คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ทำแท้งทีพีพี

“ทีพีพี” หรือ “ทรานส์ แปซิฟิก พาร์ทเนอร์ชิป” ที่เรียกกันเป็นภาษาไทย (แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม) กันว่า “ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแห่งแปซิฟิก” เป็นความตกลงทางการค้าขนาดใหญ่ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวตั้งตัวตี เกิดขึ้นจากแนวความคิดของบารัค โอบามา และว่ากันว่าผู้นำสหรัฐอเมริกาพยายามจะปั้น “ทีพีพี” ให้สำเร็จ เพื่อทิ้งไว้เป็น “มรดก” ของตนเองต่อสหรัฐอเมริกา

โอบามาใช้เวลา 5 ปี เปิดการเจรจากับหลายประเทศ นับเฉพาะที่เป็นรอบการเจรจาใหญ่ๆ อย่างเป็นทางการรวม 19 รอบ ได้ข้อสรุปกันเมื่อราวปลายปีที่ผ่านมา และมีการลงนามกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ต้นปีนี้ ประกอบด้วย 12 ประเทศก่อตั้ง คือ สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์ และเวียดนาม

รวมมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศเหล่านี้แล้วคิดเป็นสัดส่วนจีดีพีโดยรวมของทั้งโลกแล้ว อยู่ที่ราวๆ 36-40 เปอร์เซ็นต์!

เป็นเรื่องยากที่จะย่อยรายละเอียดของความตกลงหนา 5,554 หน้านี้ออกมาให้รับรู้กัน (บางคนค่อนแคะว่าหนายิ่งกว่าคัมภีร์ไบเบิล) แต่ภาพรวมก็คือ ความตกลงนี้จะช่วยให้อุปสรรคทางการค้าที่เป็นภาษีระหว่างชาติสมาชิกลดลงเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกตลาดหนึ่งคือสหรัฐอเมริกาทำได้ง่าย ในเวลาเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็สามารถมีตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อมหาศาลรองรับผลผลิตของตนเองเช่นเดียวกัน

Advertisement

ทั้งหลายทั้งปวงนั้น อยู่ภายใต้เงื่อนไขของมาตรฐานแรงงาน มาตรฐานด้านสุขอนามัย มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรฐานด้านสิทธิ ทรัพย์สินทางปัญญาและอื่นๆ ที่จำเป็นต้องถูกยกระดับให้สูงขึ้นตามแนวคิดและมาตรฐานของตะวันตก สร้างความสอดคล้องในกฎระเบียบทางเศรษฐกิจให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ความตกลงดังกล่าวนี้เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนแล้ว แต่การณ์กลับเป็นว่า ทีพีพี ที่อาจเป็นความตกลงด้านการค้าที่ยาวที่สุดในโลก กลับได้รับการต่อต้านอย่างหนัก

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา องค์กรต่างๆ ที่มีตั้งแต่สหภาพแรงงานเรื่อยไปจนถึงองค์กรเพื่อการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสิ้น 1,500 องค์การ ทำบันทึกยื่นถึงรัฐสภาสหรัฐอเมริกา เรียกร้องไม่ให้ความเห็นชอบ “สัตยาบัน” เพื่อรับรองความตกลงด้านการค้าฉบับนี้ ที่จะทำให้สถานะของความตกลงกลายเป็นกฎหมายบังคับใช้ไปในทันที

Advertisement

การต่อต้านในประเทศอื่นๆ ที่ลงนามเข้าร่วมเป็นสมาชิกทีพีพีไปแล้วนั้นพอจะเข้าใจได้ แต่การต่อต้านที่หนักหน่วงที่สุดกลับเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเอง ทำให้เรื่องนี้น่าคิดอย่างยิ่ง

มีอะไรไม่ถูกต้องอยู่ในกว่าห้าพันหน้ากระดาษของทีพีพีหรืออย่างไร?

