คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : กึ่งศตวรรษ “อพอลโล11” “ก้าวแรก” บนดวงจันทร์ (1)

(Neil A. Armstrong/NASA via AP)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : กึ่งศตวรรษ”อพอลโล11″ “ก้าวแรก”บนดวงจันทร์ (1)

เมื่อ 20 กรกฎาคม ปี 1969 มีการประเมินกันว่าผู้คนมากกว่า 600 ล้านคนทั่วโลก เฝ้าติดตามอย่างกระวนกระวายและได้รับรู้ถึงนาทีประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติผ่านหน้าจอโทรทัศน์ เมื่อ นีล เอ. อาร์มสตรอง และ เอ็ดวิน อี. อัลดริน จูเนียร์ กลายเป็นมนุษย์ 2 คนแรกที่ย่างเท้า ก้าวลงเหยียบพื้นผิวของดวงจันทร์

เป็นก้าวเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ที่สุดก้าวหนึ่งของมนุษย์

เป็นสัญลักษณ์ของทั้งความองอาจกล้าหาญ ทั้งความสามารถและภูมิปัญญา ที่ทำให้มนุษยชาติสามารถเตร็ดเตร่ออกไปสำรวจ แสวงหา ในดินแดนที่ไกลโพ้นได้สำเร็จในที่สุด

เบื้องหลังของมนุษย์อวกาศ 2 คนบนพื้นผิวดวงจันทร์ ไม่ได้มีเพียงแค่ ไมเคิล คอลลินส์ ที่ทำหน้าที่บังคับยานบัญชาการเพื่อส่งและรับกลับอยู่ในวงโคจรรอบดวงจันทร์ ยังมีวิศวกร เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินและผู้คนที่เกี่ยวข้องอีกไม่น้อยกว่า 400,000 คน ทำหน้าที่ในส่วนของตนเองอยู่หลังฉากยิ่งใหญ่นั้่น

Advertisement

อย่างน้อย 3 คนในจำนวนนั้น ถึงกับพลีชีวิตตนเองให้เป็นเสมือนหนึ่งบันไดขั้นสำคัญขั้นหนึ่ง เพื่อให้การไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งนี้เป็นไปได้

ภารกิจดังกล่าว ได้รับการขนานนามไว้ว่า “อพอลโล 11” ถือเป็นจุดไคลแม็กซ์ของ “โครงการอพอลโล” โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อนำมนุษย์ไปเหยียบลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ และเดินทางกลับโลกมาโดยสวัสดิภาพ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา

อุบัติการณ์ที่เพียงไม่นานก่อนหน้านั้นเป็นจริงได้ก็แต่ในนิยายวิทยาศาสตร์ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวบรัด ถูกขับเคลื่อน เร่งความเร็วจนถึงขีดสุดอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ จากสภาวการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศของยุคสงครามเย็น ที่ลุกลามจนกลายเป็นการแข่งขันกันสำรวจอวกาศระหว่าง สหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกา

Advertisement

ก่อนหน้า “โปรเจ็กต์อพอลโล” สหรัฐอเมริกาดำเนินความพยายามเพื่อเอาชนะโซเวียตด้วยโครงการอวกาศมาแล้ว 2 โครงการ หนึ่งคือ โครงการเมอร์คิวรี ในปี 1958 อีกหนึ่งคือ โครงการเจมินี ในปี 1961 แต่จนแล้วจนรอดก็ยังตกเป็นรองสหภาพโซเวียตที่ก้าวล้ำหน้าไปได้ทุกครั้ง ตั้งแต่ภารกิจ “สปุตนิค” ดาวเทียมดวงแรกที่ถูกส่งออกไปโคจรรอบโลกได้สำเร็จ เรื่อยไปจนถึงการทำให้ ยูริ กาการิน กลายเป็นมนุษย์อวกาศรายแรกของโลกที่ขึ้นสู่อวกาศ และการส่งยานสำรวจไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรกของโลก รวมถึงยาน ลูนา 2 ที่ถือเป็นยานอวกาศลำแรกจากโลกมนุษย์ที่ไปลงยังพื้นผิวของดวงจันทร์

