คอลัมน์ People In Focus : ไอ.เอ็ม. เป สถาปนิกผู้ออกแบบพีระมิดลูฟร์

ไอ.เอ็ม. เป สถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังสถาปัตยกรรมที่กลายเป็น “ไอคอน” หนึ่งของฝรั่งเศส อย่างพีระมิด ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ได้จากโลกนี้ไปแล้วด้วยวัย 102 ปี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา

สถาปนิกชาวอเมริกันเชื้อสายจีน มีผลงานที่เป็นที่จดจำจำนวนมากซึ่งถูกมองว่าเป็นการใช้ความทันสมัยเสริมด้วยรากฐานมาจากประวัติศาสตร์ในการออกแบบ

เกิดในประเทศจีน เมื่อปี 1917 ลูกชายของนายธนาคารเดินทางเข้าสู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุ 17 ปี เรียนจบปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ในปี 1940 จบระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ในปี 1946 ก่อนจะได้สัญชาติอเมริกันในปี 1954

ผลงานในช่วงแรกของ เป ที่โดดเด่นเช่น อาคารด้านตะวันออก ของหอศิลป์แห่งชาติ ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ที่เปิดให้เข้าชมครั้งแรกเมื่อปี 1978

Advertisement

ผลงานอื่นๆของเปที่เป็นที่รู้จักนั้นรวมไปถึง หอเกียรติยศและพิพิธภัณฑ์ร็อกแอนด์โรล ในเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ, พิพิธภัณฑ์มิโฮะ ในประเทศญี่ปุ่น, มอร์ตัน เมเยอร์สัน ซิมฟอร์นี เซ็นเตอร์ ในเมืองดัลลัส รวมไปถึงห้องสมุดจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ในเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา รวมไปถึง พิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลาม ในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์

ผลงานอันเป็นที่จดจำมากที่สุดของเป เกิดขึ้นเมื่อ ฟรองซัวส์ มิตเตอร์รองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในเวลานั้นต้องการสร้างพีระมิดที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ เพื่อแก้ปัญหาทางเข้าพิพิธภัณฑ์ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น

เป ผู้ออกแบบ พีระมิดกระจกใสขนาดยักษ์แปลกตา ซึ่งสร้างเสร็จและเปิดใช้งานในปี 1989 นั้นได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักแต่สุดท้ายผลงานของเปก็กลายเป็นที่ยอมรับแล้วในเวลานี้

Advertisement

“หลังจากลูฟร์ ผมคิดว่าไม่มีโครงการไหนที่จะยากไปกว่านี้แล้ว” เป กล่าว

เป กระตือรือร้นที่จะสนับสนุนศิลปะและการศึกษา เคยนั่งเป็นที่ปรึกษาให้กับหอศิลป์ ในนครนิวยอร์ก ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และเอ็มไอที รวมไปถึงนั่งเป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการด้านศิลปะในรัฐบาลหลายตำแหน่ง

เป เคยมอบเงินที่ได้รับจากรางวัล “พริตซเกอร์ อวอร์ด” รางวัลที่เทียบเท่ากับออสการ์ในวงการสถาปัตยกรรมศาสตร์ มูลค่า 100,000 ดอลลาร์ เป็นทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาจากประเทศจีน ได้มาศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา

สถาปนิกชื่อดังยังเป็น 1 ใน 12 ผู้แปลงสัญชาติที่ได้รับเหรียญแห่งเสรีภาพ จากมือประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ในปี 1986 ก่อนจะได้รับเหรียญแห่งอิสรภาพ จากประธานาธิบดีจอร์จ บุช ในปี 1993
นอกจากนี้เป ยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับสูงถึงชั้นเจ้าพนักงาน ในปี 1993 หลังจากการก่อสร้างพีระมิดพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ในเฟสที่ 2 เสร็จสิ้นเมื่อปี 1993 ด้วย

คณะกรรมการรางวัลพริตซเกอร์ เคยยกย่อง เปเอาไว้เมื่อปี 1983 ว่า ประสาทสัมผัสและความอดทนทำให้เขาสามารถดึงเอาผู้คนที่มีความสนใจและความถนัดที่แตกต่างกันมาทำงานสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้

และว่า “ความสามารถและทักษะของเขาในการเลือกใช้วัสดุต่างๆ เข้าขั้นกวีนิพนธ์” เลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image