‘วีรชัย’ ในความทรงจำ

ชี้แจงกับคณะกรรมการประมงสภายุโรป

หมายเหตุ “มติชน” – การจากไปของท่านทูตวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่จะทำให้ทุกคนที่ได้ทราบต่างตกใจกับข่าวร้ายอันไม่คาดคิด และเสียใจที่คนมีความสามารถรอบด้าน ซึ่งน่าจะทำประโยชน์อีกมากมายให้กับประเทศไทยได้จากไปก่อนวัยอันควร “มติชน” จึงเปิดพื้นที่ตรงนี้ เพื่อให้พี่น้องผองเพื่อนไปจนถึงคนที่รู้จักและใกล้ชิดสนิทสนมกับ “ทูตแสบ” ได้ทำให้พวกเราคนไทยเห็นถึงมุมของความเป็นมนุษย์ที่มีครบรส ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า 58 ปีที่ผ่านมา ทูตแสบได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่ามากที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งพึงกระทำได้แล้ว

สัปดาห์นี้ นางศิริลักษณ์ นิยม รองอธิบดีกรมยุโรป ช่วยเล่าให้เราได้ทราบถึงการทำงานของทูตแสบ ในฐานะ “หัวหน้าคณะเจรจาการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายกับสหภาพยุโรป” และเป็นบุคคลที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการทำให้ไทยได้ปลดใบเหลืองและรอดพ้นจากใบแดงในการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู)

ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมงานกับท่านทูตวีรชัยครั้งแรกเมื่อครั้งประจำการที่ สอท. ณ กรุงเฮก ในช่วงระหว่างปี 2555-2558 ซึ่งเป็นช่วงที่ท่านทูตมีภารกิจสำคัญในการชี้แจงต่อศาลโลกเพื่อต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร ก่อนที่ศาลโลกจะมีคำตัดสินเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 จึงทำให้มีโอกาสได้เห็นการทำงานอย่างทุ่มเทของท่านทูตเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ทั้งการเตรียมการด้านข้อมูล การประชุมปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้อง และการซักซ้อมการขึ้นศาล ซึ่งท่านทูตทำการบ้านอย่างหนักมาก แต่ไม่เคยได้ยินท่านทูตบ่นแม้แต่คำเดียวว่าเหนื่อยหรือหนัก ตรงกันข้ามท่านทูตกลับมีความมั่นใจในการต่อสู้คดีอย่างยิ่ง ไม่มีการแสดงความกังวลหรือความเครียดให้เห็น แม้ในช่วงนั้นจะมีงานใหญ่เข้ามาพร้อมกันหลายเรื่อง ท่านบอกว่าเมื่อเป็นหน้าที่ก็ต้องทำให้ดีที่สุดอย่างเต็มที่ และทำอย่างตรงไปตรงมาไม่มีวาระอื่นนอกจากผลสำเร็จของงาน

ท่านทูตเป็นคนที่สนุกสนานเฮฮามีความสุขกับการดื่มไวน์ เล่นดนตรี และชิมอาหาร แต่ฉากหลังท่านคือคนจริงจัง และเป็นนักการศึกษาตัวยง ทำให้ท่านเป็นผู้รอบรู้ รู้ลึกและรู้จริงในทุกเรื่อง บางครั้งอาจเห็นว่าท่านเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดุ แต่จริงๆ แล้วท่านเป็นคนที่มีเมตตา ไม่มีเรื่องส่วนตัวนอกจากการสอนงาน ท่านบอกเสมอให้พยายามหามุมบวกในภาระหรือปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้เรามีพลังสู้ในการทำงาน ซึ่งได้ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจต่อทุกคนที่สถานทูตในช่วงนั้น

Advertisement
ทีมงานที่สอท. ณ กรุงเฮก ผู้เขียนอยู่ฝั่งขวาของทูตแสบ

การครองตนในการทำงานของท่านทูต ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เขียนที่พร้อมจะทำงานให้ท่านอย่างสุดตัวเพื่อเป็นกำลังสนับสนุนการทำงานของท่านและความสำเร็จของงาน พวกเราที่สถานทูตก็ได้ชวนท่านไปเลี้ยงฉลองในฐานะ “ฮีโร่เขาพระวิหาร” ซึ่งท่านทูตก็เล่าเกร็ดเหตุการณ์ต่างๆ ให้พวกเราฟังอย่างเพลิดเพลินจนร้านอาหารปิด เมื่อท่านเดินทางไปรับหน้าที่ใหม่ที่คณะทูตถาวร ณ นครนิวยอร์ก ท่านได้อีเมล์มาหาผู้เขียนว่าท่านได้เดินทางมาถึงนิวยอร์กแล้ว หิมะตกต้อนรับท่านพอดี และบอกว่าหวังว่าจะได้มีโอกาสร่วมงานกันอีก ผู้เขียนยังตอบท่านไปว่า ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนท่านยังคือผู้บังคับบัญชาในใจของผู้เขียนตลอดไป

