‘#MeToo’ เมื่อโซเชียลมีเดีย พลิกโฉมหน้าสังคม

ภายในระยะเวลาเพียงไม่ช้าไม่นาน #MeToo (แฮชแท็กมีทู) ซึ่งเริ่มต้นง่ายๆจากการกระตุ้นให้บรรดาสตรีทั้งหลายออกมายอมรับและเปิดเผยการตกเป็นเหยื่อของทั้งการ “คุกคามทางเพศ” (sexual harassment) และการ “ล่วงละเมิดทางเพศ” (sexual assault) ผ่านแฮชแท็กทวิตเตอร์นี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ปัญหาทั้งสองประการดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ที่แพร่ระบาดอย่างกว้างขวางขนาดไหนในสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะในสถานที่ทำงาน

ได้แปรสภาพเป็นพลังเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีอานุภาพสูง ส่งผลสะเทือนไปในหลายวงการ ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงการเมืองการปกครอง ขยายตัวออกจากสหรัฐอเมริกากลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในหลายสิบประเทศ รวมทั้งประเทศที่โดยจารีตประเพณีแล้ว สตรีเป็นเพียงบุคคลชั้นสองในสังคมเท่านั้น

ผู้เริ่มต้นใช้ วลี MeToo บนทวิตเตอร์เป็นครั้งแรกคือ อลิสซา มิลาโน ดาราสาวชาวอเมริกัน แต่นั่นไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของการใช้วลีนี้เพื่อสะท้อนปัญหาป่วยไข้ของสังคมทำนองนี้ มิลาโนเอง ยอมรับว่า ได้แรงบันดาลใจจากการใช้วลีนี้เพื่อสังคมของ

ทารานา เบิร์ค นักเคลื่อนไหวทางสังคมผิวสีในพื้นที่ “บรองซ์” ชุมชนผิวดำขนาดใหญ่ที่โด่งดังไปทั่วโลกในนิวยอร์ก

Advertisement

ทารานา เบิร์ค ใช้วลีนี้ครั้งแรกในโซเชียล มีเดียเช่นเดียวกันแต่เป็นแพลตฟอร์ม “มายสเปซ” เมื่อปี 2549 วัตถุประสงค์ในเวลานั้นคือ ต้องการใช้คำนี้สร้างพลังให้กับเหยื่อของการถูกล่วงละเมิด หรือคุกคามทางเพศ โดยการให้ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ในหมู่ผู้คนผิวสีด้วยกัน

เบิร์คยอมรับในเวลาต่อมาว่า เป็นผู้เริ่มต้นและสร้างสรรค์ขบวนการทางสังคมนี้ขึ้นก็จริง แต่ในเวลานี้ตนเป็นได้ก็เพียงแค่ “คนทำงาน” คนหนึ่งในบางสิ่งบางอย่างที่ใหญ่โตกว่าที่ตัวเองเคยเริ่มต้นไว้มากนัก เพราะ #MeToo ได้เติบใหญ่ครอบคลุมทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ทั้งผิวขาวและผิวสี

กลายเป็นกลไกหลักในการให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ ให้พลังต่อบรรดาคนที่ถูกฉกฉวย เอารัดเอาเปรียบทั้งหลาย เรื่อยไปจนถึงสังคมใดๆ ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ในขณะนี้ #MeToo ได้กลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมระดับโลกไปแล้ว

Advertisement

ในขณะเดียวกัน วัตถุประสงค์ของการเคลื่อนไหวก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นขึ้นอยู่กับผู้ที่เคลื่อนไหวว่าต้องการรณรงค์หรือให้น้ำหนักในเรื่องใดมากกว่า จนกลายเป็นพร่าเลือนไม่ชัดเจนและเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกวิจารณ์อยู่ในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม พลังของ #MeToo ยังคงมีมหาศาลและเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มแรก

อลิสซา มิลาโน เริ่มทวีตข้อความโดยใช้คำคำนี้ครั้งแรกเมื่อราวเที่ยงวันของวันที่ 15 ตุลาคม ปี 2560 พอหมดวันในวันนั้น คำนี้ถูกใช้ในทวิตเตอร์ไปมากกว่า 200,000 ครั้ง และอีกกว่า 500,000 ครั้งในวันถัดมา ในเฟซบุ๊ก แฮชแท็กนี้ ถูกนำไปใช้โดยเจ้าของแฟนเพจมากกว่า 4.7 ล้านคน ที่โพสต์ข้อความที่มีคำนี้เป็นส่วนประกอบรวมแล้ว 12 ล้านโพสต์ในช่วงเพียงแค่ 24 ชั่วโมงแรกหลังการทวีตของมิลาโนเท่านั้น

เฟซบุ๊กเอง เผยสถิติในเวลาต่อมาว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กในสหรัฐอเมริกา “มีเพื่อนอย่างน้อย 1 คนที่โพสต์ข้อความโดยใช้คำนี้”

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในเวลาต่อมา เมื่อบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคน รวมทั้งดาราภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ออกมาเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่าตนเองก็ตกเป็นเหยื่อของการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศมาแล้วเช่นกัน อาทิ กวินเน็ธ พัลโทรว์, แอชลีย์ จัดด์, เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ และ อูมา เธอร์แมน เป็นต้น

ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากคนดังในสังคมที่เป็นผู้ชายอีกหลายคนอีกด้วย ว่ากันว่านับแต่บัดนั้นจนถึงเวลานี้มีผู้ออกมาเปิดเผยเหตุการณ์ตกเป็นเหยื่อทางเพศแล้วหลายหมื่นจนอาจจะเป็นเรือนแสน

แต่ แฮชแท็ก #MeToo แสดงพลังออกมาได้สูงสุด เมื่อการออกมาเปิดเผยถึงเหตุการณ์ถูกล่วงละเมิดของเหยื่อที่เคยเกิดขึ้น กลายเป็นการเปิดโปงถึงพฤติกรรมฉาวของผู้ล่วงละเมิดหลายคน ซึ่งส่งผลให้มีการกดดันให้มีการกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีอย่างเป็นทางการขึ้นตามมา

บุคคลโด่งดังที่ถูกเปิดโปงและถูกดำเนินคดีสืบเนื่องจากการเปิดเผยในแฮชแท็กนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่คดีใหญ่โตและโด่งดังที่สุดคดีแรก คือคดีของ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ผู้กำกับการแสดง และโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชื่อดัง ที่ตกเป็นเป้าถูกกล่าวหาจากดาราร่วมวงการที่เคยร่วมงานกันมาว่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นการกระทำทางเพศที่ผิดกฎหมาย

ไวน์สตีน ถูกจับกุมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และถูกตั้งข้อหา “ข่มขืน” และกระทำความผิดทางเพศอีกหลายข้อหาต่อผู้หญิง 2 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกันตัวเพื่อสู้คดี

หลังจากนั้น การเปิดโปงและการกดดันให้มีการดำเนินคดีต่อผู้ที่เคยมีพฤติกรรมทำนองนี้ แพร่ออกไปในแทบจะทุกวงการ จากแวดวงดารา-การแสดง ไปสู่แวดวงดนตรี สู่แวดวงธุรกิจการเงิน กีฬา การแพทย์ การทหาร เรื่อยไปจนถึงแวดวงการเมืองและรัฐบาลที่เป็นองค์กรบริหารงานของรัฐ

#MeToo แพร่หลายออกไปในหลายประเทศ มีการจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวในทำนองเดียวกันขึ้นในอย่างน้อย 15 ประเทศทั่วโลกในขณะนี้ ในประเทศที่มีมาตรฐานทางสังคมสูงอยู่แต่เดิม เกิดการเปิดโปง ต่อด้วยการกล่าวหาและการดำเนินคดีกันขึ้นหลายราย

ที่โด่งดังที่สุด ก็คือ การเปิดโปงที่นำไปสู่การกล่าวหาและดำเนินคดีกับหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในสวีเดน จนเป็นเหตุให้มีการเลิกล้มการคัดเลือกและตัดสินรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปีนี้ไปโดยปริยาย

ประเทศที่เกิดขบวนการเคลื่อนไหวเช่นนี้มีตั้งแต่ในกลุ่มชาติอาหรับ อิสราเอล หลายชาติในเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีน เรื่อยไปจนถึงหลายชาติในยุโรป อย่างเช่น สหราชอาณาจักร อิตาลี นอร์เวย์และเยอรมนี

นอกจากนั้น ยังส่งอิทธิพลถึงขนาดทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างจริงจังในหลายประเทศอาทิ อินเดีย ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่นและอิตาลี ว่า จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนขนบประเพณีที่ยึดถือกันมานานบางประการเพื่อขจัดการคุกคามทางเพศภายในสถานที่ทำงานหรือไม่

ศาสตราจารย์ แดเนียล เดรซเนอร์ นักวิชาการชาวอเมริกัน ชี้ให้เห็นว่า #MeToo วางรากฐานจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญ 2 ประการ หนึ่งคือ ทำให้สังคมยอมรับว่า การคุกคามทางเพศ แม้จะด้วยวาจาหรือท่าทาง (ไม่เพียงแค่การล่วงละเมิดทางเพศด้วยการลงมือกระทำ) เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในที่ทำงาน

อีกประการที่สำคัญไม่น้อยก็คือ เมื่อบุคคลที่ทรงอิทธิพลทางสังคมถูกกล่าวหาว่า กระทำการอันเป็นการคุกคามทางเพศต่อผู้อื่น

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นคือ ผู้ที่รับรู้เรื่องดังกล่าวมักสรุปเอาไว้ก่อนว่า “ผู้กล่าวหา” คือผู้ที่ บอกเล่าความเป็นจริง เพราะเป็นผู้ที่เสี่ยงสูงกว่าต่อการออกมาเปิดตัวต่อสาธารณะนั่นเอง

นักวิเคราะห์การเคลื่อนไหวทางสังคม เชื่อว่า #MeToo ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการสร้างความตระหนักและตื่นตัวต่อการใช้ความรุนแรงทางเพศ ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่า มีสตรีมากถึง 1 ใน 3 ของสตรีทั่วโลกตกเป็นเหยื่อนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image