๆ คดเคี้่ยว เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อย ตามธรรมชาติของถ้ำที่เกิดขึ้นใต้ภูเขาหินปูน อยู่เหนือกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 300-450 เมตร ภายในถ้ำส่วนที่ลึกกว่าที่ความสว่างจากแสงแดดหน้าปากถ้ำจะส่องเข้าไปถึงนั้นแทบมืดมิด เปิดไฟฉายแรงสูงส่องจี้ไปด้านหน้า จะมองเห็นได้ไม่เกิน 50 เมตรเท่านั้นเอง

ถึงหน้าน้ำในฤดูมรสุมน้ำจะหลากเข้าท่วมพื้นที่ต่ำภายในถ้ำ เปลี่ยนถ้ำหลวงให้กลายเป็นอุโมงค์น้ำสลับกับเนินหิน เชื่อมต่อด้วยโพรงแคบๆไปจนตลอดระยะทางราว 7 กิโลเมตร หลายจุดเต็มไปด้วยน้ำจากพื้นจรดเพดาน

ภายใต้สภาพเช่นนี้ นักดำน้ำต้องดำอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง อาจจะถึง 40, 50 นาที หรือ 1 ชั่วโมง จึงจะสามารถเจอที่เปิดให้โผล่ขึ้นมาหายใจได้

Advertisement

โผล่ขึ้นมาได้แล้วก็ต้องไต่ขึ้นเนิน ลงเนิน แล้วลงดำอีกครั้ง

ที่สำคัญก็คือน้ำในถ้ำหลวงไหลหลาก เชี่ยว ดังนั้นจึงขุ่นข้นอยู่ตลอดเวลาและเมื่อประกอบกับความมืด ทัศนวิสัยใต้น้ำในถ้ำถึง “เป็นศูนย์” ชนิดใช้ไฟฉายใต้น้ำส่องมือตรงหน้ายังมองไม่เห็น

ดำไปหัวกระแทกหินงอก หินย้อยเพดานถ้ำไปตลอดทาง

นั่นคือสิ่งที่ทำให้แม้แต่นักดำน้ำในถ้ำที่มีประสบการณ์ มีความชำนิชำนาญมานานปี ถึงกับออกปากว่าเป็นการดำ “ที่ยากที่สุดในชีวิต” การเป็นนักดำน้ำของตนเอง

สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นก็คือ ถ้านักดำน้ำมากประสบการณ์ถึงกับออกปากอย่างนั้น แล้วหน่วยนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือหน่วยซีลของไทยเล่า? แล้วอดีตหน่วยซีลทั้งหลายที่อาสามาทำงานครั้งนี้เล่า?

คนเหล่านี้ไม่ได้มีประสบการณ์ดำน้ำในถ้ำมาก่อนแม้แต่ครั้งเดียว แล้วจะเอาอะไรมาสู้ เอาอะไรมาแก้ไขปัญหาตรงหน้า?

มีแต่ใช้ “ใจ” อย่างเดียวเท่านั้นครับ

ผมจึงรู้สึกว่าจำเป็นต้องถ่ายทอดความยากลำบากและเสี่ยงตายครั้งนี้ออกมาให้รับรู้กันอีกครั้ง เป็นการแสดงความขอบคุณและคารวะต่อ “ใจ” อันยิ่งใหญ่ของพวกเขาเหล่านี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จ่าแซม” เรือโท สมาน กุนัน ครับ

จ.อ.สมาน กุนัน

******

คนที่ถ่ายทอดความยากลำบากในการดำน้ำที่ถ้ำหลวงออกมาได้อย่างเห็นภาพ เข้าใจกระจ่างแจ้งที่สุดคือ “จอห์น อิสเมย์”

จอห์น อิสเมย์ เป็นผู้สื่อข่าวของ นิวยอร์กไทม์ส เขาเขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวเมื่อ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ภูมิหลังของอิสเมย์ คือนักดำน้ำของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ประจำการช่วงระหว่างปี 2003-2010 มีขีดความสามารถระดับได้รับการยอมรับให้ร่วมอยู่ในทีมดำน้ำทะเลลึก และ ทีมดำน้ำกู้ภัยของกองทัพ

อิสเมย์ เริ่มต้นด้วยการระบุว่า ปฏิบัติการนี้ยากระดับสาหัสยิ่งใน “ทุกๆ ส่วน” เพราะทุกส่วนมีความยากในตัวเอง การที่เป้าหมายในการช่วยเหลือเป็นเด็ก 12 ใน 13 คนมีอายุเพียงแค่ระหว่าง 11 ถึง 16 ปี ที่หลายคนแม้แต่ว่ายยังไม่ว่ายไม่เป็น อย่าว่าแต่ดำน้ำ หรือ ดำถ้ำ เลย

