‘นายชาตรี อรรจนานันท์’ อธิบดีกรมการกงสุล เปิดแนวคิดการทำงานเพื่อประชาชน (1)

นายชาตรี อรรจนานันท์

หมายเหตุ – งานของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวข้องกับการให้บริการและการดูแลทุกข์สุขของประชาชนทั้งในและนอกประเทศอย่างใกล้ชิด ‘มติชน’ ได้พูดคุยกับอธิบดีกรมการกงสุล ถึงแผนการต่างๆ ที่จะพัฒนาการให้บริการและการดูแลคนไทยในหลากหลายมิติ

หากพูดถึงกรมการกงสุลในปัจจุบัน คนมักจะนึกถึงการดูแลคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ รวมถึงคนไทยที่มีปัญหาในอีกหลายปนะเทศ อาทิ เรื่องผีน้อยในเกาหลีใต้ กรมการกงสุลได้ดำเนินการในเรื่องเหล่านี้อย่างไรบ้าง

งานด้านการคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศถือเป็นความท้าทาย ปัจจุบันมีคนสัญชาติไทยอยู่ในต่างประเทศราว 1.3 – 1.6 ล้านคน มีทั้งที่ไปอย่างถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ที่อยู่อย่างผิดกฎหมายอาจจะสร้างปัญหา ทำให้เราต้องเตรียมการเพื่อรับมือในด้านต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่เดินทางโดยสุจริตเกิดปัญหาตามมา

ปัจจุบันมีอีก 5-10 ประเทศที่พร้อมจะหารือเพื่อทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง(ยกเว้นวีซ่า)กับไทย แต่หากหลังบ้านเรายังควบคุมไม่ได้ก็จะเป็นปัญหา เกิดการทำ “ไร่เลื่อนลอย” แบบผู้ที่เดินทางไปขายแรงงานที่เกาหลีใต้หรือบาห์เรน ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้ที่เดินทางโดยสุจริต

Advertisement

ดังนั้นเบื้องต้นต้องมีการบูรณาการตั้งแต่ในประเทศ โดยเฉพาะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่จะต้องมีการประสานงานกัน เพราะกระทรวงการต่างประเทศถือเป็นปลายทาง ดังนั้นเราจึงต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทางให้ได้

กรมการกงสุลยังได้ริเริ่มเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เกี่ยวกับการดูแลคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศให้มาหารือกัน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอีกด้วย เพราะแม้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่มากแต่ส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศไทย

ขณะเดียวกันในส่วนของคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ กรมการกงสุลได้ตั้งคณะทำงานสหวิชาชีพ เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการให้ความช่วยเหลือและให้ความรู้กับคนไทยในต่างประเทศ เช่น มีการเชิญแพทย์และนักกฎหมายไปพูดให้ความรู้กับคนไทยในต่างแดน หรือมีการฝึกอาชีพให้กับคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ เพื่อให้คนไทยเหล่านั้นสามารถประกอบอาชีพได้โดยไม่ผิดกฎหมายของประเทศที่ไปพำนักอยู่ อาทิ จัดดอกไม้ หรือเพนท์เล็บ

Advertisement

คณะกรรมการสหวิชาชีพจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรมการกงสุลสัญจรเพื่อไปเยี่ยมเยียนชุมชนไทยที่มีอยู่ในต่างแดน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่กรมการกงสุลดำเนินการอยู่เป็นประจำ และเราเปิดกว้างรับหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศให้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน เนื่องจากกรมการกงสุลมีทั้งงบประมาณ กลไก และความพร้อม และจะยังเป็นการบูรณาการแผนงานของหน่วยงานต่างๆ ของไทยให้สอดคล้องและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกด้วย

สำหรับกรณีที่บอกว่าเป็นปัญหาของคนไทยในต่างประเทศนั้น ต้องบอกก่อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดก็จะเกิดจากคนเพียง 1% ของคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศราวปีละ 20 ล้านคน เราต้องแก้ไขปัญหาเพื่อให้คนไทยที่เหลือสามารถเดินทางได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความสะดวก และมีภาพลักษณ์ที่ดี

โดยในปัญหา 1% ที่พบมีตั้งแต่ไปค้าบริการซึ่งครอบคลุมถึงการค้ามนุษย์และไปค้าแรงงาน อย่างกรณีเกาหลีใต้ ขณะนี้เรามีความร่วมมือกับกรมการกงสุลของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นกลไกในระดับอธิบดีเพื่อหารือกันที่จะหาทางแก้ไขปัญหา เราได้มีการหารือและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาระหว่างกันไปแล้ว อาทิ การลดเวลาการให้วีซ่าฟรีลงเหลือน้อยกว่า 90 วัน ให้ทางเกาหลีส่งคนมาคัดกรองผู้เดินทางตั้งแต่ในประเทศไทยร่วมกับทางสายการบิน รวมถึงการตรวจสอบก่อนการเดินทางซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศทำกัน

นอกจากนี้ยังมีการหารือไปถึงการดูแลผู้ที่ถูกห้ามเข้าเมือง ซึ่งเจ้าหน้าที่กงสุลของไทยไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้เพราะยังไม่เดินทางเข้าประเทศ โดยขอให้ฝ่ายเกาหลีใต้จัดสถานที่ให้อยู่ระหว่างรอขึ้นเครื่องกลับ พร้อมทั้งจัดล่ามให้ด้วย

