คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “กวาโรซา” ปรากฏการณ์ที่เกาหลีใต้

(ภาพ-Pixabay)

คำ “กวาโรซา” ไม่ใช่คำใหม่ในภาษาเกาหลี คำนี้หมายถึง “ความตาย” ไม่ใช่ความตายทั่วไป หากแต่เป็นความตายในรูปแบบเฉพาะนั่นคือความตาย “ที่เกิดจากการทำงานเกินกำลัง”

“กวาโรซา” กลายเป็นปรากฏการณ์อุบัติใหม่อยู่ในเกาหลีใต้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้

เมื่อเร็วๆ นี้ เจค ควอน กับ อเล็กซานดรา ฟีลด์ ผู้สื่อข่าว ซีเอ็นเอ็น ทำรายงานว่าด้วยปรากฏการณ์เรื่องนี้ไว้หลากหลายแง่มุมเลยทีเดียว

เพื่อฉายให้เห็นภาพและสร้างความเข้าใจกระจ่างถึงนัยที่แท้จริงของคำนี้ ซีเอ็นเอ็น หยิบยกเอาเรื่องราวของ แช ซู-ฮอง พนักงานประจำบริษัทผู้ผลิตอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการผลิต “จังโจริม” เนื้อหมักซอสถั่วปรุงสำเร็จ เครื่องเคียงมื้ออาหารยอดนิยมของคนเกาหลี

Advertisement

เรื่องราวที่ออกจากปากของ ปาร์ค ฮยุน-ซุก ผู้เป็นภรรยา ที่พานพบประสบการณ์ “กวาโรซา” มาด้วยตัวเอง

ภารกิจของ แช ซู-ฮอง ในโรงงานผลิตอาหารแห่งนี้ก็คือ ทำให้แน่ใจว่าผลผลิตที่ส่งออกไปจากบริษัทนั้นได้ทั้งมาตรฐาน และทันต่อเวลา

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ระหว่างวันทำงานของสัปดาห์ เขาจะเดินทางไปยังโรงงานผลิตของบริษัทและทำหน้าที่กำกับดูแลกระบวนการผลิตทั้งหมดด้วยตัวเอง ถึงวันเสาร์ แช ซู-ฮอง เดินทางเข้าสำนักงานใหญ่ ใช้เวลาจัดการกับงานเอกสารของตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา

Advertisement

พ้นเวลางาน กลับถึงบ้านแล้ว งานของ แช ยังไม่จบสิ้น เพราะถึงแม้จะไม่ใช่งานในหน้าที่ของตัวเองโดยตรง แช ก็ต้องรับโทรศัพท์พูดคุยกับบรรดาคนงานในโรงงานของบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นแรงงานต่างชาติ ซึ่งต้องการความช่วยเหลือเพื่อช่วยในการปรับตัวเข้ากับสังคมในแบบฉบับของเกาหลี

“ตอนแรกสุดที่เขาเริ่มงานที่นี่ในปี 2015 คนงานทั้งหมดมี 30 คน พอตอนที่เขาตาย บริษัทขยายตัวออกไปมีพนักงานเพิ่มเป็น 80 คน แต่หน้าที่ของเขาดูเหมือนยิ่งเพิ่มตามไปด้วย”

ปาร์ค เชื่อว่าเหตุผลเป็นเพราะบริษัทเริ่มรับงานเข้ามาเพิ่มขึ้น แช ซู-ฮอง ก็ถูกคาดหวังมากขึ้นว่าสามารถทำหน้าที่ได้มากขึ้น ด้วยมาตรฐานที่คงเเดิมหรือดีขึ้นอีกด้วย

ถึงจุดหนึ่ง ร่างกายของ แช ซู-ฮอง ก็แสดงอาการอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อยถึงขนาดไม่สามารถทำอย่างอื่นได้อีกเมื่อกลับถึงบ้าน ได้แต่หลับ