ที่สำคัญ ภารกิจถ้ำหลวงยังต้องแข่งกับ “เวลา” ที่ทำให้ทุกนาทีเปลืองเปล่าไม่ได้เลยอีกต่างหาก

“ทุกอย่างทั้งหมดที่ถ้ำหลวง ต้องแลกกันระหว่างการคำนึงถึงความปลอดภัยที่ปฏิบัติกันมาทั่วไป กับความจำเป็นต้องทำของปฏิบัติการ”

อิสเมย์ บอกว่า เงื่อนไขเฉพาะหน้าเท่านั้นที่เป็นตัวกำหนดทุกอย่างในการตัดสินใจในภารกิจหนนี้

เขาพูดถึงการดำถ้ำ ที่นักดำน้ำทุกคนถือว่าเป็นหนึ่งการการดำที่ยากเย็นและเสี่ยงที่สุดในบรรดาการดำน้ำทุกรูปแบบเอาไว้ว่า ความยากอย่างแรกที่ต้องเผชิญในการดำถ้ำคือการ “ไม่มีช่องให้โผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ”

“นั่นหมายความว่าถ้าคุณเกิดปัญหาฉุกเฉินขึ้นมา คุณจะแค่ทิ้งอุปกรณ์ทุกอย่างแล้วทะลึ่งพรวดขึ้นมาหาผิวน้ำเพื่อสูดอากาศไม่ได้ คุณต้องลอดถ้ำออกไปจนตลอดให้ได้”

ปัญหาที่เผชิญระหว่างการดำถ้ำก็คือ อุปกรณ์สำหรับการดำเกิดไปเกี่ยว หรือไม่ขัดติดอยู่กับหิน หรืออย่างหนึ่งอย่างใด แล้วนักดำน้ำอาจตกอยู่ในสภาพไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองให้หลุดออกมาได้

“ยิ่งมีอุปกรณ์ติดตัวไปมากเท่าใด โอกาสติดอยู่กับหินใต้น้ำยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ผมเชื่อว่า นักดำน้ำที่ถ้ำหลวงทุกคนต้องปลดทุกอย่างออกจนเหลือเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้นเพราะเหตุผลนี้”

ความยากถัดมาคือความมืดที่เกิดขึ้นนอกจากแสงน้อยตามธรรมชาติอยู่แล้ว ยังเป็นเพราะการดำไปก่อกวนให้ตะกอนโคลนเลนกระจายขึ้นมา สภาพโดยธรรมชาติของถ้ำหลวง ยังทำให้น้ำไหลแรงและขุ่นข้นเป็นพิเศษอีกด้วย แม้นักดำน้ำอาชีพจะคุ้นเคยกับสภาพทัศนวิสัยต่ำเช่นนี้ดี แต่เด็กๆ ที่ต้องเข้าไปช่วยไม่ได้คุ้นเคยกับสภาพนี้ เชือกนำทาง หรือไกด์ไลน์จึงเป็นสิ่งจำเป็น

อิสเมย์ ย้ำว่า การดำถ้ำด้วยอุปกรณ์ดำน้ำสคูบา เป็นความเสี่ยงใหญ่หลวง ชนิดที่ ไม่เคยมีทหารหน่วยไหนของสหรัฐอเมริกาฝึกดำในสภาพเช่นนี้

แม้แต่การดำชนิดที่ใกล้เคียง ซึ่งเรียกกันว่า “การดำในพื้นที่ปิด” อาทิ การดำเข้าไปในสำรวจซากเรือใต้ทะเล หรือการดำเข้าไปในอับเฉา หรือบอลลาสต์ของเรือดำน้ำ ทางกองทัพก็ “ห้าม” ใช้อุปกรณ์สคูบามาดำ

“แต่สำหรับที่ถ้ำหลวง ผมคิดว่าพวกเขามีทางเลือกนี้เพียงทางเดียวเท่านั้น” อิสเมย์ระบุ

******

โทบี้ แฮมเนทท์ ผู้เชี่ยวชาญการกู้ภัยภายในถ้ำ จากสภากู้ภัยภายในถ้ำแห่งอังกฤษ (บีซีอาร์ซี) บอกกับ เอบีซี นิวส์ ออสเตรเลียหลังจากภารกิจหนนี้แล้วเสร็จลงอย่างด้วยดีว่า “ผมคิดว่านี่คือหนึ่งในปฏิบัติการกู้ภัยที่ยากที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นกันมา” และ “โอกาสที่จะเกิดอะไรขึ้นในแบบเดียวกันนี้ในอนาคต มีน้อยมาก น้อยอย่างยิ่งจริงๆ”

