คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : เดิน…เพื่อชีวิต!

AP

ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา สภาพอดอยากยากแค้น อับจนหนทางส่งผลให้ชาวเวเนซุเอลาตะเกียกตะกายอพยพออกจากประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนตั้งใจออกไปแสวงหาโอกาสให้กับตัวเอง แต่ส่วนใหญ่แล้วดิ้นรนเดินทางออกนอกบ้านเกิด เพียงเพราะหวังว่าสามารถมีงาน มีเงิน เพื่อช่วยให้อีกหลายชีวิตในครอบครัวที่ทอดทิ้งมา มีโอกาสรอดชีวิต

จากเดิมที่เคยอาศัยเงินเก็บสะสมมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผู้อพยพเวเนซุเอลาตกระกำลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเงินโบลิวาร์เสื่อมค่าลงมากขึ้นและมากขึ้นตามลำดับ

สุดท้าย เมื่อธนบัตรมีค่าเพียงแค่เศษกระดาษ หนทางเดียวเท่านั้นที่สามารถนำพาพวกเขาเข้าใกล้ความหวังใหม่มากขึ้นได้ คือการเดิน

เดินด้วยเท้าทั้งสองข้าง เดินจนรองเท้าสึกขาด เดินจนเท้าปริแตก ฉีกขาด เดินจนเข่าสองข้างบวมพอง

Advertisement

ป็นการเดินเพื่อชีวิตอย่างแท้จริง

จนถึงเวลานี้ ชาวเวเนซุเอลาที่หลบหนีผลพวงจากระบอบการปกครองที่กำลังล่มสลายของ ประธานาธิบดี นิโกลาส มาดูโร ออกไปปักหลักอยู่ในประเทศต่างๆ แล้วมากถึง 1.9 ล้านคน

กลายเป็นหนึ่งในการอพยพออกนอกประเทศครั้งใหญ่ที่สุดของโลกในห้วงเวลาสั้นๆ ดังกล่าว

Advertisement

หลายหมื่นหลายแสนคนในจำนวนนั้น ไม่มีเงินมากพอแม้แต่จะซื้อหาตั๋วรถโดยสารที่ราคาต่ำที่สุด หนทางเลือกที่เหลืออยู่ทางเดียวก็คือเดินจากประเทศมาด้วยเท้า

เดินเท้าข้ามชายแดนของ 3 ประเทศ รวมระยะทางทั้งสิ้นเกือบ 3,460 กิโลเมตร จากชายแดนเวเนซุเอลา สู่ดินแดนของประเทศโคลอมเบีย ตัดข้ามแดนประเทศเอกวาดอร์ มุ่งหน้าออกสู่ประเทศเปรู ซึ่งในเวลานี้รองรับผู้ลี้ภัยจากเวเนซุเอลาอยู่เกือบครึ่งล้านคน

ระยะทางที่เทียบได้เท่ากับเดินขึ้นเหนือสุดแล้ววกกลับลงใต้สุดของประเทศไทยที่มีระยะทางราว 1,650 กิโลเมตรซ้ำๆ เกินกว่าสองเที่ยว

คริสตีน อาร์มาริโอ ผู้สื่อข่าวของเอพีลงพื้นที่ตรวจสอบเส้นทางอพยพด้วยเท้าของนักเดินเพื่อชีวิตเหล่านี้ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าผู้อพยพเหล่านี้ต้องดิ้นรนต่อสู้กับความเป็นความตายตามรายทางอย่างไรบ้าง ซึ่งยิ่งแสดงให้เห็นว่า สภาวะในเวเนซุเอลา เลวร้ายอย่างแท้จริงอย่างไร

ไม่มีใครยอมตกที่นั่งลำบากชนิดแทบเอาชีวิตไม่รอดเช่นนี้แน่นอน หากยังพอมีโอกาสหลงเหลือให้ดิ้นรนอยู่บ้างในบ้านเกิด!

ผู้ที่ตัดสินใจเดินเท้าอพยพ มักเริ่มต้นที่ วิลลา เดล โรซาริโอ เมืองชายแดนเล็กๆ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศโคลอมเบีย ที่มีเขตติดต่อกับซานคริสโตบาล เมืองชายแดนด้านตะวันตกของเวเนซุเอลา

ถึงที่นั่นพวกเขาไม่สามารถเดินอาดๆ ข้ามชายแดนได้ตามปกติ เพราะไม่มีเอกสารข้ามแดนอย่างเป็นทางการ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีแม้แต่หนังสือเดินทาง

