รายงานพิเศษ : 50 ปีของไทยในอาเซียน

วันที่ 8 สิงหาคมของทุกปีคือ “วันอาเซียน” ซึ่งกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ จะจัดงานเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญดังกล่าว เช่นเดียวกับในปีนี้ที่มีการจัดงานวันอาเซียนขึ้นที่วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบการก่อตั้งอาเซียนปีที่ 51 ของอาเซียน ซึ่งในปีนี้ให้ความสำคัญหลักไปที่การเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 ซึ่งจะเวียนมาบรรจบทุก 10 ปี

ในงานมีการจัดพิธีเชิญธงอาเซียนขึ้นสู่เสา โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการการทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธี และมีเอกอัครราชทูตจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงบุคคลสำคัญที่อยู่ในแวดวงอาเซียนของไทยเข้าร่วม

ในงานยังมีการแข่งขันตอบปัญหาทั่วไปเกี่ยวกับอาเซียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้อื่นๆ อีกมากมาย พร้อมกับสอดแทรกกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ อาทิ การใช้สูจิบัตรและสมุดบันทึกที่ผลิตจากกระดาษรีไซเคิล บรรจุภัณฑ์อาหารว่างและอาหารกลางวันทำจากวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ ทั้งยังมีการบริการจุดเติมน้ำและแจกกระบอกน้ำ เพื่อลดการใช้แก้วและขวดพลาสติกภายในงาน โดยมีนักเรียนและคณะครูกว่า 300 คน จาก 83 โรงเรียนจากทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนในระดับเยาวชนอย่างสนุกสนาน

ที่สำคัญในงานยังมีการเปิดตัวหนังสือ “50 ปีของไทยในอาเซียน” ซึ่งกรมอาเซียนตั้งใจทำขึ้นเพื่อบอกเล่าถึงบทบาทของไทยตั้งแต่การก่อตั้งอาเซียนในปี 2510 ผ่านการบอกเล่าจากบุคลากรสำคัญทางการทูตของไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการก่อตั้งอาเซียนมาตั้งแต่เริ่มแรก จนถึงผู้ที่มีส่วนสำคัญในการรับไม้ต่อและอยู่ในกระบวนการก่อร่างสร้างอาเซียน ผ่านปัญหาในช่วงเวลาที่ท้าทายไปจนถึงความขัดแย้งที่สั่นคลอนภูมิภาค จนก้าวขึ้นมาเป็นองค์กรความร่วมมือหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแท้จริง ก่อนที่จะกลายเป็น “ประชาคมอาเซียน” เช่นในปัจจุบัน

Advertisement

ไม่เกินจริงหากจะบอกว่านี่คือหนังสือที่บอกเล่าความเป็นมาเป็นไป วิวัฒนาการในทุกระยะ รวมถึงอนาคตและความท้าทายของอาเซียนที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งจากคำบอกเล่าของผู้ทำงานตัวจริง ที่จะทำให้เราเข้าใจว่าอาเซียนเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนทุกคนได้อย่างลึกซึ้งและกว้างขวางกว่าที่คิดเพียงใด

ไม่เพียงแต่ผู้สนใจในอาเซียนต้องหามาอ่าน แม้แต่ผู้ที่ไม่เคยรู้จักและเข้าใจในอาเซียนที่เรากำลังเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในขณะนี้ก็ควรต้องอ่านด้วยเช่นกัน ผู้ที่สนใจสามารถอ่านหนังสือที่ถือว่าทรงคุณค่าเล่มนี้ได้อย่างง่ายดายเพราะกรมอาเซียนได้จัดทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ http://www.mfa.go.th/asean/th/information/88218-THAILAND50ASEAN.html

Advertisement

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานในการเปิดตัวหนังสือ และยังมีการเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “วาระประธานอาเซียนของไทยในปี 2562: โอกาสและความท้าทาย” โดย นายสุริยา จินดาวงษ์ อธิบดีกรมอาเซียน กล่าวว่า ไทยมีบทบาทที่สำคัญทั้งในด้านการเมืองความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรมมาตลอด 50 ปีที่ผ่านมาของอาเซียน ตั้งแต่บทบาทการดับไฟ(putting out fire)ในการแก้ไขและรับมือกับวิกฤตการณ์ เช่น เรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงในช่วงความขัดแย้งในอินโดจีนระหว่างเพื่อนบ้านของเราซึ่งไทยได้รับผลกระทบจึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงกรุงปารีส (Paris Agreement) ที่นำไปสู่สันติภาพในระยะยาว ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยเข้ามามีบทบาทโดยการขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือ อาทิ อาเซียนบวก 3 และข้อริเริ่มเชียงใหม่ ในปีหน้าที่ไทยรับหน้าที่ประธานอาเซียน เราจะให้ความสำคัญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่และเก่าที่ยังคงมีอยู่ หรือภัยคุกคามในระดับภูมิภาคหรือโลก อาทิ ประเด็นเรื่องสงครามการค้าในปัจจุบัน ตลอดจนการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์และพื้นที่ทางทหารในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในปัจจุบัน ในฐานะประธานอาเซียนฯ ต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ เหล่านี้