มีรายงานทางวิชาการอยู่ 2 ชิ้นที่ส่งอิทธิพลในทางลบสูงมากต่อความตกลงทีพีพีในสหรัฐอเมริกา ชิ้นแรกนั้นเป็นรายงานการศึกษาผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ จากกรณีที่รัฐสภาเป็นผู้สั่งการให้ดำเนินการ รายงานดังกล่าวเผยแพร่ออกมาโดยคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (ไอทีซี)

ตัวรายงานไม่ได้แสดง “ความคิดเห็นใดๆ” แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในรายงานดังกล่าวถูกหยิบมาแสดงให้เห็นถึงความ “แปลกแปร่ง” ของความตกลงด้านการค้านี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาจะตกอยู่

ในสภาพ “ได้ไม่คุ้มเสีย” หรือควรจะ “อยู่เฉยๆ ดีกว่า” ที่จะไปทำความตกลงดังกล่าว

อลัน โทเนลสัน นักเขียน นักคิดอเมริกัน ว่าด้วยเศรษฐกิจและความมั่นคง เพิ่งเขียนบทความแสดงความคิดเห็นเอาไว้ในเว็บไซต์ “โพลิเซตต์” ว่าไอทีซีแสดงให้เห็นว่า ทีพีพีสามารถก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้เพียงแค่ 128,000 ตำแหน่งเท่านั้นเมื่อถึงปี 2032

โทเนลสันบอกว่า ตำแหน่งงานที่ว่านั้น ถ้าเศรษฐกิจของประเทศดีๆ สหรัฐอเมริกาสามารถทำให้เกิดการจ้างงานได้มากกว่านั้นเป็นเท่าตัวในเวลาเพียงเดือนเดียวเท่านั้นเอง

ข้อมูลของไอทีซียังบอกอีกว่า ทีพีพีจะสามารถขยายขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาออกไป คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นเพียงไม่ถึง 43,000 ล้านดอลลาร์หลังจากปรับลดอัตราเงินเฟ้อแล้วในช่วง 16 ปีข้างหน้า โทเนลสันชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนการขยายตัวที่ว่านั้น “จิ๊บๆ” มาก เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในเวลานี้ที่มี “ผลผลิตที่แท้จริง” ในแต่ละปีสูงเกินกว่า 16 ล้านล้านดอลลาร์

รายงานของไอทีซีบอกด้วยว่า รายได้ของประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นไม่ถึง 58,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้ ดีน เบเกอร์ นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งอุปมาอุปมัยเอาไว้ว่า

“ผลจากการบังคับใช้ทีพีพีก็คือ ประเทศนี้จะมั่งคั่งในวันที่ 1 มกราคม 2032 แทนที่จะเป็นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2032”

รวยเร็วขึ้น 15 วัน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องสูญเสียหลายต่อหลายอย่างที่เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการค้าทวิภาคี เพื่อบังคับใช้มาตรฐานอเมริกันกับคู่ค้าอื่นๆ ไปนั้น ถือว่าไม่คุ้มค่าอย่างยิ่ง

ประเด็นสำคัญยิ่งกว่านั้นที่โทเนลสันพยายามบ่งชี้ให้เห็นก็คือ รายงานของไอทีซีอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า สมาชิกของทีพีพีปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทุกอย่างเป๊ะ ตั้งแต่ออกสตาร์ตจนถึงวันสิ้นสุดการศึกษาวิจัย

โทเนลสันยอมรับว่า เชื่อว่าสหรัฐอเมริกาจะทำ แต่ไม่เชื่อว่าชาติสมาชิกที่เหลือหลายประเทศจะทำเหมือนกับที่สหรัฐอเมริกาทำ

เขาตั้งคำถามสำคัญเอาไว้ว่า ถ้าอย่างนั้นอะไรคือเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์สำหรับบังคับใช้ข้อกำหนดของทีพีพี ถ้าเป็นไปตามกระบวนการศาลปกติ ใช้เวลากี่ปีถึงจะยุติ

ในห้วงเวลาดังกล่าวนั้น สหรัฐอเมริกาจะเสียเปรียบด้านการค้าไปเป็นมูลค่าเท่าใด?

