คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : กึ่งศตวรรษ”อพอลโล 11″ “ก้าวแรก”บนดวงจันทร์ (2)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : กึ่งศตวรรษ”อพอลโล 11″ “ก้าวแรก”บนดวงจันทร์ (2)

สงครามเย็นก่อให้เกิด “สเปซ เรซ” ที่มี “ดวงจันทร์” เป็นเป้าหมาย กดดันให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ต้องเร่งรัดกระบวนการเตรียมการเพื่อเอาชนะสหภาพโซเวียตให้ได้ภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ซึ่งนั่นหมายถึงทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบให้มากที่สุด ในช่วงเวลาที่น้อยที่สุดเท่าที่สามารถทำได้

ผลลัพธ์กลายเป็นเรื่องน่าทึ่งประการหนึ่งในประวัติศาสตร์การบินอวกาศ เมื่อนาซาประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 ปี หลังจากสามารถส่งมนุษย์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

การทดลองเพื่อการเตรียมการครั้งสุดท้าย คือการส่งยานบัญชาการและบริการ ที่มีชื่อเรียกกันเล่นๆ ว่า “ชาร์ลี บราวน์” กับ ยานลูนาร์โมดุล “สนูปปี้” ขึ้นสู่ห้วงอวกาศและเดินทางถึงวงโคจรรอบดวงจันทร์ตามภารกิจ “อพอลโล 10” เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1969 คือสัญญาณบ่งบอกที่ชัดเจนว่า นาซา พร้อมแล้วสำหรับการส่งคนลงไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์

16 กรกฎาคม 1969 คือกำหนดวันสำหรับการเดินทางขั้นสุดท้ายเพื่อบรรลุถึงเป้าหมาย “ก้าวแรก” บนเทหวัตถุ อื่นใดที่นอกเหนือจากโลกของมนุษยชาติ

Advertisement

นาซาตัดสินใจเลือกใช้บริการของ “แซทเทิร์น ไฟว์” จรวดส่งทรงพลังที่สุดเท่าที่มีอยู่ในเวลานั้นเพื่อการนี้

แซทเทิร์น ไฟว์ หรือแซทเทิร์น 5 เป็นจรวดขนาดมหึมา เมื่อตั้งตรงอยู่บนฐานยิงหมายเลข 39เอ ของศูนย์อวกาศเคนเนดี ในรัฐฟลอริดา เพื่อเตรียมการสำหรับการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์นั้นมันสูงถึง 111 เมตร

นี่คือจรวดที่มีพลังสูงสุด จัดอยู่ในกลุ่มจรวดส่งที่รู้จักกันในชื่อ “เฮฟวี ลิฟต์ เวฮิเคิล” ที่มีแรงขับสูงถึง 34.5 ล้านนิวตัน

Advertisement

นี่ไม่เพียงเป็นจรวดที่สูงที่สุด แต่ยังมีอานุภาพสูงสุดเท่าที่สหรัฐอเมริกาและโลกมีอยู่ในเวลานั้น

แซทเทิร์น 5 ถูกใช้งานครั้งแรกในภารกิจอพอลโล 8 และกลายเป็นจรวดส่งพื้นฐานของนาซาในเวลาต่อมาจนตลอดโครงการอพอลโล เรื่อยไปจนถึงโครงการสถานีอวกาศ “สกายแล็บ” ในเวลาต่อมา

แซทเทิร์น 5 หนัก 2.8 ล้านกิโลกรัม สามารถยกยานอวกาศ สัมภาระ และมนุษย์อวกาศจากพื้นโลกสู่ห้วงอวกาศและต่อเนื่องไปจนถึงวงโคจรของดวงจันทร์ได้ราว 43,000 กิโลกรัม

สำหรับการใช้งานในโครงการอพอลโล นาซาออกแบบให้แซทเทิร์น 5 ทำงานเป็น 3 ขั้นตอน จึงเรียกกันว่าเป็นจรวดชนิด 3 ท่อน หรือ 3 ตอน

ท่อนแรกของแซทเทิร์น 5 ติดตั้งเครื่องยนต์ เอฟ-1 เครื่องยนต์จรวดที่มีพลังมากที่สุดรวม 5 ตัว เพื่อยกตัวจรวดและสัมภาระตามภารกิจขึ้นจากพื้นโลก ก่อนที่จะถูกดีดออกพร้อมๆ กับ ระบบหลบหนีฉุกเฉิน ปล่อยให้จรวดท่อนที่ 2 ทำหน้าที่ต่อนำยานอพอลโล 11 ขึ้นไปจนเกือบถึงวงโคจรรอบโลก หลังจากนั้นก็จะถูกปลดทิ้ง และจะจุดจรวดท่อนที่ 3 เพื่อนำยานออกจากวงโคจรของโลกไปยังวงโคจรของดวงจันทร์ต่อไป

