หนึ่งเดียวจุดเหนือสุดยุโรป พิพิธภัณฑ์ไทย-ศิลาประวัติศาสตร์ จารึกพระปรมาภิไธยย่อ’จปร.’ (1)

ทรงสลักหินที่นอร์ดแคปป์ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ร.ศ. 126 (ค.ศ. 1907)

หมายเหตุ “มติชน”เนื่องในวันปิยมหาราช สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ได้เขียนบทความดังกล่าวขึ้น เพื่อให้คนไทยได้ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-นอร์เวย์นับตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตลอดจนการบูรณะซ่อมแซม “พิพิธภัณฑสถานไทยและศิลาประวัติศาสตร์ที่นอร์ดแคปป์” ซึ่งถือเป็นประจักษ์พยานอันสำคัญยิ่งในพระราชกรณียกิจของพระองค์ในครั้งนั้น

การค้นพบหินก้อนใหญ่ สลักอักษร “จปร.” ที่ไม่คุ้นตา กับตัวเลข “1907” ที่คุ้นเคย ที่แหลมเหนือ หรือ นอร์ดแคปป์ (Nordkapp) เมืองฮอร์นิงสโวก ประเทศนอร์เวย์ เมื่อปี ค.ศ.1959 (พ.ศ. 2502) ระหว่างการก่อสร้างอาคารรองรับนักท่องเที่ยวของนอร์ดแคปป์ (North Cape Center หรือ Nordkapphallen) นำมาซึ่งความฉงน สนใจของคนนอร์เวย์ และเป็นความตื่นเต้น ปลื้มปีติของประชาชนคนไทยเป็นอย่างยิ่ง

นอร์ดแคปป์ แผ่นดินเหนือที่สุดของทวีปยุโรปและเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ “ดินแดนแห่งพระอาทิตย์เที่ยงคืน” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนระหว่างการเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 เมื่อปี ค.ศ.1907 (พ.ศ. 2450)

เส้นทางขึ้นบนนอร์ดแคปป์ในอดีต

๐ขึ้นไปถึงนอร์ดแคปป์ ไม่ใช่เรื่องง่าย
ณ เวลานั้น เมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีที่แล้ว การเดินทางขึ้นไปบนนอร์ดแคปป์ไม่ใช่เรื่องง่ายและมีค่าใช้จ่ายสูง การเดินทางต้องอาศัยทางเรือมาจอดที่ท่าและปีนหน้าผาขึ้นเท่านั้น ดังนั้น นักท่องเที่ยวกลุ่มแรก ๆ ที่ขึ้นไปถึง จึงเป็น ‘นักผจญภัยสำรวจโลกตัวจริง’ หรือไม่ก็ต้องเป็น ‘บุคคลระดับสูงมาก ๆ’ เท่านั้น ซึ่งได้แก่บรรดากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของยุโรป อาทิ Louis Philippe I King of the French (พระเจ้าหลุยส์ฟิลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส) Oscar II King of Sweden and Norway (สมเด็จพระราชาธิบดีออสการ์ที่ 2 แห่งสวีเดนและนอร์เวย์) Wilhelm II German Emperor (จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี) และรวมถึง King Chulalongkorn of Siam !!!

Advertisement

ซึ่งเมื่อเสด็จถึงยอดผานอดร์ดแคปป์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสลัก “พระปรมาภิไธยย่อ จปร. และ 1907” ลงบนก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่ง เป็นประจักษ์พยานว่าได้เสด็จมาถึง ณ ที่แห่งนี้แล้ว

เสด็จประทับ ณ บริเวณหน้าผาของแหลมเหนือ

๐ศิลาประวัติศาสตร์
พระบรมสาทิสลักษณ์กับ “หินสลัก จปร. 1907” ที่ทรงถ่ายร่วมกับช่างแกะสลักและบรรดากะลาสีเรือที่นำเสด็จฯ ซึ่งปรากฏอยู่ใน “อัลบั้มภาพทรงถ่าย” ที่เก็บรักษาไว้ในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร คือ หลักฐานที่ช่วยกระจ่างข้อฉงนสงสัยทั้งหลายทั้งปวงเป็นเครื่องยืนยันถึงที่มาที่ไปของหินที่พบเมื่อเกือบ 60 ปีก่อน ณ จุดเหนือสุดของทวีปยุโรปแห่งนี้

“เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลาประวัติศาสตร์ ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็น ‘first visitors guestbook’ ของนอร์ดแคปป์เลยก็ว่าได้ เราจึงตัดสินใจปลูกสร้างอาคารโดยล้อมเก็บก้อนหินสลัก ณ จุดที่ตั้งดั้งเดิม เพื่อรักษาสภาพไว้ให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ที่สุด” ผู้จัดการฝ่ายอาคารของ Nordkapphallen เล่า และว่า “จุดที่ตั้งของหินสลัก ก็คือ จุดสูงที่สุดของที่ราบบนผานอร์ดแคปป์นั่นเอง”

Advertisement

“หินสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร.” ไม่เพียงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่แสดงความสัมพันธ์ไทย-นอร์เวย์ ที่มีมายาวนาน ‘ที่จับต้องได้’ แล้วเท่านั้น แต่ยังเป็นที่มาของการเปิดพื้นที่ภายในอาคารรองรับนักท่องเที่ยวของนอร์ดแคปป์ในเวลาต่อมา เพื่อจัดตั้งเป็น “พิพิธภัณฑสถานไทย” หนึ่งเดียวในต่างประเทศ !!

๐จากการค้นพบ สู่การจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานไทย
ปัจจุบัน หินสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร. นี้ ได้รับการสงวนรักษาไว้อย่างดีภายในบริเวณโถงด้านหน้าของอาคารรองรับนักท่องเที่ยวของนอร์ดแคปป์ ถือว่าเป็น ‘จุดแรกสุด’ เลยก็ว่าได้ที่ผู้มาเยี่ยมเยือนจะได้พบเห็น

สำหรับในส่วนพิพิธภัณฑสถานไทย นั้น หลังจากที่สถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 ได้แพร่ภาพข่าวเกี่ยวกับศิลาประวัติศาสตร์ที่มีพระปรมาภิไธยย่อของรัชกาลที่ 5 จารึกไว้ที่นอร์ดแคปป์ เมื่อปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) สโมสรโรตารีกรุงเทพจึงเกิดความคิดดำริที่จะจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้น เพื่อจัดแสดงและบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศที่สอดคล้องกับเหตุการณ์เสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรนอร์เวย์ของรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2450 จนสามารถจัดตั้งขึ้นสำเร็จ ในปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลนอร์เวย์ ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2532

ภายในพิพิธภัณฑสถานไทยมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่ ซึ่งมีประชาชนคนไทยเดินทางไปกราบถวายสักการะอยู่สม่ำเสมอ ทั้งคนไทยที่อาศัยอยู่ในนอร์เวย์เองและทั้งที่เดินทางมาจากประเทศไทยและตั้งใจมุ่งหน้าสู่นอร์ดแคปป์ เพื่อตามรอยพระยุคลบาท

 

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๐สู่การ ‘บูรณะซ่อมแซม’ ครั้งใหญ่
ผ่านไปแล้วเกือบ 30 ปี สภาพภายในพิพิธภัณฑสถานไทย รวมทั้งตัวหินสลักฯ ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล กับกรมศิลปากร จึงมีแผนร่วมกันที่จะดำเนินโครงการบูรณะซ่อมแซมให้แล้วเสร็จสมบูรณ์อย่างสมพระเกียรติ ในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นปีแห่งการครบรอบ 112 ปี การเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 และการเสด็จประพาสราชอาณาจักรนอร์เวย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สำหรับผู้ที่ต้องการมีประสบการณ์ชม ‘พระอาทิตย์เที่ยงคืน’ และ ‘แสงเหนือ’ นอร์ดแคปป์ คือ จุดหมายปลายทางของท่าน !! โดยในช่วงที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) คือ ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม จะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางขึ้นไปบนนอร์ดแคปป์ ประมาณ 2,000 คน ต่อวัน นอกจากนี้ นอร์ดแคปป์ยังเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่พระราชวงศ์ของนอร์เวย์เสด็จประพาสในช่วงฤดูร้อนของทุกปีด้วย

ภายในพิพิธภัณฑสถานไทยในปัจจุบัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ พิพิธภัณฑสถานไทย และ หินสลัก จปร. จึงถือเป็นหนึ่งใน “tourists attractions” สำคัญบนนอร์ดแคปป์ ดังนั้น ความคิดและการลงมือดำเนินการเพื่อทำนุบำรุงรักษาอนุสรณ์สถานที่ถือว่าเป็น “พิพิธภัณฑสถานไทยและรอยจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร.” หนึ่งเดียวในต่างแดน ให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม สมบูรณ์และสง่างามอยู่เสมอ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และความสำเร็จจะเกิดได้ต้องอาศัย “ความร่วมมือ ร่วมแรงและร่วมใจ” ของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายนอร์เวย์และฝ่ายไทย ที่พร้อมจะทำงานร่วมกัน

หินสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร. และ 1907 ในปัจจุบัน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image