ทางออกก็คือ เริ่มต้นใช้เส้นทางเดินเท้าที่เป็นถนนดิน

มุ่งหน้าสู่ชายแดน ที่เป็นเส้นทางข้ามแดนแบบผิดกฎหมาย ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของแก๊งอาชญากรติดอาวุธ ซึ่งมักเรียกเก็บค่าผ่านทางเพื่อแลกกับการไม่ถูก “ปล้น” และ “ทำร้ายร่างกาย” ผู้อพยพเหล่านี้ ในราคาหัวละ 10 ดอลลาร์ หรือราว 300 บาทเศษ

ไม่มากสำหรับคนทั่วไป แต่เทียบแล้วเท่ากับรายได้เกินกว่าครึ่งเดือนในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคนเวเนซุเอลา

ที่นี่ หลายคนสูญเสีย “สิ่งฟุ่มเฟือยสุดท้าย” ในชีวิตอย่าง “สมาร์ทโฟน” เก่าๆ ราคาถูกไปเพื่อแลกกับโอกาสได้เดินทางต่อไป

อีกหลายคนไม่ได้มีโชคเช่นนั้น ถูกแก๊งเหล่านี้ฉุดลากเข้าสู่วังวนของอาชญากรรมที่มีอยู่ดกดื่นในอเมริกาใต้ ซึ่งรวมทั้งขบวนการค้ายาเสพติด

ใครก็ตามที่สามารถผ่านด่านแรกมาได้ มักบ่ายหน้าลงใต้ ผ่านเมืองชนบทเล็กๆ ของโคลอมเบีย ชื่อ ลอส พาทิออส ไปตามเส้นทางที่ต้องเจอะเจอ มาร์ธา เอเลนา อลาร์กอน

มาร์ธา อายุ 54 ปีแล้ว มีร้านขายของเล็กๆ ขายน้ำโซดา น้ำอ้อยคั้น และมันฝรั่งทอดกรอบ อยู่บนเส้นทางอพยพ

ซึ่งเป็นจุดแวะจุดแรกของนักเดินเท้าทางไกลเหล่านั้น เพื่อพักขาพักเข่าอ่อนล้าสักระยะหนึ่ง

เธอบอกว่า คนเวเนซุเอลาผ่านมาที่ร้านเป็นครั้งแรกเมื่อปีเศษมาแล้ว มาร์ธาจัดหาน้ำกับขนมปังให้คนเหล่านั้น

เมื่อคนผ่านทางเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มาร์ธาเริ่มขอให้คนเหล่านั้น “ทิ้งข่าวสารเอาไว้”

ผนังทุกด้านของร้านเล็กๆ หลังคาสังกะสี คือจุดที่ทุกคนทิ้งข้อความเอาไว้ หลายคนเขียนข้อความไว้บนที่ว่างๆ ของธนบัตรโบลิวาร์ ที่เหลือค่าเพียงแค่กระดาษโน้ต อีกบางคนเลือกที่จะใช้กระดาษสีสันสะดุดตาที่มาร์ธาเตรียมไว้ให้

“เดินเท้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ขอบคุณนะท่านประธานาธิบดี ที่ถ้าตาไม่บอดก็คงเลือดเย็นจนอำมหิต แล้วทำให้เวเนซุเอลาทุกคนหนีออกนอกประเทศ”

มาร์ธาบอกว่า ข้อความนี้ชายหนุ่ม 5 คนช่วยกันเขียนด้วยหมึกดำแล้วลงชื่อเพื่อทิ้งไว้

จากลอส พาทิออส เส้นทางอพยพลัดเลาะลงใต้เฉียงไปทางตะวันออก เพื่อมุ่งหน้าสู่เมืองในที่ราบหุบเขาที่ชื่อ บูคารามันกา ถือเป็นส่วนที่อันตรายสุดยอดบนเส้นทางอพยพด้วยเท้าของคนเหล่านี้

เนื่องเพราะถนนสาย 55 ลัดเลาะไปตามไหล่เขา เลื้อยขึ้นสูงผ่านยอดสูงสุดที่อากาศหนาวเหน็บ ในระดับต่ำกว่าระดับเยือกแข็งถึง 10 องศา

นักเดินทางเพื่อชีวิตเรียกพื้นที่ส่วนนี้ว่า “กล่องน้ำแข็ง” หรือ “ไอซ์บอกซ์” ที่สร้างความหวั่นกลัวแทรกซึมเข้าสู่ความคิดและจิตใจของผู้อพยพทุกคน ที่หลงเหลือเสื้อผ้าเก่าๆ โทรมๆ เพียงไม่กี่ชิ้นป้องกันความหนาวเหน็บจับใจนั้น

ใกล้ทางแยกถนนสาย 55 ตัดกับถนนสาย 66 ที่มุ่งหน้าสู่บูคารามันกา คือเมืองชนบทเชิงเขาชื่อ แพมโพลนา ที่นั่นมีแม่บ้านโคลอมเบียนใจดีอย่าง มาร์ทา ดูเก้ วัย 55 ปี ที่ต้อนรับขับสู้ผู้อพยพอย่างน้อย 300 คนต่อวันมานานเป็นปี