การนำมนุษย์อวกาศไปลงยังพื้นผิวของดวงจันทร์ให้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกให้ได้ จึงกลายเป็นเส้นชัยของการแข่งขันไปโดยปริยาย

ซาดิฟ ซิดดิกี นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อวกาศจากมหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮม ในนิวยอร์ก ระบุว่า สภาวการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อเมริกันที่ได้รับชัยชนะและเป็นชาติเดียวที่เศรษฐกิจเติบโตขยายตัวหลังสงคราม เริ่มเชื่อมั่นตระหนักและเชื่อมั่นในตัวเองถึงระดับที่อวดอ้างได้ว่า ไม่ว่า อะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นในเชิงเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ สหรัฐอเมริกาคือผู้ที่คิดค้นเป็นชาติแรกในห้วงเวลานั้น

ในปี 1961 จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีอเมริกัน ตัดสินใจอวดศักยภาพของชาติในด้านนี้ให้ถึงที่สุด เคนเนดีกล่าวต่อคองเกรสว่า เป้าหมายที่ต้องบรรลุถึงให้ได้เพื่อแสดงถึงเรื่องนี้ก็คือ “การส่งใครสักคนไปลงบนดวงจันทร์แล้วนำตัวเขากลับโลกมาโดยสวัสดิภาพ” ให้ได้ภายในสิ้นทศวรรษนี้

ปีถัดมา ที่ไรซ์ สเตเดียม ในมลรัฐเท็กซัส เคนเนดี ขึ้นกล่าวปราศรัยครั้งสำคัญ ประโยคหนึ่งในคำปราศรัยครั้งนั้นบอกอย่างเรียบง่ายแต่เฉียบขาดว่า “เราเลือกที่จะไปลงบนดวงจันทร์”

การประกาศต่อสาธารณชนดังกล่าว ถูกอุปมาว่าเหมือนจุดกองไฟไว้ใต้ที่นั่งของสารพัดคณะทำงานที่เกี่ยวข้องในนาซา ที่ต้องเร่งมือทำทุกอย่างที่ตอนนั้นเหมือนจะ “เป็นไปไม่ได้” ให้ “เป็นไปได้” ขึ้นมา

รัฐบาลอเมริกัน ระดมเงินงบประมาณสำหรับโครงการทะเยอทะยานนี้เอาไว้ถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมหาศาลมากเมื่อคำนึงถึงค่าของเงินในเวลาย้อนกลับไปในยุคทศวรรษ 60 นั้น

เพราะเม็ดเงินจำนวนดังกล่าวเทียบเท่ากับ 2.5 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐอเมริกาต่อปีในเวลานั้นรวมกันถึงราว 10 ปี

โปรเจ็กต์อพอลโล เริ่มต้นจากปี 1961 ไปจบลงในปี 1972 โดยนาซาจะสามารถทำตามเป้าหมายที่เคนเนดีวางเอาไว้ได้สำเร็จตามที่ลั่นวาจาไว้ได้ในปี 1969 แต่หลังจากนั้น ก็ยังส่งมนุษย์อวกาศอีกหลายคนไปลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ในเวลาต่อมาอีกหลายต่อหลายครั้ง

ความสำเร็จของอพอลโล 11 ก็ยังถือเป็นจุดสุดยอดในประวัติศาสตร์การบินอวกาศมาจนถึงขณะนี้

ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติภารกิจหลายภารกิจที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งการเตรียมความพร้อม และการทดลองเทคโนโลยี และยุทธวิธีทั้งหลายเพื่อให้แน่ใจให้ได้มากที่สุด