ที่ติดตั้งอยู่เป็นส่วนบนสุดของแซทเทิร์น 5 คือ ตัวยานอพอลโล 11 นั่นเอง

อพอลโล 11 เป็นยานอวกาศที่แยกตัวออกได้เป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนยานบัญชาการ เป็นส่วนที่บรรทุกนักบินอวกาศทั้ง 3 คือ ไมเคิล คอลลินส์, นีล อาร์มสตรอง และ เอ็ดวิน อัลดริน อยู่ภายใน ด้านหนึ่งเป็นระบบควบคุมการปฏิบัติการของยานทั้งหมด พร้อมทั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเดินทางกลับสู่ชั้นบรรยากาศของโลกอีกครั้ง

ส่วนนี้หากจับขึ้นตั้งตรง จะมีความสูง 3.2 เมตร ความกว้างที่ฐาน 3.9 เมตร รูปทรงเหมือนกรวยฐานกว้าง ซึ่งทำให้ยานบัญชาการไม่ได้มีเนื้อที่ว่างมากมายนักสำหรับนักบินทั้ง 3 ปริมาตรของที่ว่ามีเพียง 6 ลูกบาศก์เมตร ขนาดพอๆ กับที่ว่างภายในรถยนต์คันหนึ่งเท่านั้นเอง

ยานบัญชาการ หรือ คอมมานด์ โมดุล นี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนหน้าสุดเป็นรูปกรวย ติดตั้งร่มชูชีพสำหรับกางออกเพื่อลดระดับความเร็วขณะร่อนลงสู่พื้นผิวมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อกลับคืนสู่โลก ด้านท้ายสุดที่เป็นส่วนฐานติดตั้งถังเชื้อเพลิงสำหรับการขับเคลื่อน, เครื่องยนต์, สายไฟที่เชื่อมโยงกับอุปกรณ์ทั้งหมดรวมถึงท่อน้ำ

ส่วนที่สำคัญที่สุดเป็นส่วนตรงกลาง ซึ่งเป็น ส่วนที่พักอาศัย หรือครูว์ คอมพาร์ตเมนต์ ประกอบด้วยเก้าอี้บุนวม 3 ตัว หันหน้าไปยังส่วนกลางลำตัวยาน เป้าหมายเพื่อให้นักบินอวกาศทั้ง 3 สามารถนั่งลงสบายๆ มองผ่านหน้าต่างขนาดเล็ก 5 บานไปยังห้วงอวกาศภายนอกได้

ยานบัญชาการจะติดตั้งแบตเตอรี่ซิลเวอร์/ซิงค์ ออกไซด์ แบตเตอรี่เอาไว้ด้วย 5 ตัว สำหรับจ่ายพลังงานให้กับระบบยานขณะกลับสู่บรรยากาศโลกและร่อนลงสู่พื้นน้ำ หลังจากแยกตัวออกจากส่วนยานบริการ แล้ว

จุดสำคัญที่สุดของยานบัญชาการอีกจุดก็คือ “ฮีท ชีลด์” หรือ เกราะป้องกันความร้อน ซึ่งจะช่วยใหตัวยานสามารถอยู่รอดจากความร้อนมหาศาลที่เกิดขึ้นจากการเสียดสีกับบรรยากาศของโลกขณะเดินทาง “กลับบ้าน” ได้นั่นเอง

ส่วนที่สองของอพอลโล 11 ติดตั้งอยู่หลังยานบัญชาการแทบจะตลอดเวลาการปฏิบัติภารกิจ ส่วนนี้คือส่วนที่เรียกว่า ยานบริการ หรือ เซอร์วิส โมดุล เป็นที่ติดตั้งถังเชื้อเพลิง, เซลล์เชื้อเพลิง และถังออกซิเจน กับไฮโดรเจน และฮีเลียม เป็นแหล่งจ่ายพลังงานให้กับยานบัญชาการพร้อมๆ กับเป็นพลังขับเคลื่อนและเป็นที่สำหรับเก็บสัมภาระเพิ่มเติม

ความสูงของตัวยานบริการทั้งหมดจะอยู่ที่ 7.5 เมตร ส่วนกว้างที่เป็นเส้นผ่านศูนย์กลางคือ 3.9 เมตร

ที่น่าสนใจก็คือ รูปลักษณ์ของยานบริการที่บางคนเปรียบเปรยว่าเป็นเหมือนหลอดเข็มฉีดยา คือรูปทรงกระบอกที่มีกรวยปล่อยเชื้อเพลิงติดตั้งอยู่ด้านท้ายสุด คือรูปร่างที่คุ้นตาที่สุดจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของยานอพอลโล 11 ไป

จะมียกเว้นก็แต่ “ลูนาร์โมดุล” ซึ่งคนในนาซาเรียกกันว่า “อีเกิล” เท่านั้นที่เป็นที่รู้จักไม่น้อยไปกว่ากัน และกลายเป็นต้นแบบของแลนเดอร์ หรือยานสำหรับลงจอดแทบทุกลำของทุกชาติในปัจจุบัน

“อีเกิล” ติดตั้งไว้ต่อจากส่วนของยานบัญชาการและยานบริการ ความสูงของตัวลูนาร์โมดุล คือ 7 เมตร ความกว้างเท่ากับ 4 เมตร แยกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนบนหรือ อัพเพอร์ แอสเซนท์ สเตจ กับตัวยานส่วนล่าง โลเวอร์ แอสเซนท์ สเตจ ภารกิจหลักของ อีเกิล ก็คือนำ นีล อาร์มสตรอง และเอ็ดวิน อัลดริน ลงสู่พื้นผิวของดวงจันทร์ และเดินทางกลับมาเชื่อมต่อกับยานแม่หรือยานบัญชาการได้โดยสวัสดิภาพ