ในปีหน้ามีกำหนดจะหารือในระดับอธิบดีกับทางกรมการกงสุลเกาหลีใต้อีกครั้งหนึ่ง แต่ระหว่างนั้นก็มีการหารือติดตามผลความคืบหน้าระหว่างหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การหารือของรองอธิบดีกรมการกงสุล และการแลกเปลี่ยนการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของทั้งสองประเทศ ขณะนี้ทราบว่าทางเกาหลีใต้พร้อมส่งคนมาอยู่ที่สนามบินเพื่อคัดกรองตั้งแต่ต้นทางแล้ว

เมื่อไม่นานมานี้้มีการประชุมเจ้าหน้าที่กงสุลไทยทั่วโลก มีการพูดคุยกันในเรื่องใดบ้าง

สิ่งแรกที่ได้คุยกันคือนโยบาย Zero Copy คือลดการใช้สำเนาเอกสารในการติดต่อราชการ ซึ่งกองหนังสือเดินทาง กรมการกงสุล ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว สำหรับงานด้านอื่นๆ อาทิกองสัญชาติและนิติกรผู้มาใช้บริการอาจต้องมีการเตรียมเอกสารของตนเองมาเพราะต้องนำไปใช้งานต่อ แต่ในส่วนของการติดต่อกับราชการกับทางกรมให้ใช้เพียงบัตรประชาชนเท่านั้น

ขณะนี้เราได้ส่งเสริมให้สถานทูตแต่ละแห่งในต่างประเทศไม่ต้องติดตั้งเครื่องถ่ายเอกสาร เพราะบัตรประชาชนหนึ่งใบเมื่อนำมาเสียบเข้ากับเครื่องอ่านบัตร ก็สามารถเชื่อมโยงกับสำนักทะเบียนราษฎร์ ได้เลย ภายในกรมดำเนินนโยบายนี้อยู่แล้ว แต่ในส่วนของต่างประเทศ โยบายดังกล่าวถือเป็นเป้าหมายในอนาคต เพราะต้องยอมรับว่าคนไทยในต่างประเทศไม่ได้มีบัตรประชาชนทุกคน อาทิ คนไทยที่เกิดในต่างประเทศแล้วยังไม่ได้กลับมาทำบัตรประชาชน จึงได้มอบเป็นนโยบายที่ประชุมกงสุลทั่วโลกให้รายงานข้อติดขัดเข้ามาให้ทราบ เพื่อจะได้ปรับปรุงการทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป

ประการต่อมาเรื่องอี-วีซ่า ขณะนี้ประเทศไทยที่เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวจากจีนจำนวนมาก แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอยากให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นอีกจึงเจอปัญหาว่าเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามาก อาทิ จากจำนวนนักท่องเที่ยว 30-40 ล้านคนเป็นจีน 10 กว่าล้านคน เราจะอำนวยความสะดวกในการตรวจลงตราให้กับนักท่องเที่ยวจีนได้อย่างไร

ปัจจุบันมีการอนุญาตให้สามารถขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival ) เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงประเทศไทยแต่ยังอาจมีความล่าช้า ขณะที่การยื่นขอวีซ่าตามสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ ซึ่งมีคนไปยืนเป็นจำนวนมากก็อาจทำให้เกิดปัญหาคอขวด กรมการกงสุลจะมีแผนระยะยาวที่จะทำอี-วีซ่าให้กับนักท่องเที่ยว

การออกอี-วีซ่าจะทำเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกคือการเปิดให้มีการยื่นเรื่องออนไลน์ซึ่งจะมีการทดลองใช้ใน 4 ประเทศทั่วโลกภายในสิ้นปีนี้เพื่อลดภาระงาน แต่ยังต้องมีการมาติดสติกเกอร์ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย ระยะที่สองคือการเปิดให้มีการจ่ายเงินผ่านอีเพย์เมนท์ และระยะที่ 3 คือการออกอี-วีซ่าออนไลน์ที่ไม่ต้องมาติดสติกเกอร์ก่อนเดินทางเข้าไทย

อย่างไรก็ดีกว่ากระบวนการดำเนินการขั้นตอนต่างๆจะแล้วเสร็จน่าจะใช้เวลาภายใน 3 ปีจึงจะสามารถทดสอบระบบได้เนื่องจากมีประเด็นภายในที่เราจะต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเสียก่อน โดยกรมได้ว่าจ้างคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ศึกษาว่าจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายฉบับใดบ้าง ซึ่งขณะนี้ผลการศึกษาแล้วเสร็จแล้ว ประเด็นหลักคือต้องมีการแก้ไขกฎหมายพรบ.คนเข้าเมือง ซึ่งต้องมีการหารือกับกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้รักษากฎหมายต่อไป

เบื้องต้นทางกรมได้มีการส่งรายงานผลการศึกษา รวมถึงพูดคุยกับกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองแล้วว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ดังนั้นคาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าน่าจะสามารถออกอี-วีซ่าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นได้

สถานเอกอัครราชทูตที่เราเลือกเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งจะเริ่มจากจีน อังกฤษ และฝรั่งเศส ตามด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นสถานทูตที่เราเห็นว่ามีความพร้อม เพราะมีระบบอินเตอร์เน็ตที่เสถียรโดยภายใน 1 ปีจากนี้ จะมีการเริ่มต้นการออกอี-วีซ่า และหลังจากการทดสอบระบบว่ามีความเสถียรก็จะขยายไปครอบคลุมประเทศอื่นๆ ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image