แช เสียชีวิตที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. ของวันเสาร์วันหนึ่งในเดือนสิงหาคม 2017 ที่ผ่านมา เพื่อนร่วมงานพบเขาหมดสติอยู่บนพื้นออฟฟิศ

สาเหตุการเสียชีวิตยังไม่สามารถระบุได้จนถึงทุกวันนี้

******

ตามข้อมูลของทางการ แช ซู-ฮอง เป็นหนึ่งใน “กวาโรซา” หลายร้อยคนของเกาหลีใต้ที่เสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว เสียชีวิตจากการทำงานมากเกินไป เสียชีวิตจากความเข้าใจผิดที่ว่า ปริมาณการทำงานคือเครื่องบ่งชี้ถึงผลิตภาพและผลิตผลของงาน

เป็นการเสียชีวิตในรูปแบบที่ไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการ หรือบัญญัติไว้ในกฎหมายใดๆของประเทศ

โชคดีที่ สำนักงานเพื่อสวัสดิการและสินไหมทดแทน (คอมเวล) ของกระทรวงแรงงานเกาหลีใต้ ยังยึดถือว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้จริง หน่วยงานของรัฐหน่วยนี้ ถือว่า อาการหัวใจวาย หรือภาวะเส้นเลือดแตกหรืออุดตันเฉียบพลัน หรือ สโตรค ในขณะที่กำลังทำงานที่ระดับเฉลี่ยแล้วเกินกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นั้น ถือว่า สามารถเรียกร้องเงินชดเชยจากการเสียชีวิตเพราะการทำงานได้

เงินชดเชยซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อครอบครัวที่เพิ่งสูญเสียเสาหลัก ที่เป็นผู้หารายได้เลี้ยงครอบครัวอยู่คนเดียวไปหมาดๆ

โชคร้ายก็คือ ครอบครัวซึ่งได้รับประโยชน์จากเงินชดเชยนี้ ต้องสามารถ “พิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยใดๆ” ว่าผู้ตายเข้าข่ายได้เงินชดเชยดังกล่าว

ในกรณีของ แช ซู-ฮอง การพิสูจน์นี้ยากเย็นไม่ใช่น้อย เพราะบริษัทไม่เคยลงบันทึกเวลาเข้าออกงานของใครไว้นอกเหนือจากเวลางานปกติ ทั้งๆที่ เขาออกจากบ้านตั้งแต่ 7.00 น. และกลับบ้านในเวลา 22.00 น.ทุกวัน

ปาร์ค ฮยุน-ซุก ผู้ภรรยาต้องควานหาจนพบว่า ระหว่างเส้นทางที่สามีใช้เป็นประจำ มีด่านเก็บเงินค่าผ่านทางที่มีบันทึกเวลาไว้พร้อม จนสามารถพิสูจน์ได้ว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้าเสียชีวิต สามีของนางทำงานเกินกว่า 180 ชั่วโมงไปมาก

ถือเป็นโชคดีที่เกิดกับ “กวาโรซา” เพียงไม่กี่คนเท่านั้น

******

ปรากฏการณ์ “กวาโรซา” ในปี 2017 ส่งผล 2 ประการตามมา หนึ่งคือการรวมตัวเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มก้อนของผู้ที่ผ่านประสบการณ์เดียวกันนี้มาด้วยกัน ผู้ก่อตั้งคือ คัง มิน-จุง ผู้สูญเสียผู้เป็นอาที่เปรียบเสมือนพ่อเพราะเลี้ยงดูเธอมาตั้งแต่ยังแบเบาะไปเพราะการทำงานหนักเกินไปจนตายคางาน

“ตอนท่านตาย ฉันตามตัวเองอยู่นั่นแหละว่าทำไม ทำไมต้องทำงานหนักมากขนาดนั้น ลงเอยด้วยการตัดสินใจเดินทางไปญี่ปุ่น ไปเรียนรู้รายละเอียดของการตายจากการทำงานหนักเกินไปที่นั่น”

