คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ศรีลังกา : เทอร์เรอริสม์ 3.0

(Photo by ISHARA S. KODIKARA / AFP)

แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ก่อการร้ายในศรีลังกา เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา จะมีการปรับลดลงเหลือเพียง 253 ราย จากมากกว่า 350 ราย ก็ตามที แต่ก็ไม่ได้ทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวลดทอนความร้ายแรงลงแต่อย่างใดทั้งสิ้น ตรงกันข้าม จำนวนผู้เสียชีวิตมากมายถึงขนาดนั้น และการลอบวางระเบิดที่ผ่านการวางแผนมาเป็นอย่างดียังคงเป็นเหตุก่อการร้ายที่รุนแรงและส่งผลร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปีอยู่เช่นเดิม

เหตุระเบิดเริ่มต้นระลอกแรกต่อเนื่องกันเมื่อเวลาราว 08.45 น.ตามเวลาท้องถิ่น สถานที่ซึ่งตกเป็นเป้าหมายของระเบิดมีทั้งในกรุงโคลัมโบ ซึ่งประกอบด้วยวิหารของคริสตจักรเซนต์แอนโธนี, โรงแรมแชงกรี-ลา, โรงแรมคิงสบิวรี ในเวลาเดียวกัน เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่วิหารเซนต์ เซบาสเตียน ในเมืองเนกอมโบ ขึ้นตามมา

ถัดจากนั้นมาเพียง 5 นาที คนร้ายก็ลงมือจุดชนวนระเบิดขึ้นที่โรงแรมชินนามอน แกรนด์ ในกรุงโคลัมโบอีกแห่งเมื่อเวลา 08.50 น.

09.50 น. เกิดระเบิดขึ้นที่โบสถ์คริสต์ ไซออน อีแวนเจลิคอล ต่อด้วยการระเบิดที่เรือนรับรองของรัฐบาลใกล้กับสวนสัตว์แห่งชาติในเมืองเทหิวลาเมื่อเวลา 13.45 น. และปิดท้ายด้วยการระเบิดที่อาคารการเคหะในเมืองเทมาตะโกต เมื่อเวลา 14.15 น.

Advertisement

เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงของศรีลังกาตั้งข้อสงสัยว่า กลุ่มที่ลงมือเป็นกลุ่มก่อการร้ายในท้องถิ่นที่นิยมแนวทางญิฮาดสุดโต่ง เรียกตัวเองว่า “เนชันแนล ทอว์วีด จามัธ” หรือ “เอ็นทีเจ”

ในขณะที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญการก่อการร้ายระดับนานาชาติตั้งข้อสังเกตว่า รูปแบบของการก่อการร้ายในครั้งนี้รวมถึงการทำงานสอดประสานต่อเนื่องกันและการคัดเลือกเป้าหมาย เรื่อยไปจนถึงจังหวะเวลาในการลงมือดำเนินการ สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบและวิธีการของมือก่อการร้ายระดับนานาชาติ

ชนิดที่ว่า หากไม่ใช่กลุ่มก่อการร้ายมืออาชีพที่ว่านั้นเป็นผู้บัญชาการเอง ผู้ที่ลงมือหากไม่ผ่านการอบรมมาโดยตรงก็ต้องได้รับการชี้แนะ กำหนดวิธีการมาจากกลุ่มก่อการร้ายระดับโลกที่ว่านั้น

Advertisement

ข้อสังเกตดังกล่าวได้รับการยืนยันในเวลาต่อมา เมื่อกลุ่มก่อการร้ายระดับโลกอย่างกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) ประกาศผ่านกระบอกเสียงของตน อ้างความรับผิดชอบในเหตุการณ์ครั้งนี้ “เพื่อตอบโต้ใครก็ตามที่ร่วมมือกับกองกำลังของสหรัฐอเมริกา” ลงมือในการโจมตีต่อ “รัฐกาหลิบอิสลาม” ของตนในอิรักและซีเรีย

ซึ่งทำให้ผู้สันทัดกรณีได้ข้อสรุป 2 ประการ หนึ่งคือ ไอเอสแม้จะสูญเสีย “รัฐอิสลาม” ของตนแต่ก็ยังอยู่ห่างไกลจากความพ่ายแพ้

อีกหนึ่งก็คือ ไอเอสและผู้นิยมแนวคิดตามลัทธิ ซาลาฟี-ญิฮาด ของไอเอส ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อทั่วทั้งโลกอยู่ต่อไปด้วยวิธีการก่อการร้ายอำมหิตของตนเอง