ที่น่าสนใจก็คือ “อพอลโล 1” ภารกิจแรกสุดของโครการอพอลโล กลับกลายเป็นโศกนาฏกรรม และแทบทำให้โครงการทั้งโครงการมลายกลายเป็นอากาศธาตุด้วยซ้ำไป

อพอลโล 1 เดิมนั้นใช้ชื่อภารกิจเป็นรหัสว่า “อพอลโล แซทเทิร์น-204” หรือ “เอเอส-204” เป็นโครงการอวกาศแรกสุดของสหรัฐอเมริกาที่มีนักบินอวกาศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กำหนดจะส่งนักบินอวกาศ 3 นาย ประกอบด้วย เอ็ด ไวท์, โรเจอร์ บี. แชฟฟี และ กัส กริสสัน ขึ้นไปโคจรในห้วงอวกาศ

โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นในวันที่ 7 มกราคม 1967 เมื่อเกิดประกายไฟขึ้นภายในส่วนบัญชาการของยานอพอลโล 1 ขณะที่นักบินอวกาศทั้ง 3 กำลังทดลองกระบวนการที่ต้องทำก่อนการนำยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ไฟลุกลามอย่างรวดเร็วและทั้งสามเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้ภารกิจไปลงบนดวงจันทร์ยิ่งเป็นไปไม่ได้มากขึ้น หลายคนเชื่อมั่นว่านี่คือจุดจบของโครงการทั้งหมด

แต่นาซาไม่ได้คิดเช่นนั้น

นาซา เพียงแค่ระงับโครงการที่มีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเอาไว้ชั่วคราว แต่ยังคงมุ่งมั่นในการตรวจสอบ ประเมินระบบทุกอย่างใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของมนุษย์อวกาศ อาศัยภารกิจอวกาศไร้มนุษย์ ชื่อรหัส เอเอส-201, เอเอส-202 และ เอเอส-203 กับ อพอลโล 4, 5 และ 6 เป็นตัวทดสอบขีดความสามารถและแก้ปัญหาความปลอดภัยทั้งหมดจนหมดจด

ตอนที่เริ่มต้นส่งมนุษย์อวกาศขึ้นไปกับยานอวกาศใหม่อีกครั้งกับยานอพอลโล 7 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 1968 นั้น ประเด็นเรื่องความปลอดภัยถูกขจัดจนหมดสิ้น

อพอลโล 7 ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงองวกาศและกลับคืนสู่โลกในห้วงเวลาเพียงแค่สัปดาห์เศษ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม แต่นาซาใช้โอกาสนี้ให้นักบินอวกาศบนยานทดสอบการควบคุมบังคับทั้งยานแม่หรือยานบัญชาการ และยานลูกหรือยานบริการ พร้อมทั้งเป็นโครงการแรกที่แสดงให้เห็นว่า ระบบสนับสนุนจากภาคพื้นดิน สามารถทำงานร่วมกับยานและนักบินอวกาศในยานได้อย่างไร

อพอลโล 8 ที่ถูกส่งขึ้นอวกาศตามหลังมาเพียงไม่นานในวันที่ 21 ธันวาคม 1968 คือภารกิจไปเยือนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของนาซา แล้วเดินทางกลับโลกมาในอีกไม่นานหลังจากนั้น คือในวันที่ 27 ธันวาคม แต่ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่สุดก้าวหนึ่งของโครงการอพอลโล

เพราะนั่นคือยานอวกาศลำแรกจากโลกที่นำพามนุษย์เดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์แล้วเดินทางกลับมายังโลกได้เป็นผลสำเร็จ!

