คอลัมน์ วิเทศวิถี : เอเอ็มเอ็ม 51

ผ่านพ้นกันไปแล้วสำหรับการประชุมที่ถือว่าใหญ่ที่สุดของอาเซียน หากนับกันที่จำนวนผู้แทนประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่เดินทางมาเข้าร่วมประชุม นั่นคือการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน(เอเอ็มเอ็ม) ครั้งที่ 51 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ประเทศสิงคโปร์ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งนอกจากรัฐมนตรีจากประะเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว ยังมีรัฐมนตรีจากประเทศคู่เจรจาและองค์การระหว่างประเทศอีกมากมายหลายสิบประเทศที่เดินทางมาร่วมประชุมกับอาเซียนเป็นประจำทุกปี

สิงคโปร์ซึ่งรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปีนี้จัดการประชุมในลักษณะเช่นเดียวกับการพบปะหารือกันทางธุรกิจ นั่นคือใช้เวลาสั้น กระชับ เน้นสาระ ไม่เน้นการแสดงทางวัฒนธรรม แม้แต่เอกสารต่างๆ ซึ่งเป็นผลลัพท์ของที่ประชุมก็สามารถได้ข้อยุติเผยแพร่ได้ในวันเดียวกันหลังการประชุมยุติลง ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้ประเทศเจ้าภาพอย่างสิงคโปร์

ไม่เพียงแต่การประชุมอันเรียบง่าย แม้แต่การจับมือตามธรรมเนียมปฏิบัติของ “อาเซียน” ที่ผู้แทนต้องไขว้แขวนจับมือกันก่อนการประชุมจะเริ่มต้นขึ้น ยังถูกแปรสภาพกลายเป็นการ “โบกมือและยิ้ม” ให้ช่างภาพเก็บภาพเท่านั้น ทำเอาชาติสมาชิกหลายประเทศบ่นอุบถึงความเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่อาจถือเป็นเอกลักษณ์ของอาเซียนอย่างหนึ่ง ซึ่งคาดว่าหลังสิงคโปร์ส่งมอบการเป็นเจ้าภาพอาเซียนต่อให้กับไทย ธรรมเนียบปฎิบัติเดิมของอาเซียนก็น่าจะได้นำกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง แค่ดูจากสีหน้ารัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกลุ่มน้ำโขงที่ได้จับมือถ่ายภาพหมู่แบบเดิมๆ ในการประชุมกรอบแม่น้ำโขงกับหลายประเทศ ก็น่าจะบ่งบอกถึงความรู้สึกอบอุ่นคุ้นเคยกับท่าจับมือแบบอาเซียนได้อย่างชัดเจน

Advertisement

การประชุมเอเอ็มเอ็มทุกปี สิ่งที่กลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับจ้องมองมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้นการเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก(เออาร์เอฟ)ของเกาหลีเหนือ เช่นเดียวกับในปีนี้ที่นายรี ยอง โฮ รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ ได้รับความสนใจอย่างยิ่งและได้มีการเดินสายพบปะหารือทวิภาคีกับประเทศต่างๆ มากมายระหว่างที่อยู่ในสิงคโปร์ การดำเนินการของเกาหลีเหนือนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประเทศต่างๆ และหาแนวร่วมที่จะช่วยสนับสนุนให้มีการผ่อนปรนการดำเนินนโยบายเข้มงวดหรือการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือที่นำโดยสหรัฐ

ดูเหมือนว่าจะมีความไม่พอใจเพิ่มขึ้นจากฝ่ายเกาหนีเหนือที่มองว่าควรต้องมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ต่อเกาหลีเหนือ หลังจากที่เกาหลีเหนือได้ดำเนินการที่ถือเป็นการแสดงความจริงใจต่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีไปแล้วในระดับหนึ่ง ถึงขนาดที่ถ้อยแถลงของนายรีต่อเวทีเออาร์เอฟยังมีการกล่าวหาสหรัฐว่าไม่ทำตามความตกลงระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและผู้นำสหรัฐในการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างผู้นำทั้ง 2 ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งยังระบุว่าสหรัฐยังก้าวถอยหลังไปสู่จิตเจตนาเก่าๆ และยังคงจะใช้มาตรการกดดันอย่างเข้มข้นต่อเกาหลีเหนือ ทั้งยังกดดันไม่ให้ประเทศต่างๆ ส่งผู้แทนระดับสูงไปเข้าร่วมการฉลองการก่อตั้งประเทศเกาหลีเหนือครบ 70 ปีด้วย ซึ่งไม่ใช่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันแต่อย่างใด พร้อมกับย้ำว่าการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่ผู้นำทั้งสองได้ตกลงกันไว้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ทั้งยังย้ำถึงนโยบาย “ช้าแต่ชัวร์” และจะต้องมีการดำเนินการต่างๆ ทีละขั้นทีละตอน