หาอาหารให้ตามมีตามเกิด แต่ที่ขาดไม่ได้คือเปิดบ้านและมอบเสื้อผ้าอบอุ่นให้ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า

“คนพวกนี้กับเด็กๆ ที่พากันมาด้วยจะไปนอนเสี่ยงแข็งตายข้างนอกนั่นไม่ได้หรอก”

แล้วคนที่ไม่ได้แวะเวียนมาหา มาร์ทา ดูเก้ ตายไปแล้วเท่าไหร่กัน? คาร์ลอส วัลเดส หัวหน้าสำนักงานการแพทย์ชันสูตร แห่งโคลอมเบีย ยอมรับว่า มีผู้เสียชีวิตจากความโหดร้ายโดยธรรมชาติของภาวะอากาศแน่นอน แต่ไม่สามารถให้ตัวเลขที่แน่ชัดได้ เพราะไม่มีการแจ้งเหตุอย่างเป็นทางการและส่วนใหญ่กลบฝังกันตามมีตามเกิด…ตามรายทาง

ผู้อพยพรายหนึ่งบอกกับเอพีว่า เพิ่งเห็นครอบครัวหนึ่งฝังคนตายไว้ข้างถนน อีกคนระบุว่า ตามเส้นทางที่ผ่านมา เห็นไม้กางเขนหยาบๆ กับก้อนหินมีชื่อคนตายและวันเสียชีวิตมาจำนวนหนึ่ง

ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการที่รวบรวมได้จากหลายหน่วยงานใน 3 ประเทศที่เป็นเส้นทางผ่านทั้ง โคลอมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู แสดงให้เห็นว่า ยอดผู้เสียชีวิตบนเส้นทางแห่งความหวังนี้อาจถึงสองสามพันราย

มีอย่างน้อย 235 คน ที่ถูกรายงานว่า “หายสาบสูญไป” ระหว่างเส้นทางข้าม 3 ประเทศที่ว่านั้น อีก 334 ราย ถูกระบุว่า เสียชีวิตในโคลอมเบีย จากสาเหตุ “ฆาตกรรม” หรือไม่ก็เกิดจาก “อุบัติเหตุ”

อีก 2,841 ราย เสียชีวิตในโคลอมเบีย จากอาการเจ็บป่วยที่ติดตัวมาตั้งแต่ในเวเนซุเอลา ที่นั่น โรคร้ายอย่างมาลาเรีย และภาวะขาดสารอาหาร กำลังระบาดอย่างหนักและยอดผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

วัลเดสยอมรับว่า ถึงแม้จะไม่รู้ตัวเลขที่แท้จริงของคนที่เสียชีวิตตามรายทาง แต่สภาพของผู้อพยพที่เจ้าหน้าที่ทางการตรวจสอบได้นั้น ร่างกายอ่อนแอ ย่ำแย่อย่างชัดเจน

“หลายคนอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถเดินทางแบบหนักหนาสาหัสอย่างนั้นได้เพราะกินเวลายาวนานมาก” เขาบอก และย้ำว่า “หลายคน ไม่มีกิน สุดท้ายก็คือตาย”

กระนั้น หลายคนยังสามารถผ่าน “ไอซ์บอกซ์” มายังบูคารามันกา ได้สำเร็จ ในเมืองใหญ่แห่งนี้

“สวนสาธารณะ” ทุกแห่งคือสวรรค์ชั่วคราวสำหรับนักเดินทางได้พักผ่อนร่างกายบอบช้ำ

ในวันหนึ่งๆ อย่างน้อยต้องมีชาวเวเนซุเอลาราว 400 คน ชุมนุมกันอยู่ที่ พาร์เก้ เดล อากัว ในบูคารามันกา

องค์กรการกุศลรวมตัวกันอยู่ที่นั่น แจกจ่ายอาหารร้อนๆ ในภาชนะโฟมให้ ขณะที่บาทหลวงประสาทพรและมอบไบเบิลเล่มเล็กให้กับทุกคน

เวเนซุเอลาทั้งหลายที่บรรลุถึงที่นี่ได้อาศัยลังกระดาษที่แผ่ให้ราบเป็นฟูก นอนเคียงข้างซึ่งกันและกันอย่างอ่อนระโหย ทั้งๆ ที่แต่ละคนไม่รู้จักมักคุ้นกันโดยสิ้นเชิง

เจรัลดีน อากิเลรา อดีตนักศึกษาสถาปัตยกรรมวัย 22 ปี ที่เดินบ้าง โบกรถบ้างมาจนถึงที่นี่พร้อมกับน้องสาว ยอมรับว่า การได้นอนข้างๆ คนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักโดยสิ้นเชิงนั้นลำบากยิ่ง