ประการต่อมาคือหน้าที่ในการสร้างสะพานเชื่อม (bridge building role) ด้วยการผสมผสานแนวคิดของประเทศต่างๆ ให้เกิดเป็นแนวคิดที่ทุกคนรับได้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน โดยหาสมดุลระหว่างประโยชน์ของไทยกับประเทศสมาชิกอื่นๆ เช่น บทบาทของ อาเซียนในด้านภัยพิบัติ เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2548 และไซโคลนนาร์กีซ ในปี 2551 ที่ทำให้เกิดความช่วยเหลือลักษณะ 3 ฝ่าย (tripartite) ที่ประกอบด้วย เมียนมา-อาเซียน-สหประชาชาติ จนนำมาซึ่งการรับมือกับภัยพิบัติของอาเซียน และการปรับใช้กับ วิกฤตการณ์อื่นๆ ในปีหน้า ไทยจะยังคงทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่ต่อไป อาทิ การดำเนินการเพื่อให้เจรจา ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)ให้แล้วเสร็จ

ไทยยังมีบทบาทในการสร้างระบบที่ช่วยยกระดับให้กับ อาเซียน (systemic role) ตั้งแต่การก่อตั้งอาเซียน การริเริ่มระบบเขตการค้าเสรีในอาเซียน(อาฟตา) การประชุมเออาร์เอฟ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้ดึงประเทศต่างๆ มาหารือกันเกี่ยวกับประเด็นด้านการเมืองและความมั่นคง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในอดีต ทั้งยังริเริ่มให้เกาหลีเหนือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเออาร์เอฟในการประชุมที่ไทย ซึ่งเป็นช่องทางที่ช่วยลดความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี แน่นอนว่าในปีหน้าไทยจะมีบทบาทในมิติดังกล่าวต่อไป โดยเฉพาะในการผลักดันให้เกิดความยั่งยืนทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียนต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ไทยไม่ได้เป็นผู้นำในอาเซียน แต่เป็นตัวเร่งปฎิกริยา(catalyst) ให้กับอาเซียนเพื่อเป็นมรดกตกทอดให้กับอาเซียนต่อไปในอนาคต

ด้านนางจริยา ปิ่นทอง นายกสมาคมอาเซียน ประเทศไทย กล่าวถึงความท้าทายในภูมิภาคอาเซียนปัจจุบันว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางไซเบอร์ เป็นเรื่องที่ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนต้องปรับตัว ขณะเดียวกันมีความห่วงใยในประเด็นเกี่ยวกับการแข่งขันเพื่อจะเป็นประเทศผู้นำของอาเซียน อาจจะส่งผลต่อความเป็นเอกภาพและอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมถึงการที่จีนเข้ามามีบทบาทในอาเซียน รวมไปถึงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่อาจถูกมองว่าแย่งความสนใจไปจากอาเซียน แต่ในความเป็นจริงต้องมองผลประโยชน์ของประชาชนอาเซียนมาเป็นที่หนึ่ง และความร่วมมือในอนุภูมิภาคจะต้องเกื้อหนุนการดำเนินงานในกรอบอาเซียน

50 ปีที่ผ่านมา อาเซียนผ่านร้อนผ่านหนาวร่วมกันมามาก แต่เชื่อว่าแม้จะมีความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้ามากเพียงไร หากอาเซียนยังจับมือกันไว้ให้แน่น อาเซียนก็จะยังคงเป็นผู้เล่นหลักและเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนความร่วมมือในภูมิภาคต่อไป ดังที่รัฐมนตรีดอนกล่าวระหว่างเปิดงานวันอาเซียนในปีนี้ว่า ความเป็นแกนกลางของอาเซียนจะเกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับได้ ต้องมาจากเอกภาพภายในอาเซียนนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image