ภายใต้ภารกิจดังกล่าวนี้ “อีเกิล” จึงถือเป็นยานอวกาศมีมนุษย์ลำแรกของโลกที่ปฏิบัติภารกิจเฉพาะในห้วงอวกาศเท่านั้นไปโดยปริยาย

นอกเหนือจากตัวนักบินอวกาศ อาร์มสตรองและอัลดรินแล้ว ภายในยานลูนาร์โมดุลยังมีชุดอุปกรณ์เพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในยุคเริ่มแรกอยู่ด้วย ชุดอุปกรณ์ดังกล่าวเหล่านั้นเป็นชุดทดลองที่ควบคุมอัตโนมัติด้วยตัวอุปกรณ์เองทั้งหมด และถูกออกแบบมาเพื่อให้ทิ้งไว้บนดวงจันทร์ได้ ภายในชุดยังมีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ สำหรับให้นักบินอวกาศทั้งสองใช้งาน เพื่อเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวดวงจันทร์กลับมายังโลก

ภารกิจอพอลโล 11 ถือเป็นภารกิจแรกสุดที่ประสบความสำเร็จในการนำเอาตัวอย่างทางธรณีวิทยาจากดวงจันทร์กลับมายังโลก ประกอบด้วย หินดวงจันทร์ 50 ก้อน, ดินจากดวงจันทร์, ก้อนกรวด, ทราย และฝุ่นจากพื้นผิวดวงจันทร์ รวมน้ำหนักแล้วมากถึง 22 กิโลกรัม

ทั้งสองถึงกับลงทุนขุดพื้นดวงจันทร์ลงไปลึก 13 ซม.เพื่อนำตัวอย่างภายใต้ชั้นผิวพื้นกลับมายังโลกอีกด้วย

หลังภารกิจอพอลโล 11 สหรัฐอเมริกายังคงสำรวจดวงจันทร์อย่างต่อเนื่อง มีภารกิจอื่นๆ ตามมาอีกมากมายรวมทั้งมีนักบินอวกาศอีกมากที่เดินทางไปลงและเหยียบย่างบนดวงจันทร์ จนกระทั่งยุติโครงการลงด้วยภารกิจสุดท้าย อพอลโล 17

อย่างไรก็ตาม อพอลโล 11 ยังคงเป็นชัยชนะที่ไม่เคยมีชัยชนะครั้งไหนเทียบเทียมได้สำหรับสหรัฐอเมริกา และส่งผลต่อสังคมอเมริกันเกินกว่าการมีชัยชนะในการแข่งขันกันไปลงดวงจันทร์กับสหภาพโซเวียตมากนัก

ซาดิฟ ซิดดิกี นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อวกาศจากมหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮม นิวยอร์ก ระบุว่า อพอลโล 11 ก่อให้เกิดกระแสฟีเวอร์ในทุกๆ เรื่อง ทุกๆ ด้านที่เกี่ยวกับอวกาศในสหรัฐอเมริกา นักบินอวกาศของนาซาไม่เพียงได้รับความนิยมยกย่องเท่านั้น หากยังถึงระดับเทิดทูน เป็นต้นแบบในฝัน ยิ่งกว่าดาราร็อกแอนด์โรลด้วยซ้ำไป

ในทางหนึ่งนั้นเกิดจากอิทธิพลของภาพยนตร์และนิยายวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้หลายคนมองว่าการเดินทางไปและกลับดวงจันทร์ เป็นการผจญภัยในระดับถึงขีดสุด ประหนึ่ง ซุปเปอร์ฮีโร่ ของพวกตน

ในอีกทางหนึ่งนั้น เกิดจากสภาวะแวดล้อมทางสังคมของอเมริกันในยุคนั้น ที่หันไปทางไหนเต็มไปด้วยเรื่องราวในทางลบ ความเหลื่อมล้ำทวีมากขึ้นและมากขึ้น สงครามเย็นและสงครามเวียดนามกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่ดูเหมือนไม่มีวันสิ้นสุด

มีเพียงฮีโร่จากดวงจันทร์ของพวกเขาเท่านั้นที่ดูเหมือนไร้ที่ติ สามารถโอบรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ของความคิดได้อย่างสนิทใจ

แม้แต่เมื่อ 50 ปีให้หลัง ตอนที่นาซาส่งยานอวกาศไปสำรวจไกลเลยพลูโตไปแล้ว ส่งยานไปลงเพื่อสำรวจพื้นผิวดาวอังคารก็แล้ว กระทั่งยังสามารถส่งยานอวกาศเพื่อเดินทางไปสำรวจดวงอาทิตย์ได้สำเร็จ

อพอลโล 11 ก็ยังเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศ ทั้งของสหรัฐอเมริกาและของโลกทั้งโลกอยู่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image