“คุณไม่รู้หรอกว่าเขาจะลุกขึ้นมาทำร้าย ทำอะไรคุณหรือไม่ เมื่อไหร่”

“แต่ความจำเป็นบังคับให้คุณต้องนอน ต้องหลับ”

จาก บูคารามันกา ผู้อพยพที่เดินทางต่อจนถึง เปโรเลส ได้จะเผชิญกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ จากหนาวเหน็บชนิดทำให้คนแข็งตายได้ กลายเป็นร้อนชื้น อบอ้าว

ที่พักรายทางไม่มีที่ไหนดีกว่าตามปั๊มน้ำมัน ที่เป็นเหมือน “เกาะสวรรค์” สำหรับนักเดินเท้าเพื่อชีวิต

มานุเอล เวลาสเควซ พนักงานประจำปั๊มแห่งหนึ่งในเปโรเลส เล่าว่า วิกฤตที่เกิดกับผู้อพยพเวเนซุเอลา มีให้เห็นกระจะแก่ตาทุกวี่วัน

หลายคนมาถึงปั๊มของมานุเอลในสภาพเท้าเปลือย ปริแตก อาบเลือดเกรอะกรัง บางคนเข่าบวมฉึ่งจนเห็นได้ชัด

มีไม่น้อยที่อยู่ในสภาพแทบจะล้มลงหมดสติในทันทีที่มาถึง ทั้งจากความหิวและอาการขาดน้ำ

“ที่ติดอยู่ในใจผมไม่มีวันลืม คือผู้หญิงรายนึงมาถึงที่นี่ในรถเข็น มีญาติเข็นมาตลอดทาง เธอจะไปเอกวาดอร์ เพื่อรักษามะเร็งที่นั่น”

เป้าหมายต่อจากเปโรเลส ก็คือ ลา ดอราดา ใครก็ตามที่โชคดี

ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิงที่มากับเด็ก อย่าง ซานดรา คาดิซ คุณแม่อายุ 51 กับ แองเจลิซ ลูกสาววัย 12 ขวบ ที่สามารถเก็บรวบรวมเงินที่หยิบยื่นให้ด้วยเมตตามาตามรายทาง จนสามารถซื้อหาตั๋วรถโดยสารราคาถูกๆ ไปยัง คาลี ซึ่งอยู่ถัดลงไปทางใต้ได้ง่ายมากขึ้นกว่าการเดินเท้า

ที่คาลี พวกเขาต้องค้นหาให้พบ “เส้นทางแห่งดวงอาทิตย์” หรือ “เดอะ ซันรูท” เพื่อข้ามแดนตัดผ่านเอกวาดอร์ไปยังเปรู ที่เป็นจุดหมายปลายทาง ผ่าน รูมิชากา อินเตอร์เนชั่นแนล บริดจ์ ที่เป็นด่านตรวจชายแดนโคลอมเบีย-เอกวาดอร์ ที่มีคิวผู้อพยพรอตรวจเอกสารยาวเหยียด

หลายคนถูกผลักดันกลับที่นี่ เพราะไม่มีเอกสารเพียงพอต่อการข้ามแดน

แต่ใครก็ตามที่ข้ามแดนมาได้จะพบความแตกต่างจากเส้นทางที่ผ่านมา กาชาดเอกวาดอร์จัดเต็นท์จำนวนหนึ่งไว้รองรับ รัฐบาลเตรียมรถบัสเอาไว้ให้เดินทางต่อไปยังชายแดนเปรู ไม่มีค่าใช้จ่าย

ในทางหนึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้อพยพ ในอีกทางหนึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่ทำให้ผู้อพยพหลงเหลืออยู่ในเอกวาดอร์น้อยที่สุด

จุดหมายปลายทางของรถบัสทางการเอกวาดอร์คือ อากูอาส แวร์เดส เมืองชายแดนเปรู ที่นั่นทางการเปรูจัดที่พักชั่วคราวพร้อมน้ำและอาหารให้ผู้อพยพกรอกเอกสารสำหรับการเข้าเมืองและลี้ภัย

จุดหมายปลายทางสุดท้ายของผู้คนเหล่านี้คือ ลิมา เมืองหลวงของเปรู ซึ่งในเวลานี้รองรับผู้ลี้ภัยจากเวเนซุเอลาอยู่มากกว่า 400,000 คน

หลายคนมีโอกาสทำมาหากินเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นเปิดแผงขายของเพื่อหารายได้ยังชีพ หลายคนที่ญาติพี่น้องครอบครัวอพยพมาอยู่ที่นี่ก่อนแล้ว

ส่วนใหญ่ยืนยันว่าไม่คิดกลับไปเวเนซุเอลา ตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นกับประธานาธิบดีนิโกลาส มาดูโร!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image