คอลัมน์โกบอลโฟกัส : เกมนิวเคลียร์ แห่งศตวรรษที่21

(RU-RTR Russian Television via AP)

สนธิสัญญาว่าด้วยการกำจัดขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (the Intermediate-Range Nuclear Forces INF) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต คือหนึ่งในสนธิสัญญาระหว่างมหาอำนาจในยุคสงครามเย็นที่สำคัญสุด โดยเฉพาะในแง่ของการควบคุมและการจำกัดอาวุธมหาประลัยอย่าง “อาวุธนิวเคลียร์” ซึ่งต่างฝ่ายต่างแข่งขันกันสั่งสมจนกองเป็นพะเนินในยุคก่อนหน้านั้น

สนธิสัญญาฉบับนี้ลงนามกันที่กรุงวอชิงตัน เมื่อปี 1987 ผู้ลงนามในฐานะตัวแทนของสหรัฐอเมริกาคือ โรนัลด์ เรแกน ผู้ล่วงลับ ตัวแทนของโซเวียตก็คือ มิกคาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีคนสุดท้ายของโซเวียต

สาระสำคัญของสนธิสัญญาทวิภาคีที่ส่งผลต่อทั้งโลกฉบับนี้คือ การกำหนดห้ามการผลิต ทดลอง พัฒนา อาวุธนิวเคลียร์ที่มีรัศมีทำการ หรือ พิสัย ตั้งแต่ 500 กิโลเมตรเรื่อยไปจนถึง 5,500 กิโลเมตร พร้อมกันนั้นทั้งสหรัฐอเมริกาและโซเวียตก็พร้อมใจกันทำลายบางส่วนของขีปนาวุธพิสัยใกล้และปานกลางของทั้งสองประเทศลง

หลังจากการลงนาม และมีการให้สัตยาบันรับรอง สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ทำลาย ครูส มิลไซล์ และจรวดต่างๆ ที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ไปมากมายหลายพันลูก

Advertisement

ภัยนิวเคลียร์ที่เคยคุกคาม ไม่เพียงต่อทั้งสองประเทศ แต่ยังรวมถึงพันธมิตรของทั้งสองฝ่าย สร่างซาลงจนแทบไม่หลงเหลือในช่วง 4 ทศวรรษเศษที่ผ่านมา

ชาตินิวเคลียร์ในยุโรป รวมทั้ง อังกฤษและฝรั่งเศส เลิกให้ความสนใจต่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนลงโดยสิ้นเชิง เพราะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ตามนัยของสนธิสัญญาฉบับนี้

ข่าวรอบด้าน กับ Line@มติชนนิวส์รูม คลิกเป็นเพื่อนกัน ได้ที่นี่

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

พื้นที่ซึ่งเคยเป็นสมรภูมิสงครามสำคัญของโลก ถูกเปลี่ยนให้เป็นสนามการค้าแทน

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีอเมริกันคนปัจจุบัน ประกาศ “ระงับใช้” สนธิสัญญาไอเอ็นเอฟ โดยอ้างเหตุผลว่า รัสเซีย ที่สืบทอดการเป็นภาคีของสนธิสัญญาดังกล่าว ละเมิดความตกลงที่กำหนดไว้ในไอเอ็นเอฟ

2 กุมภาพันธ์ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศระงับใช้สนธิสัญญานี้ตามมา ตอบโต้ด้วยว่า สหรัฐอเมริกาเองนั่นแหละที่ละเมิด ไม่ทำตามข้อตกลงในสนธิสัญญาฉบับนี้

ตามความตกลงในสนธิสัญญา รัสเซีย สามารถทบทวน ต่อรองและเปิดการเจรจาใหม่กับสหรัฐอเมริกา เพื่อให้สนธิสัญญาดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป แต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

ไม่เช่นนั้น ไอเอ็นเอฟ ก็ล่มสลาย เหมือนไม่เคยมีอยู่บนโลกใบนี้

และอาจกดดัน บีบบังคับให้หลายประเทศต้องเริ่มต้น แสวงหา พัฒนา และทดลองศักยภาพทางนิวเคลียร์ของตนใหม่อีกครั้ง