ผู้เขียนได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ที่กรมยุโรปเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่อียูได้ประกาศให้ใบเหลืองไทยพอดี และรัฐบาลได้แต่งตั้งให้ท่านเป็น “หัวหน้าคณะเจรจาการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายกับอียู” เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 จึงเหมือนเป็นโชคชะตาที่ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานอย่างใกล้ชิดกับท่านทูตอีกครั้ง ท่านทูตเข้ามาในช่วงที่ถือได้ว่าวิกฤตที่สุดแล้วในห้วงการได้ใบเหลือง เพราะไทยกำลังเสี่ยงที่จะได้ใบแดงซึ่งอียูเรียกว่า “red zone” อันเนื่องมาจากปัญหาในการเจรจากับอียูในช่วงที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้า ซึ่งการได้ใบแดงหมายถึงสินค้าประมงของไทยจะถูกบอยคอตไม่สามารถส่งเข้าไปขายในตลาดอียูได้

จำได้ว่าเมื่อท่านเดินทางจากนิวยอร์กมาถึงกรุงเทพฯ ท่านก็ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทันที ท่านเป็นผู้ที่อธิบายให้หน่วยงานไทยได้เห็นว่าเรากำลังเจอกับอะไร และปัญหาอยู่ที่ไหน ท่านอธิบายง่ายๆ ว่า อียูมองว่าไทยเป็นแหล่งฟอกปลาผิดกฎหมาย และส่งสินค้าราคาถูกที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมายไปตีตลาดเขา เขาจึงต้องการให้เรามีการควบคุมการทำประมงในมาตรฐานที่เป็นสากล

Advertisement
เลี้ยงอาหารหัวหน้าคณะฝ่ายอียู

ท่านมองได้อย่างทะลุปรุโปร่งว่า การคุยกับอียูไม่ยากเท่ากับว่าจะทำอย่างไรให้หน่วยงานไทยยอมรับและตระหนักถึงปัญหา รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างกว้างไกล ตลาดทั่วโลกจะบอยคอตสินค้าไทยไม่ใช่เฉพาะแต่อียู ซึ่งต้องทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจังและเป็นระบบโดยเร็ว โดยท่านวางหลักไว้ว่าเราต้องแก้ไขปัญหาอย่างโปร่งใส จริงจัง และตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในการคุยกับอียูอันเป็นหัวใจสำคัญของการปลดใบเหลือง ในขณะเดียวกันท่านก็ได้ติดต่อแนะนำตัวกับหัวหน้าคณะเจรจาของฝ่ายอียู และขอทราบว่าปัญหาในการคุยกับฝ่ายไทยในช่วงที่ผ่านมานั้นคืออะไร ภารกิจแรกของท่านคือการสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นกับฝ่ายอียู เพื่อให้อียูให้เวลากับไทยในการแก้ไขปัญหา และให้เป็นฐานที่มั่นคงของการหารือในรอบต่อๆ มา

ท่านทูตเดินทางไปเจรจากับอียูรอบแรกเมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่กรุงบรัสเซลส์ สิ่งแรกที่อียูขอมาตั้งแต่ไทยได้ใบเหลืองคือโครงสร้างกองเรือประมงของไทย ท่านเป็นคนที่เคาะผังกองเรือนี้ออกมาได้และสามารถยื่นให้ฝ่ายอียูดูได้เป็นครั้งแรก ซึ่งกองเรือมีหลายชนิดหลายประเภทและมีความซับซ้อน อีกทั้งยังมีจำนวนตัวเลขที่ไม่แน่นอน แต่ท่านทูตก็สามารถทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว และเป็นคนกำกับชี้แนะว่าผังนี้ควรเขียนออกมาอย่างไรเพื่อให้อียูเข้าใจได้ ทั้งๆ ที่ท่านก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกทึ่งกับความสามารถของท่าน

