คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : หมู่บ้านเบงกาลา ดินแดนแห่งการใช้ “ภาษามือ”

เครดิตภาพ BBC : Mark Eveleigh

หากได้เข้าไปที่หมู่บ้านเบงกาลา บนเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย จะพบเห็นผู้คนต่างใช้ “ภาษามือ” ในการพูดคุยกันเป็นส่วนใหญ่ เป็นภาษามือที่ใช้สำหรับผู้มีปัญหาในการได้ยิน ที่แตกต่างไปจากภาษามือที่อื่น เรียกว่า ภาษา “กาตา โกลก

และเป็นภาษาที่มีผู้ใช้อยู่เพียง 44 คนทั่วทั้งโลกในตอนนี้

บีบีซีได้รายงานเรื่องเกี่ยวกับหมู่บ้านแห่งนี้ไว้ว่า ที่หมู่บ้านเบงกาลา ประชากรในหมู่บ้านนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้พิการทางการได้ยิน หรือหูหนวก มายาวนานถึง 6 รุ่นแล้ว และปัจจุบัน มีคนหูหนวกในหมู่บ้าน 44 คน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์อธิบายถึงเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนี้ หูหนวกว่า เป็นเพราะยีนด้อย ที่เรียกกันว่า “ดีเอฟเอ็นบี3” ที่มีอยู่ในตัวของชาวบ้านในหมู่บ้าน ซึ่งทำให้เด็กที่เกิดมา 1 ใน 50 เกิดมาเป็นคนหูหนวก

แต่การเกิดเป็นคนหูหนวก หรือที่เรียกว่า “โกลก” ในหมู่บ้านแห่งนี้ ถือเป็นเรื่องที่โชคดีกว่าในพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากกว่าครึ่งหนึ่งของคนที่ไม่ได้หูหนวก ต่างเรียนรู้ภาษา “กาตา โกลก” ทำให้ผู้คนในหมู่บ้านสามารถสื่อสารกันได้ แม้ว่าจะไม่ได้เปล่งเสียงออกมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าจะเห็นคนปกติทั่วไป พูดคุยด้วยภาษามือกับคนหูหนวก

Advertisement

หมู่บ้านเบงกาลานี้ เป็นดินแดนหลังเทือกเขาที่ตั้งอยู่ตอนเหนือของเกาะบาหลี และหากขับรถจะอยู่ห่างจากเมืองอูบุด ดินแดนแห่งภูเขาไฟ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ราว 2 ชั่วโมงครึ่ง มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวน้อย และยังถือว่าเป็นหนึ่งในส่วนที่ยากจนที่ยากจนที่สุดของเกาะบาหลี แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอินโดนีเซีย

คนหูหนวกในหมู่บ้านเบงกาลา เรียกได้ว่า มีความเท่าเทียมกันกับคนทั่วไปในหมู่บ้านในเรื่องการทำงาน โดยคนหูหนวกส่วนใหญ่ ทำอาชีพเกษตรกร ไม่ก็ใช้แรงงาน แต่ก็มีการว่าจ้างให้คนเหล่านี้ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และสัปเหร่อ

เรียกได้ว่า ผู้ที่เกิดมาหูหนวกในหมู่บ้านแห่งนี้ ไม่ได้ถูกเหยียดหยามว่าเป็นผู้พิการ แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ไม่มีการแบ่งแยกกัน

Advertisement

เป็นหมู่บ้านที่เป็นตัวอย่างที่ดี ที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเกิดมาปกติครบ 32 หรือไม่ครบ ก็ไม่ใช่อุปสรรคในการดำรงชีวิตร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image