ในรายการเดียวกันนั้น นายแพทย์ ปีเตอร์ โรเจอร์ อาจารย์แพทย์ทางนรีเวช ของมหาวิทยาลัย เมลเบิร์น ซึ่งมีประสบการณ์การดำน้ำกู้ภัยภายในถ้ำมานานปี ยอมรับตรงไปตรงมาว่า ตั้งแต่แรกสุดตนไม่เคยคิดว่า ภารกิจช่วยเหลือ เด็กๆ และโค้ชทั้ง 13 คน “จะลงเอยด้วยดี”

“ผมไม่เคยบอกใครออกมา แต่การดำน้ำเพื่อกู้ภัยในถ้ำส่วนใหญ่มักไม่ได้ลงเอยด้วยดี” ซึ่งทำให้ “กลัวจับใจ” ว่าจะหาน้องๆ หมูป่าทั้งทีมไม่พบ

แม้แต่เมื่อถึงวันที่พบตัวแล้ว “อุปสรรคน่ากลัวทั้งหลายยังมีมหาศาลมาก” จนเกินกว่าที่จะคาดหวังในทางที่ดีได้

“จนถึงวันที่เด็กคนแรกถูกนำตัวออกมาได้นั่นแหละ ผมถึงเชื่อว่าทีมกู้ภัยครั้งนี้ทำได้ เชื่อว่าคงเอาตัวพวกเขาทั้งหมดออกมาได้”

ในฐานะแพทย์ คุณหมอโรเจอร์ บอกว่า การเอาเด็ก 11-16 ปีดำน้ำออกมาในสภาวะการณ์แบบที่แม้แต่นักดำน้ำมากประสบการณ์เองยังออกปากว่าสาหัสนั้น น่าจะเป็นวิธีการสุดท้ายในหลายๆวิธีที่จะใช้ช่วยเหลือ

แต่ทีมกู้ภัยต้องตัดสินใจใช้แผนนี้เพราะ “หลังพิงฝาแล้ว” ไม่อย่างนั้น ทุกคนคงจมน้ำตายอยู่ในถ้ำหลวงนั่นแหละ คุณหมอเชื่ออย่างนั้น

“ถ้าเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ ผมเชื่อว่าคนดูมาถึงตอนนี้ คงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นพล็อตเรื่องที่เป็นไม่ได้เอาเลย”

คุณหมอชื่นชม “โค้ชเอก” เป็นพิเศษ เห็นว่า ทั้งตัวโค้ช ทั้งเด็กทุกคนควรภูมิใจในสิ่งที่ทุกคนช่วยกันฝ่าฟันกันมา ไม่แตกตื่นตกใจ เอาตัวรอดมาโดยใช้เหตุใช้ผล ไม่ระห่ำสิ้นคิด ซึ่งยากมากที่จะเกิดขึ้นกับคนที่อยู่ในสภาพสิ้นหวัง ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

โค้ชเอก “คือหนึ่งในฮีโร่คนสำคัญในเหตุการณ์นี้” คุณหมอโรเจอร์บอก

โทบี้ แฮมเนทท์ ชื่นชมกับความกล้าหาญ มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของ “จ่าแซม” ที่มีส่วนในการ “ช่วยให้ภารกิจครั้งนี้เป็นไปได้”

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “จ่าแซม” จะได้รับการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน เพื่อนำมาใช้เป็นบทเรียนสำหรับป้องกันไม่ให้เหตุน่าเศร้าเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในปฏิบัติการทั้งหลายในอนาคต

เช่นเดียวกับภารกิจท้าทายความตายทั้งหมดครั้งนี้ที่จะ “เป็นต้นแบบในการแสดงให้เห็นว่า การทำภารกิจอันตรายนั้นต้องทำอย่างไร”

นายแพทย์โรเจอร์ บอกว่า ปฏิบัติการที่ถ้ำหลวง ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ จำเป็นต้องมีการประสานงานกันชนิดแนบเนียนสูงสุด ทั้งภายนอกและภายในถ้ำ ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้มากมายในหลายๆ จุด ตั้งแต่เรื่องอุปสรรคทางภาษา เรื่องของวิธีการทำงานที่แตกต่าง ซึ่งแต่ละคนคุ้นเคยกันมา

ที่สำคัญที่สุดคือ การตัดสินใจทุกครั้ง ต้องแม่นยำและตรงเป้าถึงขีดสุด เพราะทุกครั้งหมายถึงความเป็นความตาย ทั้งของผู้ปฏิบัติงานและเป้าหมายที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ

ด้วยหัวใจและความมุ่งมั่นที่ยิ่งใหญ่ควรค่าแก่การยกย่องทุกคนอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image