ที่สำคัญภายหลังการหารือกับอียูในครั้งนั้น บรรยากาศการทำงานของหน่วยงานไทยดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ในห้องทำงานมีแต่เสียงหัวเราะและการหยอกล้อระหว่างเจ้าหน้าที่ ทุกคนต่างรู้สึกยินดีที่การหารือกับอียูเป็นไปด้วยดี ดูมีทิศทางและมีความหวัง และเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาที่เริ่มเข้าที่เข้าทางในระยะเวลาต่อมา

ท่านทูตได้หารือกับฝ่ายอียูรวมทั้งหมด 10 รอบ ในแต่ละรอบท่านได้เจรจากับฝ่ายอียูเพื่อหาทางออกให้กับหน่วยงานไทยในประเด็นที่เป็นปัญหา โดยท่านจะใช้วิธีเชิญหัวหน้าคณะฝ่ายอียูไปทานอาหารค่ำเคล้าไวน์กันแบบสองต่อสองในคืนก่อนวันหารืออย่างเป็นทางการ แต่ละครั้งท่านก็จะมีโน้ตเล็กๆ 1 แผ่นเขียนด้วยลายมือรวบรวมประเด็นทั้งหมดไปคุยหาทางออกที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย หลังเสร็จอาหารค่ำท่านก็จะโทรมาบรีฟให้ฟังทันทีว่าผลการคุยกับอียูเป็นอย่างไร เพื่อให้ผู้เขียนนำไปแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ ท่านยังได้นำเอกสารชี้แจงของหน่วยงานต่างๆ ที่อียูขอมาดูและช่วยตรวจแก้ให้ บางครั้งภายหลังการหารือกับอียู ท่านยังนั่งตรวจแก้เอกสารเหล่านั้นอยู่อีกหลายชั่วโมงในห้องประชุม รวมทั้งรายงานผลการหารือเสนอนายกรัฐมนตรีในทันทีก่อนเดินทางกลับ

บทบาทการเป็นหัวหน้าคณะเจรจาของท่านได้ช่วยให้ไทยได้ปลดใบเหลืองเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับที่ท่านได้เข้ามาปกป้องไทยจากใบแดงก่อนหน้านั้นได้อย่างทันเวลา นี่เป็นสิ่งที่ผู้เขียนอยากให้ทุกฝ่ายและสาธารณชนได้ตระหนักถึงคุณูปการของท่านทูตที่มีต่อประเทศในเรื่องนี้ เพราะก่อนหน้านี้สาธารณชนส่วนใหญ่มักได้รับรู้เฉพาะเรื่องการปลดใบเหลือง แต่ไม่ได้รู้ลึกว่าท่านทูตคือคนที่นำประเทศไทยออกจาก red zone

ท่านทูตได้เดินทางมาหารือกับอียูในรอบสุดท้ายที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ผู้เขียนได้ร่ำลาท่านทูตที่ร้านอาหารภายหลังการเลี้ยงอาหารค่ำคณะของอียู ซึ่งก็ไม่ได้คาดคิดว่านั่นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ผู้เขียนจะได้พบกับท่านทูต ก่อนท่านทูตจะจากไป 2 อาทิตย์ก็ยังได้คุยไลน์กับท่าน ซึ่งท่านก็ยังบอกว่าอาการเจ็บป่วยของท่านต้องใช้เวลารักษาอย่างน้อยจนถึงเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม ท่านยังเชื่อว่าท่านจะหาย ท่านยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องประมงด้วยว่า ที่แก้กันมาทั้งหมด เมื่อบริบททางการเมืองเปลี่ยนไป อาจจะถูกรื้อจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศโดยรวม ซึ่งท่านทูตก็ไม่ต้องรับรู้ในความยุ่งยากเหล่านี้แล้ว

ผู้เขียนสวดมนต์ให้ท่านทุกคืนเมื่อทราบว่าท่านเข้าไอซียู โดยหวังว่าท่านจะอาการดีขึ้น และทำใจได้ยากในการยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ผู้เขียนขอคารวะแด่ดวงวิญญาณของท่านทูต และเป็นเกียรติอย่างสูงในชีวิตราชการแล้วที่ได้มีโอกาสทำงานกับคนดีและคนเก่งอย่างท่านทูตวีรชัย พลาศรัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image