นั่นคือที่มาของสถานการณ์ที่นักสังเกตการณ์และผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมอาวุธยุทธศาสตร์ทั้งหลาย ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “นิวเคลียร์ พาวเวอร์ เพลย์-เกมอาวุธนิวเคลียร์” ครั้งใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น

เป็นเกมนิวเคลียร์ของศตวรรษที่ 21 ที่ ทรงพลานุภาพยิ่งขึ้น รวดเร็วยิ่งขึ้นและ สุ่มเสี่ยง ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว

******

ความจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ไอเอ็นเอฟ และสนธิสัญญาว่าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะที่เป็นสนธิสัญญาทวิภาคี ระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ถูกลดระดับความสำคัญและความสนใจลง สาเหตุสำคัญเป็นเพราะ สนธิสัญญาเหล่านั้นกลายเป็นพันธนาการเฉพาะ 2 ประเทศ ในขณะที่ประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาอำนาจนิวเคลียร์ใหม่อย่าง จีน มีเสรีในการพัฒนาเพื่อปรับปรุงคลังนิวเคลียร์ของตนให้ทันสมัยมากขึ้นตามลำดับ

นั่นคือเหตุผลที่ สหรัฐอเมริกา ถอนตัวออกจากการเป็นภาคีสนธิสัญญา เอบีเอ็ม ซึ่งห้ามการใช้ระบบต่อต้านขีปนาวุธนิวเคลียร์ข้ามทวีปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการกลาโหม หรือการที่ ปูติน เอง พูดถีง ไอเอ็นเอฟ ไว้เมื่อปี 2007 ว่า ถ้าหากสนธิสัญญานี้ ไม่ได้บังคับต่อทุกชาติทั่วโลกอย่างเท่าเทียม รัสเซียเองก็คงยากที่จะยึดมั่นตามความตกลงในสนธิสัญญาฉบับนี้ตลอดไป

ในเดือนตุลาคม ปี 2018 ที่ผ่านมา จอห์น โบลตัน ถูกขอให้ระบุถึง “ความสำเร็จ” 3 ประการที่อยากทำให้เกิดขึ้นระหว่างการรับหน้าที่เป็น ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งทำเนียบขาว

โบลตัน ตอบ 2 ประการออกมาแบบไม่ใช้เวลาใคร่ครวญว่า แรกสุดคือการเลิกล้มความตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน และอีกประการคือ การถอนตัวออกจาก ไอเอ็นเอฟ

ที่สำคัญก็คือมีข้อมูลยืนยันว่า ทำเนียบขาว แจ้งต่อมิตรประเทศสำคัญๆ หลายประเทศมาตั้งแต่หน้าร้อนปี 2017 แล้วว่า ทรัมป์ ไม่ต้องการสนธิสัญญาฉบับนี้อีกต่อไปแล้ว

ก่อนหน้านั้น 4 ปี คือในปี 2013 สหรัฐอเมริกาออกมากล่าวหารัสเซียเป็นครั้งแรกว่า ละเมิดความตกลงในไอเอ็นเอฟ เพียงไม่ปรากฏต่อสาธารณะทั่วไป ถัดมาในช่วงกลางปี 2014 ก็ออกกล่าวหาอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก

ขีปนาวุธตัวปัญหาคือ “9เอ็ม729-เอสเอสซี-8” ที่เป็นขีปนาวุธชนิดครูส ยิงจากฐานภาคพื้นดินเป็นวิถีโค้ง หรือ กราวด์ ลอนช์ บอลลิสติค มิสไซล์ (จีแอลบีเอ็ม) สามารถติดตั้งได้ทั้งหัวรบทั่วไปและหัวรบนิวเคลียร์

ในขณะที่รัสเซียอ้างว่า พิสัยทำการสูงสุดของ “เอสเอสซี-8” จำกัดอยู่ที่เพียงแค่ 480 กิโลเมตร ไม่สามารถขยายถังบรรจุเชื้อเพลิงมากไปกว่านั้นได้ ซึ่งอยู่ในขอบเขตตามสนธิสัญญาไอเอ็นเอฟ หน่วยข่าวกรองอเมริกัน ระบุว่า จีแอลบีเอ็ม ใหม่ของรัสเซีย ซึ่งปรับปรุงจากขีปนาวุธครูสชนิดยิงจากผิวน้ำเมื่อปี 2014 นี้นั้น มีพิสัยทำการตั้งแต่ 483 กิโลเมตรเรื่อยไปจนถึงเกินกว่า 5,500 กิโลเมตรซึ่งกำหนดไว้ในสนธิสัญญาไอเอ็นเอฟ

