คอลัมน์ People In Focus: ซู ฟินลีย์ คณิตกรณ์ยุคบุกเบิกแห่งนาซา

ซู ฟินลีย์ นักคณิตศาสตร์หญิงแห่งองค์การบริหารการบินและอวกาศ หรือนาซา ของสหรัฐ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในภารกิจส่งดาวเทียมของสหรัฐขึ้นสู่อวกาศได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1958 หลังจากสหภาพโซเวียต ทำสำเร็จไปก่อนหน้านั้น ไม่กี่เดือน

ปัจจุบัน ฟินลีย์ ในวัย 82 ปี ยังคงทำงานในฐานะผู้หญิงที่ทำงานให้กับนาซายาวนานที่สุดคนหนึ่ง

การเหยียบดวงจันทร์ของ “นีล อาร์มสตรอง” เมื่อ 50 ปีก่อนได้รับการจดจำในฐานะ “ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” แต่นั่นก็เป็นผลงานของบรรดาผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง ที่ช่วยคำนวนเส้นทางยานอวกาศ พัฒนาระบบการสื่อสารที่ทำให้โลกสามารถชมภารกิจบนดวงจันทร์ได้สดๆในเวลานั้นด้วย

ฟินลีย์ เล่าว่าตนหลงใหลคณิตศาสตร์ตั้งแต่จำความได้ เคยได้รับรางวัล “แก้สมการเคมีในใจ” ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย อย่างไรก็ตามฟินลีย์ เลือกที่จะเรียนต่อด้าน “ศิลปะ” เพื่อตามฝันที่จะเป็น “สถาปนิก” ทว่าก็ทำไม่สำเร็จเนื่องจากพรสวรรค์ที่แท้จริงของเธอคือ “คณิตศาสตร์”

Advertisement

ฟินลีย์ ได้ทำงานในฐานะ “คณิตกรณ์” ให้กับบริษัทด้านการบินและอวกาศ “คอนแวร์” ที่ทำงานร่วมกับกองทัพเรือสหรัฐในเวลานั้น หลังจากความหวังในการเข้าทำงานเป็น “เลขานุการ” ต้องล้มเหลวลงเนื่องจากเธอสอบตกพิมพ์ดีด

ช่วงเวลานี้เธอได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่พร้อมๆไปกับการใช้เครื่องคำนวนอย่าง “ไฟรเดนส์” ที่ไม่สามารถคิดสมการซับซ้อนอย่าง “แคลคูลัส” หรือ ระบบ “เลขาคณิต” ได้

หลังจาก ฟินลีย์ แต่งงาน เธอได้รับการชักชวนจากสามี เข้าทำงานในห้องวิจัยพลังงานขับดัน (เจพีแอล) ของนาซา ร่วมกับทีมงาน “คณิตกรณ์” ซึ่งเป็น “ผู้หญิงทั้งหมด” ในการคิดคำนวน แก้สมการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโครงการอวกาศรวมไปถึงโครงการอพอลโลอันโด่งดังของสหรัฐ

Advertisement

ฟินลีย์ เล่าถึงการจ้างงานผู้หญิงทั้งหมดว่า เป็นผลจากผู้หญิงผู้รับผิดชอบทีมคณิตกรณ์ ในเจพีแอล มองว่า ผู้ชายจะไม่รับคำสั่งจากตน รวมไปถึงค่าแรงของผู้หญิงที่ถูกกว่าผู้ชาย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงมาถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตามฟินลีย์ระบุว่า แม้ข้อเท็จจริงที่่ว่าผู้หญิงไม่สามารถก้าวไปถึงตำแหน่งวิศวกรในเวลานั้นได้ แต่การทำหน้าที่ “คณิตกรณ์” ถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติเช่นกัน

หลังจากหยุดพักการทำงานเพื่อเลี้ยงลูก 2 คนระหว่างปี 1963-1969 ฟินลีย์ กลับมาทำงานกับเจพีแอล อีกครั้ง และได้สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเอาไว้เมื่อเดือนตุลาคม 1989 หลังจากเกิดปัญหาเสาอากาศของ “ยานกาลิเลโอ” ที่เดินทางไปสำรวจดาวพฤหัสบดี และดาวบริวาร ไม่กางออก ก่อนจะเหวี่ยงตัวออกจากวงโคจรโลก ทำให้โครงการส่อแววที่จะล้มเหลวตั้งแต่ต้น

อย่างไรก็ตาม ฟินลีย์ สามารถเขียนโปรแกรมที่ดึงเอาความสามารถของจานดาวเทียมหลายๆจาน ในเครือข่ายสื่อสารข้อมูลห้วงอวกาศ (ดีเอสเอ็น) มาใช้สื่อสารกับเสาอากาศพลังงานต่ำของยานกาลิเลโอ ได้สำเร็จ
ภารกิจที่ ฟินลีย์ ประทับใจที่สุดคือการพัฒนาความแม่นยำของเสาสัญญาณระหว่างบอลลูนสำรวจชั้นบรรยากาศดาวพฤหัสบดีกับ ดีเอ็นเอสบนโลก

นอกจากนี้งานในการแปลงสัญญาณวิทยุเพื่อติดตามตำแหน่งยานอวกาศยังช่วยให้สามารถส่งยานสำรวจ “มาร์สสปิริต” และรถสำรวจ “ออพพอร์ทูนิตี้” ลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จในปี 2004 รวมไปถึงการส่งยาน “จูโน” ไปยังดาวพฤหัส ได้ในปี 2016 ด้วย

และเวลานี้ ฟินลีย์ ก็ยังไม่มีแผนจะเกษียณอายุ

“ฉันไม่ได้วางแผนที่จะหยุด ฉันไม่มีอย่างอื่นที่ฉันอยากทำแล้ว” ฟินลีย์ ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image