ญี่ปุ่นเคยศึกษาปรากฏการณ์เช่นเดียวกันนี้เอาไว้ถี่ถ้วนและลึกซึ้งมากตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อพยายามทำความเข้าใจและกุมสภาพให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับแรงงานของตนเอง วัฒนธรรมการทำงานชนิดถึงตายของตัวเอง เมื่อสิ่งที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า “คาโรชิ” เกิดถี่ยิบถึงระดับสูงสุด

ทุกวันนี้ ญี่ปุ่น เป็นประเทศเดียวเท่านั้นบนโลกใบนี้ที่ตรากฎหมาย กำหนดไว้ชัดเจนให้รัฐบาล “ต้อง” ศึกษาวิจัยและดำเนินความพยายามใดๆ ที่จะแก้ไขปัญหานี้

เมื่อ คัง มิน-จุง เดินทางกลับเกาหลีใต้มา เธอตัดสินใจก่อตั้งกลุ่มผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวไปกับ “กวาโรซา” ขึ้น แม้จะลำบากยากเย็นอย่างยิ่ง

เธอจำได้ การพบปะกันครั้งแรกอันเป็นที่มาของการก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา มีผู้เดินทางมาประชุมด้วยเพียง 3 คนเท่านั้นเอง

หนึ่งเดือน หลังการตายของ แช ซู-ฮอง ชมรมผู้สูญเสียจากกวาโรซา นัดพบกันที่ห้องเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งทางตอนใต้ลำน้ำฮัน ติดกับ โนรยางจิน ตลาดสดปลาที่ใหญ่ที่สุดในเมืองหลวงของเกาหลีใต้ มีคนเข้าร่วมมากขึ้น รวมทั้ง ปาร์ค ฮยุน-ซุก แต่เหมือนเดิม แทบทุกคนมีความรู้เกี่ยวกับกวาโรซาจำกัดอย่างยิ่ง มีไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้ว่ากฎหมายแรงงานของประเทศกำหนดเงินชดเชยเอาไว้

ความมืดบอด ไม่มีความรู้ ขาดความเข้าใจเช่นนี้ ยิ่งเสี่ยงต่อการทำให้ปรากฏการณ์นี้ยืดเยื้อและแพร่ระบาดออกไปกว้างขวางมากขึ้นเท่านั้น

ปาร์ค เองเชื่อว่า แช ซู-ฮอง คิดเอาเองมาตลอดว่าการทำงานแบบที่ตนทำนั้นเป็นเรื่องสามัญปกติ

“เขาเป็นคนยุคเบบี้บูม ให้ความสำคัญกับการทำงานหนัก รับผิดชอบในภาระหน้าที่เหนือสิ่งอื่นใด ทั้งในฐานะพนักงานและคนที่หาเลี้ยงครอบครัว เขาไม่บ่น แล้วก็ไม่เคยหยุด” ภรรยาของ แช ซู-ฮอง บอก

“เกาหลีเป็นสังคมที่เรียกร้องการทำงานหนัก ทำงานนานค่อเนื่อง พวกเขาคิดว่ายิ่งทำมาก ยิ่งหมายถึงทำได้ดีและมีผลิตภาพ”

คิม วู-ทาร์ค ทนายแรงงาน ซึ่งร่วมอยู่ในกลุ่มของคัง มิน-จุง ทำหน้าที่ช่วยเหลือให้ทุกคนได้รับค่าชดเชย หรืออย่างน้อยก็ได้ยื่นเรื่องต่อ “คอมเวล” เชื่อว่า วัฒนธรรมการทำงานหนักเป็นมรดกตกทอดที่หลงเหลือมาจากยุคสงครามเกาหลี สงครามซึ่งในทางเทคนิคแล้วยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีอิทธิพลสูงยิ่งในการกำหนดคุณลักษณะในหลายๆ ด้านของสังคมนี้

