คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : คาเฟ่หุ่นยนต์เสิร์ฟ ควบคุมโดยผู้ป่วยเอแอลเอส

REUTERS/Issei Kato

ที่กรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น เพิ่งจะมีการเปิดตัวคาเฟ่ใหม่ขึ้นมา คราวนี้ ไม่ใช่คาเฟ่ที่มีสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยมาเดินเล่น แต่เป็นคาเฟ่ ที่มี “หุ่นยนต์” เป็นพนักงานเสิร์ฟ

แต่ที่พิเศษไปกว่าหุ่นยนต์เสิร์ฟแล้ว ก็คือ คนที่่คอยบังคับเจ้าหุ่นยนต์เหล่านี้อยู่ คือ “ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางกายภาพ”

ร้านคาเฟ่นี้ ตั้งอยู่ภายใน “มินาโตะ วอร์ด” มีหุ่นยนต์อยู่ 5 ตัว แต่ละตัวสูง 1.2 เมตร ที่จะถูกควบคุมผ่านรีโมตคอนโทรลโดยผู้ป่วยที่มีปัญหาทางกายภาพ ซึ่งในที่นี้ ได้ใช้ผู้ป่วยโรค “เอแอลเอส” หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส ซึ่งผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อส่วนต่างๆได้

REUTERS/Issei Kato

หุ่นยนต์รุ่นนี้ชื่อ โอริฮิเมะ-ดี ที่จะทำหน้าที่ในการส่งภาพวิดีโอและเสียงผ่านทางอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ผู้ควบคุมสามารถสั่งงานพวกมันได้ผ่านทางคอมพิวเตอร์ ที่ตั้งอยู่ในบ้านของผู้ควบคุม และเจ้าหุ่นยนต์จะทำหน้าที่ในการรับออเดอร์ และเสิร์ฟอาหาร ให้แก่ลูกค้าในร้าน

Advertisement

เคนทาโร โยชิฟูจิ ซีอีโอของบริษัท โอรี แล็ป อิงค์ ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ โอริฮิเมะ-ดี ขึ้นมา บอกว่า หุ่นยนต์รุ่นนี้มีความสามารถทั้งทางกายภาพ คือการเสิร์ฟ รับออเดอร์ ขณะเดียวกัน ก็สามารถมีส่วนร่วมในสังคมได้

REUTERS/Issei Kato

โดยในโครงการทดลองนี้ ได้ว่าจ้างผู้ป่วยเอแอลเอส 10 คน เป็นเงินชั่วโมงละ 1,000 เยน ในการทำหน้าที่ควบคุมเจ้าหุ่นยนต์นี้

คาเฟ่แห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นมาร่วมกันโดย บริษัท โอรี แล็บ อิงค์ และ มูลนิธินิปปอน และบริษัท เอเอ็นเอ โฮลดิ้ง อิงค์ จะเป็นเพียงโครงการทดลอง ที่เปิดถึงวันที่ 7ธันวาคมนี้เท่านั้น ก่อนที่จะมีการเปิดคาเฟ่นี้แบบถาวร ในช่วงที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกและพาราลิมปิก ในปี 2020

Advertisement
REUTERS/Issei Kato

นอกจากนี้ หุ้นส่วนทั้ง 3 ฝ่าย ก็ยังได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือกันขึ้นเพื่อช่วยกันสนับสนุนการว่าจ้างผู้พิการให้มีงานทำด้วยการทำหน้าที่ควบคุมหุ่นยนต์เหล่านี้ต่อไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image