สำหรับนาซา ภารกิจ อพอลโล 8 คือ การทดสอบครั้งสำคัญ ต่อทั้งระบบของตัวยานอวกาศและเทคนิคที่ใช้ในการนำร่อง ซึ่งนาซาพัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานในการเดินทางเข้าหาวงโคจรรอบดวงจันทร์และคงอยู่ในวงโคจรดังกล่าว ซึ่งทั้งระบบและเทคนิคดังกล่าวนี้ เป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้การส่งยานลงไปสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ในอนาคตเป็นไปได้

เกร็ดประวัติศาสตร์อวกาศเล็กๆ ชิ้นหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างภารกิจอพอลโล 8 นี้ นั่นคือ บิลล์ แอนเดอร์ส นักบินอวกาศของยาน ถ่ายภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดภาพหนึ่งในแวดวงการสำรวจอวกาศเอาไว้ นั่นคือ ภาพ “เอิร์ธไรส์” โลกที่ค่อยๆ ขยับโผล่ขึ้นมาเหนือท้องฟ้าเมื่อมองจากวงโคจรรอบดวงจันทร์

แอนเดอร์ส ได้ภาพโลกสีน้ำเงินสวยสด ขณะกำลังลอยอยู่ในท้องฟ้าสีดำสนิท เหนือพื้นผิวดาวบริวารของมัน

แกเลน โรเวลล์ ช่างภาพผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพธรรมชาติที่ได้รับการยอมรับพูดถึงภาพนี้ไว้ว่า “คือภาพถ่ายสภาวะแวดล้อมที่ทรงอิทธิพลที่สุดเท่าที่เคยมีการถ่ายกันมา”

ไม่ถึง 4 เดือน ภารกิจอพอลโล 9 ก็เกิดขึ้นตามมา ในวันที่ 3 มีนาคม 1969 และเดินทางกลับโลก โดยลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกในวันที่ 13 มีนาคม หลังจากโคจรอยู่รอบโลกระยะหนึ่ง

เป้าหมายของภารกิจนี้ ก็คือการตรวจสอบและทดลองคุณลักษณะและการทำงานทุกๆ ด้านของยานลูนาร์โมดุล ซึ่งจะเป็นยานสำหรับร่อนลงบนดวงจันทร์ในสภาวะแวดล้อมที่เป็นอวกาศจริงๆ ของวงโคจรรอบโลก เป็นการทดลองการแยกตัวและการกลับเข้ามาเชื่อมต่อกับยานแม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการจำลองสถานการณ์ที่นาซา คาดว่าจะเกิดขึ้นระหว่างการปล่อยยานลูนาร์ลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์นั่นเอง

ภารกิจ อพอลโล 10 ที่เกิดขึ้นตามมาราว 2 เดือนเศษให้หลัง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1969 ถูกใช้เป็นเหมือนการ “ซ้อมใหญ่ครั้งสุดท้าย” สำหรับการสร้างประวัติศาสตร์

อพอลโล 10 นำเอายานบัญชาการ ที่ถูกตั้งชื่อว่า “ชาร์ลี บราวน์” ขึ้นไปพร้อมกับยานบริการสำหรับลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ หรือลูนาร์ โมดุล ที่ได้ชื่อสอดคล้องกันคือ “สนูปปี้” ขึ้นไปสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์

นาซา ใช้ภารกิจอพอลโล 10 เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าทั้งตัวยาน นักบินอวกาศ และหอบังคับการเพื่อสนับสนุนภารกิจภาคพื้นดิน มีความพร้อมสำหรับภารกิจยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นตามมาในอีกราว 2 เดือนหลังจากนั้นมากน้อยแค่ไหน

อพอลโล 10 ดำเนินภารกิจทุกอย่างที่เหมือนกับที่กำหนดไว้ให้อพอลโล 11 ดำเนินการ ยกเว้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นคือ ไม่มีการส่งเจ้า “สนูปปี้” ลงสู่พื้นจริงๆ เท่านั้นเอง

ในที่สุด นาซา ก็กำหนดวันส่งอพอลโล 11 ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ในวันที่ 16 กรกฎาคม 1969

ที่น่าสนใจก็คือ กำหนดวันดังกล่าวห่างจากวันแรกที่เริ่มต้นโครงการอพอลโลเพียงไม่ถึง 1 ปีเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image