“เราจำเป็นต้องลุกขึ้นยืนให้ได้เร็วที่สุดหลังสงคราม โครงสร้างหลักถูกสร้างขึ้นเพื่อบังคับให้ทุกคนลงมือลงแรงให้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้” เขาบอกต่อด้วยว่า

“โครงสร้างนั้นนานเข้าก็กลายเป็นวัฒนธรรม กลายเป็นประเพณีของทุกคนในชาติไป”

******

ผลพวงอีกประการอันเนื่องมาจากปรากฏการณ์นี้คือ การตระหนักรู้ของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ มุน แจ-อิน ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศใช้กฎหมายแรงงานใหม่ กำหนดให้ลดจำนวนชั่วโมงทำงานสูงสุดลง จากเดิม 68 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เหลือเพียง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำกัดการทำงานล่วงเวลาที่ต้องได้รับค่าตอบแทนต่างหากไว้เพียง 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น

เกาหลีใต้ เป็นหนึ่งใน 36 ชาติสมาชิก องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศของประเทศพัฒนาแล้ว ในบรรดาประเทศทั้งหมดนั้น ชาวเกาหลีใต้เป็นชาติที่ทำงานหนักที่สุดเมื่อคิดเป็นจำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปี 2017 ยกเว้นเพียง เม็กซิโก กับ คอสตาริกา (อยู่ระหว่างการพิจารณาสมาชิกภาพ)

ค่าเฉลี่ยของชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ของทั้ง โออีซีดี อยู่ที่ 36.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ น้อยกว่าสถิติของคนเกาหลีอยู่เกือบครึ่ง

ชาวเยอรมันที่ได้ชื่อว่าขยันขันแข็งที่สุดชาติหนึ่ง ทำงานต่อสัปดาห์น้อยกว่าคนเกาหลีเกือบครึ่งเช่นเดียวกัน

ประเด็นที่น่าสนใจมากก็คือ นอกเหนือจากการเป็นสาเหตุให้เกิดปรากฏการณ์อย่างเช่นกวาโรซาขึ้นแล้ว มีวี่แววน้อยมากว่า การทำงานหนักและยาวนานเช่นนี้จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ให้เป็นประจักษ์

ข้อมูลของโออีซีดีเอง ชี้ให้เห็นว่า เกาหลีใต้ เป็นชาติที่มี “ผลิตภาพ” ต่ำที่สุดเป็นอันดับ 3 ในบรรดาสมาชิกของโออีซีดี ทั้งหมด!

กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วก็จริง แต่มีระยะเวลาผ่อนผันในทางปฏิบัติ โดยจะไม่มีการเข้มงวดจนกว่าจะถึงเดือนมกราคม 2019 นี้

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาก่อนมีการเข้มงวดนั้น บริษัทที่เริ่มต้นปฏิบัติตามกฎหมายนี้อย่างเคร่งครัดเป็นรายแรก ก็คือ เคที (เดิม ใช้ชื่อ โคเรีย เทเลคอม) เมื่อใกล้สิ้นสุดเวลาทำงาน นาฬิกาบอกเวลาจะปรากฏขึ้นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์พนักงานทุกคน และบรรดาผู้จัดการของเคที ก็กระตุ้นให้พนักงานเร่งกลับบ้านตามเวลา แทนที่จะทำงานล่วงเวลา

คิม จัง-จุน ซึ่งทำงานอยู่ในแผนกประชาสัมพันธ์ของเคที บอกว่า หลังจากมีการประกาศใช้กฎหมายนี้ ตนไม่เพียงมีเวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูงมากขึ้นเท่านั้น

ยังมีเวลานอนหลับเต็มตามากขึ้นอีกต่างหาก

******

มีบริษัทอย่าง เคที ก็มีบริษัทอย่าง โคเรีย โพสต์ กิจการไปรษณีย์แห่งชาติ ที่ยังคงไม่ปรับเปลี่ยน พนักงานที่นี่ยังคงเข้างาน 08.00 น. เลิกงานอย่างเร็วที่สุด 20.00 น. ทุกวัน ที่สำคัญก็คือ จง ฮัค-ดอง พนักงานรายหนึ่งบอกกับซีเอ็นเอ็นว่า ถึงอย่างนั้นงานก็ยังคั่งค้างอยู่ดี