แม้จะไม่มีการหารือระหว่างนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กับรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือระหว่างการเดินทางมาเข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในครั้งนี้ แต่ดูเหมือนภาพการจับมือกับระหว่างรัฐมนตรีทั้งสองขณะถ่ายภาพหมู่ก่อนการประชุมเออาร์เอฟ จะกลายเป็นภาพที่ได้รับความสนใจมากที่สุดภาพหนึ่งในการประชุมครั้งนี้ ก็สะท้อนให้เห็นว่าบรรยากาศระหว่างสองชาติก็ไม่ได้เลวร้ายย่ำแย่เท่าใดนัก ซึ่งทุกฝ่ายต่างคาดหวังว่ากระบวนการสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีจะยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ขณะที่บรรยากาศการหารือโดยรวมก็เป็นไปด้วยดี

Advertisement

อีกหนึ่งในพัฒนาการที่น่าสนใจที่สุดน่าจะเป็นการที่อาเซียนและจีนสามารถบรรลุข้อตกลงในการรับร่างการเจรจาฉบับเดียวเพื่อการหารือในการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้(Single Draft COC Negotiating Text) ซึ่งแน่นอนว่าแม้จะไม่ใช่เอกสารสุดท้าย แต่ก็ถือเป็นครั้งแรกที่อาเซียนและจีนจะมีร่างเอกสารเพื่อการพิจารณาร่วมกันในการจัดทำซีโอซีเพียงฉบับเดียว และยังเป็นร่างเอกสารที่ฝ่ายอาเซียนเป็นผู้ยกร่างขึ้นด้วย

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้สั่งให้มีการเร่งกระบวนการเจรจาเพื่อจัดทำซีโอซี โดยมอบหมายให้คณะทำงานร่วมระหว่างอาเซียน-จีน หารือกันปีละ 4 ครั้ง แน่นอนว่าทุกฝ่ายตระหนักดีว่าการเจรจาเช่นนี้ไม่อาจหาข้อสรุปได้ในชั่วข้ามคืน แต่การรักษาพลวัตรในการเจรจาให้เกิดความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งอาเซียนและจีน รวมถึงประเทศที่ใช้ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางเดินเรือทั้งหมด

ดังที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พูดถึงหลักการ 3 พีในการดำเนินการต่อกรณีทะเลจีนใต้ในมุมที่สร้างสรรค์ ประกอบด้วย prevention protection และ partnership ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การดำเนินมาตรการการทูตเชิงป้องกันเพื่อไม่ให้เรื่องลุกลามบานปลาย การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทั้งปวงขึ้น สุดท้ายเมื่อหันหน้ามาคุยกัน ทำอะไรร่วมกัน ก็จะเกิดความเข้าใจกันเป็นพื้นฐาน และนำไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนกันต่อไป

ประเด็นสถานการณ์ในรัฐยะไข่และการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจากลับประเทศพม่า เป็นอีกประเด็นที่มีการพูดคุยกันอย่างเผ็ดร้อน เพราะหลายฝ่ายยังกังวลถึงความล่าช้าของการดำเนินการ ซึ่งจะส่งผลเสียและอาจทำให้เกิดการหลั่งไหลของผู้อพยพชาวโรฮีนจาอีกครั้ง เมื่อคำนึงว่าขณะนี้เป็นฤดูมรสุมที่จะซ้ำเติมให้สถานการณ์ในค่ายผู้อพยพของบังกลาเทศที่เลวร้ายอยู่แล้วยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

อีกเรื่องที่อาเซียนได้รับความสนใจคือการผลักดันความร่วมมืออินโด-แปซิฟิก ในส่วนของอาเซียนเองยังถือว่าเป็นเพียงแนวคิดที่มีการพูดกันขึ้นมา ซึ่งจนถึงขณะนี้อาเซียนยังไม่มีร่างแนวคิดของอาเซียนเองที่ชัดเจน แต่ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ปลัดกระทรวงต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียน ได้รับมอบหมายให้ไปหารือกันเกี่ยวกับรายละเอียดของแนวคิดดังกล่าว ภายใต้การเป็นหัวหอกผลักดันของอินโดนีเซีย

สำหรับประเทศไทยที่กำลังจะรับไม้การเป็นประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ นอกจากจะมีการแจ้งช่วงระยะเวลาการจัดประชุมสำคัญตลอดปีหน้าให้ชาติสมาชิกรับทราบเพื่อนำไปพิจารณาเปรียบเทียมช่วงเวลาว่างของผู้นำประเทศสมาชิก ก่อนที่จะสรุปวันจัดประชุมต่างๆ ที่ชัดเจนได้ต่อไปแล้ว การประชุมที่สิงคโปร์ในครั้งนี้ยังเป็นโอกาสให้คณะทำงานเพื่อเตรียมการสำหรับการเป็นเจ้าภาพอาเซียนของไทยในปีนี้ไปศึกษาดูงานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 ซึ่งไม่ว่าสถานการณ์ในประเทศจะเป็นอย่างไร ณ วันนั้น นายดอนได้ย้ำว่า การเป็นประธานอาเซียนของไทยไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล ไม่ว่าใครที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image