ที่แตกต่างออกไปจากเดิมก็คือ ขีปนาวุธชนิดนี้เป็นขีปนาวุธครูส นั่นคือสามารถบังคับทิศทางให้หลีกหลบสิ่งกีดขวางได้ เลี้่ยวซ้าย-ขวา บินเชิดขึ้นหรือดิ่งลงได้ (เมนูเวอเรเบิล) ทั้งยังสามารถบินไปสู่เป้าหมายได้ที่ระดับต่ำ คือรระหว่าง 15-100 เมตรเหนือพื้นดิน ทำให้สามารถหลีกหลบการตรวจจับของระบบเรดาร์ และระบบป้องกันขีปนาวุธไม่สามารถป้องกันได้

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทหาร เชื่อว่า รัสเซียส่ง อินโนเวเตอร์ เข้าประจำการอยู่ 2 กองพัน หนึ่งนั้นอยู่ที่ “เยคาเทรินเบิร์ก” ทางตะวันออกของเทือกเขาอูราล และอีกกองพันที่ คาปุสกิน ยาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ทดสอบขีปนาวุธใกล้กับ โวลโกกราด ทางตอนใต้ของรัสเซีย

เกิร์ทซ์ นอยเนค นักวิชาการของสถาบันแฮมบูร์กเพื่อการวิจัยสันติภาพและนโยบายความมั่นคง (ไอเอฟเอสเอช) พูดถึง เอสเอสซี-8 เอาไว้ว่า

“ข้อเท็จจริงที่มันยากที่จะตรวจจับ ติดตามร่องรอยและยากต่อการป้องกัน ทำให้ เอสเอสซี-8 เหมาะมากสำหรับการเป็นอาวุธที่ใช้เพื่อการเริ่มการโจมตี”

การเริ่มการโจมตี สร้างความเสียหายให้กับฝ่ายตรงกันข้ามได้โดยไม่รู้ตัวได้ กลายเป็นเงื่อนไขทำลายหลักตรรกะ “มิวฌวลลี แอสชัวร์ เดสทรัคชัน” ที่ถูกใช้เป็นพื้นฐานของสนธิสัญญานิวเคลียร์ในอดีต ซึ่งระบุเอาไว้ว่า ไม่ว่าชาติไหนเริ่มใช้นิวเคลียร์ก่อน ทั้งชาติเป้าหมายและชาติที่ลงมือก่อนจะถูกทำลายลงเหมือนๆกันจากอานุภาพนิวเคลียร์ ที่กลายเป็นหลักให้ทุกชาติยับยั้งชั่งใจในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ตลอดมา ลงโดยสิ้นเชิง

นั่นคือ นอยเน็ค เห็นตรงกันกับผู้เชี่ยวชาญการควบคุมอาวุธทั่วไปว่า เอสเอสซี-8 คือตัวบั่นทอนเสถียรภาพอย่างร้ายแรงนั่นเอง

******

ขณะที่รัสเซียพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในเชิงรุก สหรัฐอเมริกา ก็พัฒนาระบบป้องกันเพื่อตั้งรับ ซึ่งยิ่งส่งผลให้ “มิวฌวลลี แอสชัวร์ เดสทรัคชัน” หมดความหมายลงมากยิ่งขึ้นไปอีก ตัวอย่างเช่น ระบบป้องกันที่สามารถป้องกัน “เอสเอสซี-8” ได้ ก็คือ “แพทริออท ซิสเต็ม” ของสหรัฐอเมริกา แต่ปัญหาก็คือ แพทริออท มีรัศมีทำการเพียงไม่กี่กิโลเมตร ยากที่จะป้องกันให้ครอบคลุมทั้งประเทศ หรือ ครอบคลุมทั่วภาคพื้นยุโรปที่ตกอยู่ในสภาพเหมือนอยู่กลาง “เขาควาย” สองด้านอยู่ในเวลานี้

ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกา ก็มอบหมายให้ “ล็อคฮีด มาร์ติน” บริษัทคู่สัญญาสำคัญของกระทรวงกลาโหม พัฒนาระบบอาวุธใหม่ ที่สามารถเดินทางได้เหนือเสียงสูงในระดับเหนือกว่าระดับซุปเปอร์โซนิคที่ผ่านมา

ระบบอาวุธ “ไฮเปอร์โซนิค” ที่มีความเร็วในการเดินทางสูงถึง 20 เท่าของความเร็วเสียง หรือที่เรียกกันว่า มีความเร็วระดับ “มัค 20” ซึ่งเร็วกว่าระดับซุปเปอร์โซนิค (ไม่เกิน มัค5) ที่กองทัพอากาศสหรัฐมีอยู่ เป็นระบบอาวุธตอบสนองเร็วทางอากาศ (แอร์-ลอนช์ แรปิด เรสปอนส์ วีพอน) ซึ่งพัฒนาจากพื้นฐานของขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิค “เอ็กซ์-51 เวฟไรเดอร์” ที่สร้างความฮือฮาขึ้นเมื่อหลายปีก่อน

ระบบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการโจมตีทั่วโลกอย่างเฉียบพลัน” หรือ “พร็อมพ์ โกลบอล สไตรค์” ที่มีองค์ประกอบระดับ ไฮเปอร์โซนิค อีกหลายอย่างรวมทั้ง “ไฮเปอร์โซนิค เทคโนโลยี เวฮิเคิล 2” สำหรับใช้โจมตีทางยุทธศาสตร์ได้ด้วยความเร็วสูงสุด 1.6 กิโลเมตรใน 1 วินาที เท่านั้นเอง

รัสเซีย ตอบโต้พัฒนาการดังกล่าวด้วยระบบอาวุธ ไฮเปอร์โซนิค ของตัวเอง อาทิ “อาแวนการ์ด มิสไซล์” ซึ่งมีรายงานว่าสามารถทำความเร็วได้ถึง มัค20 เช่นเดียวกัน เรื่อยไปจนถึง “คินซาล” หรือ “แด็กเกอร์-กริช” มิสไซล์ที่มีพิสัยทำการครอบคลุมรัศมี 2,000 กิโลเมตรพร้อมติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ ที่สามารถยิงจาก มิก-31 ได้เป็นต้น

แต่ที่สร้างความกังวลให้กับทั่วโลกมากที่สุดคือ “ซาร์มัท” หรือที่กองทัพนาโตให้ชื่อรหัสไว้ว่า “เอสเอส-เอ็กซ์-30 ซาตาน2” ขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ที่ว่ากันว่าหนักถึง 100 ตัว ใหญ่กว่า มินิทแมน3 ขีปนาวุธมาตรฐานขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาถึง 3 เท่า ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ถึง 24 หัว และสามารถติดตั้งไว้กับอากาศยานร่อนระดับไฮเปอร์โซนิค ที่มีศักยภาพเชิงเมนูเวอเรเบิลสูง และมีความเร็วระดับมัค 20 ได้อีกด้วย

จนถึงขณะนี้ คลังสรรพาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกากับรัสเซียรวมกันแล้ว คิดสัดส่วนเป็น 92 เปอร์เซ็นต์ของอาวุธนิวเคลียร์ที่ทั่วทั้งโลกมีอยู่ในครอบครอง

ปัญหาก็คือว่า สัดส่วนดังกล่าวมีแต่จะลดลง เพราะประเทศอย่าง จีน ขยับไล่ตามขึ้นมาอย่างรวดเร็วแล้วในเวลานี้

เร็วมากถึงขนาดที่ ถ้าถามว่า ประเทศใดในโลกนี้ที่มีขีปนาวุธพิสัยกลางที่ใช้ยิงแบบขีปนวิถีอยู่ในครอบครองมากที่สุด

คำตอบไม่ใช่สหรัฐอเมริกา หรือ รัสเซียอีกต่อไป แต่เป็น จีน นี่เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image