เมื่อปีที่แล้ว พนักงานบริษัทโคเรีย โพสต์รายหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถยนต์ บริษัทยังเรียกร้องให้มาทำงาน

พนักงานรายนี้ เขียนบันทึกสั้นๆ กล่าวหาการกระทำของบริษัทว่าไร้มนุษยธรรม…แล้ว “ฆ่าตัวตาย”

เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พนักงานอีกคนตัดสินใจราดน้ำมันจุดไฟเผาตัวเองหน้าสำนักงานบริษัทสาขาที่ประจำอยู่ ไม่นานต่อมา มีเพื่อนพนักงานประจำสาขาเดียวกันนี้อีก 2 ราย เสียชีวิตลงด้วยสาเหตุที่สงสัยกันว่าเป็นเพราะการทำงานหนักเกินไป

สหภาพแรงงานการไปรษณีย์เกาหลี รวมตัวกันประท้วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นที่จัตุรัส กวางฮวามุน ใจกลางกรุงโซล กดดันรัฐบาลให้ยุติการทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ และเรียกร้องให้บริษัทจัดหาพนักงานมาเพิ่มเติม

ทำเนียบประธานาธิบดีเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย ลงเอยด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายขึ้น ประกอบด้วยตัวแทนบริษัท ตัวแทนสหภาพฯ และผู้เชี่ยวชาญอิสระในสัดส่วนเท่าๆกัน

ทำหน้าที่สำคัญก็คือ ศึกษาวิจัยการทำงานของการไปรษณีย์เกาหลี ผลสรุปที่เผยแพร่ออกมาเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พบว่า พบว่า พนักงานเกือบ 2,000 คนต้องทำงานคนละมากกว่า 3,000 ชั่วโมงต่อปี เฉลี่ยสูงถึง 58 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ยิ่งกว่านั้น งานศึกษาวิจัยนี้พบว่า ภาวะตึงเครียดในที่ทำงานของการไปรษณีย์อยู่ในระดับสูงมากอย่างน่าตกใจ

สูงเกินกว่าระดับความเครียดที่ตรวจพบในกลุ่มวิชาชีพอย่าง พยาบาล พนักงานดับเพลิง และ นักบินเครื่องบินขับไล่ ด้วยซ้ำไป

หลังผลการศึกษาดังกล่าวปรากฏออกมา การไปรษณีย์เกาหลี ประกาศว่าจ้างพนักงานเพิ่มเติมอีก 1,000 คน และกำหนดรับพนักงานเพิ่มอีก 1,000 คนในปี 2020

กฎหมายใหม่นี้ จึงไม่เพียงช่วยคลายปัญหา กวาโรซา ลงเท่านั้น ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

******

ในการประกาศใช้กฎหมายกำหนดเวลาทำงานใหม่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่รู้จักกันในเกาหลีใต้ในชื่อ “กฎหมาย 52 ชั่วโมง” นั้น มุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กล่าวเอาไว้ว่า กฎหมายนี้จะเป็น “โอกาสอันดียิ่ง ที่จะช่วยให้สังคมของเราเปลี่ยนแปลง ขยับอกจากการเป็นสังคมทำงานหนัก เพื่อก้าวไปสู่สังคมที่ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว” ก่อนย้ำต่อไปว่า

“สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ นี่จะเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหา เพื่อให้ความคุ้มครองและอำนวยให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิต ทั้งจากการทำงานหนักเกินไป จากอุบัติเหตุในที่ทำงาน และจากอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดจากอาการหลับใน”

แต่สำหรับครอบครัวของกวาโรซา กฎหมายนี้ดูเหมือนจะมาช้าไปบ้างอยู่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image