รูปแบบการก่อการร้ายด้วยมือระเบิดที่ยินยอมฆ่าตัวตายไปพร้อมๆ กับปฏิบัติการของตนเอง ลงมือต่อเนื่องกันเป็นระลอกในศรีลังกาในครั้งนี้ ทำให้ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ก่อการร้ายระหว่างประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหวนกลับไปคิดถึงกลุ่มก่อการร้ายที่เคยแบ่งตัวเองเป็นกลุ่มก้อนขนาดเล็ก ที่มักเรียกกันว่า “เซลล์” ฝังตัวอยู่ในพื้นที่เป้าหมายเนิ่นนานก่อนหน้าที่จะลงมือ

ในกรณีนี้ไม่ใช่เซลล์ก่อการร้ายที่ส่งมาลงมือโดยตรง หากแต่เป็นกลุ่มก้อนก่อการร้ายในท้องถิ่น ภายใต้การนำของ โมฮัมเหม็ด ซาฮ์ราน ครูสอนศาสนา ที่แยกกลุ่มเอ็นทีเจออกมาจากขบวนการก่อการร้ายมุสลิมสุดโต่งอีกกลุ่มซึ่งใช้ชื่อว่า “ศรีลังกา ทอว์วีด จามัธ” หรือ “เอสแอลทีเจ” ในอดีต

แต่ได้รับการหนุนหลังและได้รับการฝึกรวมทั้งวางแผนการลงมือจากมือก่อการร้ายระดับ “ผู้เชี่ยวชาญ” ขององค์กรก่อการร้ายระหว่างประเทศ

มีรายงานบางกระแสระบุว่า ซาฮ์รานประกาศตัวจงรักภักดีต่อไอเอสไปเมื่อปี 2016 หลังจากหายหน้าหายตาไปจากศรีลังกามาตั้งแต่ปี 2014

วิธีการเลือกเป้าหมายในการโจมตีเป็นหลักฐานบ่งชี้อีกอย่างว่าการก่อการร้ายครั้งนี้ “ก๊อบปี้” มาจากกลุ่มก่อการร้ายระดับโลกก่อนหน้านี้ หากไม่ใช่คนเหล่านั้นเป็นผู้ลงมือวางแผนและกำหนดเป้าหมายให้เอง

ตัวอย่างของการก่อการร้ายทำนองเดียวกันนี้ในอดีต มีอาทิ การก่อการร้ายของกลุ่ม “สาขา” ของไอเอสในอียิปต์ ซึ่งเลือกโบสถ์คริสต์และผู้แสวงบุญคริสเตียน คอปติก เป็นเป้าหมายในการโจมตีอย่างเป็นระบบหลายต่อหลายครั้ง ในทางหนึ่ง เพื่อยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ความขัดแย้งขึ้นในสังคม ในอีกทางหนึ่งเป็นไปเพื่อทำร้าย หรือทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของอียิปต์พร้อมๆ กันไปในตัว

เป็นการผสมผสาน 2 วัตถุประสงค์ลงไปในเป้าหมายเดียวกันเหมือนกันเป๊ะกับเหตุก่อการร้ายที่ศรีลังกา ซึ่งเกิดในช่วงสัปดาห์อีสเตอร์ เป้าหมายเป็นทั้งโบสถ์และโรงแรมที่พักชื่อดังของนักท่องเที่ยวนานาชาติ

ในช่วงระหว่างปี 2016 เรื่อยมาจนถึงปี 2018 กลุ่มนิยมลัทธิญิฮาดสุดโต่งเหล่านี้ลงมือโจมตีโบสถ์คริสต์หลายแห่งในกรุงไคโร นครอเล็กซานเดรีย และย่านที่ราบลุ่มปากแม่น้ำไนล์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปไม่น้อยกว่า 100 ราย

การโจมตีรถบัสนักท่องเที่ยวในบริเวณใกล้กับมหาพีระมิดกีซา เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุให้นักท่องเที่ยว 4 รายเสียชีวิต ก็เป็นฝีมือของไอเอส ก่อนหน้านั้นราว 1 เดือน กลุ่มมือปืนของไอเอสก็กราดยิงใส่รถบัสที่นักแสวงบุญคอปติก คริสเตียนใช้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 7 ราย บาดเจ็บสาหัสอีก 16 ราย

ในอิรักไม่ต้องพูดถึง การสังหารหมู่และการโจมตีต่อชาวคริสต์เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยมือปืนและมือระเบิดไอเอส

ที่ฟิลิปปินส์ เป็นพื้นที่ซึ่งไอเอสเคลื่อนไหวคึกคักมากที่สุดแห่งหนึ่ง ผ่านองค์กรก่อการร้ายท้องถิ่นอย่าง อาบูไซยัฟ ซึ่งประกาศการจงรักภักดีต่อไอเอสอย่างเป็นงานเป็นการมาตั้งแต่ปี 2014

เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ กลุ่มอาบูไซยัฟก็ลงมือโจมตีโบสถ์โรมันคาทอลิกแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศ ฆ่าคนไป 23 คน บาดเจ็บอีกกว่าร้อยราย

เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2017 ไอเอสประกาศการจัดตั้ง “สาขา” แห่งใหม่ในแคชเมียร์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการใหญ่ของขบวนการ

นั่นคือการก่อตั้งรัฐอิสลามสุดโต่งขึ้นเหนือชมพูทวีปนั่นเอง

เหยื่อขบวนการก่อการร้ายหัวรุนแรงเหล่านี้ บ่อยครั้งที่เป็นมุสลิมด้วยกันเอง แต่มักถูกระบุว่าเป็นมุสลิม “นอกรีต” เพราะปฏิเสธแนวความคิดสุดโต่งตามอุดมการณ์ ซาลาฟี-ญิฮาด ดังนั้นจึง “สมควรแล้วที่ตกเป็นเป้า” ในการโจมตี

รูปแบบการโจมตีทั้งที่เพื่อบรรลุเป้าประสงค์เชิงอุดมการณ์ พร้อมๆ กับการทำลายเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศไปด้วยเช่นที่เกิดขึ้นในศรีลังกาครั้งนี้ ยังเปรียบเสมือนเป็น “คำเตือน” กลายๆ ต่อบรรดาประชาคมระหว่างประเทศว่า การทำลายรัฐอิสลามในตะวันออกกลางนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อศักยภาพ หรือต่อแนวคิดของไอเอสแต่อย่างใด

แนวคิด ซาลาฟี-ญิฮาด แบบสุดโต่ง แม้จะถูกทำลายได้รับความเสียหายไปอยู่บ้าง แต่ก็ยังดิ้นรนมีชีวิตต่อไปได้ ยังสามารถโน้มน้าว ปลุกเซลล์ก่อการร้ายของตนทั่วโลกให้ “ลงมือก่อการ” ได้อยู่ร่ำไป

ซ้ำร้าย หายนะระดับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของคนเหล่านี้ที่ศรีลังกา มีแต่จะกลายเป็นแรงจูงใจให้กลุ่มก่อการร้ายที่มีแนวความคิดสุดโต่งแบบเดียวกันในหลายๆ ประเทศคึกคักมากขึ้น กล้าหาญมากขึ้นในอันที่จะ “ทดลอง” ลงมือปฏิบัติการของตนเองขึ้นมาบ้าง

ศูนย์ เมเอียร์ อามิต ในสังกัดศูนย์เพื่อข้อมูลข่าวกรองและการก่อการร้ายของอิสราเอล เผยแพร่รายงานออกมาเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง เตือนเอาไว้ว่า

“ไอเอส หรือไอซิส อ่อนแอลงก็จริง แต่แม้จะประสบปัญหาอยู่บ้าง ก็ยังไม่ได้พ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง ไอเอสยังคงมีทรัพย์สินในเชิงยุทธศาสตร์อยู่ในมือ ซึ่งจะช่วยให้สามารถฟื้นฟูตัวเองขึ้นมาได้ และจะยังคงคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของประชาคมนานาชาติต่อไปได้”

ในรายงานชิ้นเดียวกันนี้ สรุปความสำคัญเอาไว้ว่า ภัยคุกคามที่กลุ่มก่อการร้ายที่มีแนวคิด ซาลาฟี-ญิฮาด แบบสุดโต่งนี้ จะยังคงเป็นภัยคุกคามต่อเนื่อง ทั้งกับโลกตะวันตก, ตะวันออกกลาง, เอเชีย และแอฟริกา

“ไอเอสที่เป็นเครื่องหมายการค้า เสื่อมทรุดลงไปในระดับหนึ่ง แต่ตัวองค์กรและอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังยังคงเป็นสิ่งดึงดูดใจต่อมุสลิมรุ่นใหม่ทั้งหลายในอิรัก และซีเรีย, ประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง และทั่วโลก

“ไอเอสจะวางสถานะของตัวเองเสียใหม่ เป็นองค์กรก่อการร้ายกองโจรระดับโลกที่ปฏิบัติการได้ในหลายระดับ หลายเวที ไม่มีศูนย์รวม และไม่ถูกจำกัดด้วยเส้นเขตแดน และประชากรที่จะเป็นภาระของตนเองอีกต่อไป”

นั่นหมายความว่า แนวคิด ซาลาฟี-ญิฮาด แบบสุดโต่งซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของการฟื้นฟูความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของอิสลามในยุคศตวรรษที่ 7 จะยังไม่หายไปไหนในเร็ววัน

เช่นเดียวกับการก่อการร้ายที่พัฒนาการรูปแบบขึ้นไปอีกระดับ อีกเวอร์ชั่นหนึ่งแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image