มุมมองของ อลัน โทเนลสัน เป็นการ “มองจากมุมอเมริกัน” ล้วนๆ แต่ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอีกชิ้นที่น่าสนใจ เพราะแสดงให้เห็น “การสูญเสียโดยภาพรวม” ของเศรษฐกิจทั่วโลก ที่จะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้ความตกลงการค้าทีพีพี ดังกล่าวนี้

รายงานฉบับนี้ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เพราะมองทีพีพีเป็น “ลบ” โดยสิ้นเชิงนี้ เป็นของสถาบันสิ่งแวดล้อมและพัฒนาการโลก ของมหาวิทยาลัยเทิร์ฟ แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นการศึกษาเพื่อคาดการณ์ผลกระทบจากทีพีพี ซึ่งทีมศึกษาย้ำไว้ในตอนที่เผยแพร่ว่า

“การคาดการณ์นี้จะช่วยให้บรรดาประเทศที่ลงนามใน ความตกลงทีพีพีไปแล้ว และประเทศภายนอกอื่นๆ สามารถประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบอันจะเกิดขึ้นจากความตกลง ก่อนที่จะให้สัตยาบันรับรอง”

ที่น่าสนใจก็คือ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีประเทศไหนให้สัตยาบันรับรอง รวมทั้งสหรัฐอเมริกา

งานวิจัยทางวิชาการของเทิร์ฟบอกข้อมูลที่น่าสนใจเอาไว้ว่า หากมีการบังคับใช้ทีพีพี 10 ปี 12 ชาติสมาชิกจะสูญเสียตำแหน่งงานไปรวม 771,000 ตำแหน่ง โดยชาติที่จะสูญเสียมากที่สุดก็คือสหรัฐอเมริกา รวมแล้ว 448,000 ตำแหน่ง จีดีพีของสหรัฐอเมริกาจะลดลง 0.54 เปอร์เซ็นต์จากระดับที่มันควรจะเป็น หากไม่มีการบังคับใช้ความตกลงดังกล่าว

งานศึกษาเพื่อการคาดการณ์ของเทิร์ฟบอกเอาไว้ด้วยว่า ชาติสมาชิกที่จะสูญเสียมากเช่นกันภายใต้ทีพีพีก็คือญี่ปุ่น ซึ่งจะสูญเสียตำแหน่งงาน 74,000 ตำแหน่ง และการขยายตัวของจีดีพีจะลดลง 0.12 เปอร์เซ็นต์จากระดับที่จะเป็นหากไม่มีความตกลงนี้ ในขณะที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่เหลือ “จะมีผลประโยชน์เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย” ในช่วง 10 ปีที่คาดการณ์จากความตกลงทีพีพี

เหตุผลที่ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเทิร์ฟได้ข้อสรุปดังกล่าวก็คือ ทีพีพีจะก่อให้เกิดสภาวะกดดันต่อการจ้างงาน อันเป็นผลมาจากปัจจัย 2 ประการ หนึ่งคือ เกิดจากภาวะการผลิต “เพื่อการส่งออก” ที่จะเข้ามาแทนที่การผลิตเพื่อตลาดภายในประเทศ

การผลิตเพื่อการส่งออกดังกล่าวนี้ พึ่งพาแรงงานน้อยลง และอาศัยชิ้นส่วนในการผลิตที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตลงให้เหลือต่ำสุดสำหรับการแข่งขันในตลาดโลก

ในเวลาเดียวกัน การตกอยู่ภายใต้ทีพีพีจะทำให้ผู้ผลิตหันมาลดต้นทุนในส่วนที่เป็นแรงงานลงให้เหลือน้อยที่สุด อาจด้วยการทดแทนด้วยเทคโนโลยีหรือด้วยการย้ายฐานการผลิต ทั้งหมดนั้นล้วนส่งผลกระทบให้มีการจ้างงานลดลงทั้งสิ้น

เมื่อการจ้างงานลดลง การกระจายรายได้ก็ลดลงตามไปด้วย ทีมวิจัยพบว่าสัดส่วนของรายได้ที่จะไหลไปยังผู้ใช้แรงงานจะลดลงราว 1.31 เปอร์เซ็นต์ในปี 2025

ผลที่ตามมาก็คือ การลดลงของความต้องการซื้อสินค้าและบริการ (เพราะรายได้ลดลง) อันเป็นสาเหตุที่ทำให้จีดีพีของประเทศลดลง

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทิร์ฟยังแสดงให้เห็นว่า ในช่วงเวลา 10 ปีที่มีการบังคับใช้ทีพีพี ผลร้ายไม่เพียงเกิดขึ้นกับชาติสมาชิก แต่ความเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นกับชาติที่ไม่ได้เป็นสมาชิกจะย่ำแย่ยิ่งกว่า

ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของทีพีพีถูกคาดการณ์ว่า ถ้าเป็นชาติพัฒนาแล้ว จีดีพีจะหายไป 3.77 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นชาติกำลังพัฒนา จีดีพีจะหายไป 5.24 เปอร์เซ็นต์ ประเทศเหล่านี้จะสูญเสียตำแหน่งงานรวมกันทั้งหมดมากกว่า 5.3 ล้านตำแหน่ง

รายงานของเทิร์ฟเรียกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกในกรณีที่มีการบังคับใช้ทีพีพีว่า “การวิ่งแข่งกันลงเหว”!

แม้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทิร์ฟแสดงให้เห็นว่า ทีพีพีเป็นเหมือนการวิ่งแข่งกันลงสู่ก้นเหว แต่ก็ให้ข้อเท็จจริงเอาไว้อย่างหนึ่งว่า ประเทศที่อยู่ในทีพีพีจะอยู่ในสภาพ “แย่น้อยกว่า” จริงๆ

หรือนั่นหมายความว่า ประเทศที่กำลังแสดงความต้องการอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีพีพีอย่าง ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ (กับอีกหลายประเทศในอีกฟากของแปซิฟิก) ควรรีบกระโจนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงนี้ใช่หรือไม่?

ผมยังไม่ตอบคำถามที่ว่านี้ แต่จะบอกข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า ตอนนี้อย่างน้อยมีคนอเมริกัน 3 คนอยาก “ทำแท้งทีพีพี” อย่างยิ่งยวด

คนหนึ่งคือ เบอร์นี แซนเดอร์ส ผู้สมัครชิงตัวแทนพรรคเดโมแครต ที่ใครถามเรื่องนี้ก็ได้คำตอบจากปากของเดโมแครตรายนี้ประโยคเดียวซ้ำๆ ว่า “คว่ำมันซะ”

คนที่สองคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่คาดกันว่าจะเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้ ที่จะว่าไปแล้ว ก่นด่าความตกลงด้านการค้าทุกฉบับเท่าที่มีมา รวมทั้งนาฟต้า (เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ) และทีพีพีที่ทรัมป์ให้นิยามเอาไว้ว่าเป็น “ดีลการค้าที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่มีมา”

คนที่สาม น่าสนใจขึ้นไปอีก เพราะคือ ฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน ที่คาดกันว่าจะเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐอเมริกา ซึ่งครั้งหนึ่ง (ตอนเป็น รมต.ต่างประเทศ) เคยพูดถึงทีพีพีไว้เป็นเชิงยกย่องว่า คือ “มาตรฐานทอง” ของความตกลงทางการค้า แต่ตอนนี้ เธอยืนกรานว่า ไม่เห็นด้วยกับความตกลงที่ยื่นไปให้รัฐสภาให้สัตยาบัน “จำเป็นต้องมีการแก้ไข”

ภายใต้ขนบการเมืองอเมริกัน ส.ส.ทุกคนจะไม่ให้ความสนใจกับเรื่องอื่นใด นอกเหนือจากเรื่องเลือกตั้งที่จะเป็นตัวชี้ขาดอนาคตของตนเองในวันเลือกตั้งที่จะมาถึงในราวเดือนพฤศจิกายนนี้ นั่นหมายถึงว่า ทีพีพีจะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาจนกว่าจะหลังเลือกตั้งแล้วเสร็จ

จะปล่อยให้เลยไปถึงสมัยประชุมใหม่ในปีหน้าได้หรือไม่? ไม่ได้อีกเช่นกัน

เป็นเพราะถ้าปล่อยไว้จนถึงเวลานั้น ไม่ว่ารีพับลิกันหรือเดโมแครตชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ทีพีพีก็มีสิทธิถูกผู้นำคนใหม่โยนทิ้ง หรือไม่ก็ปรับแก้ แล้วอาจต้องใช้เวลาเจรจากันใหม่กับหุ้นส่วนทั้งหลาย ซึ่งอาจกินเวลานานอีกหลายปี หาไม่ก็นับสิบปี ด้วยเหตุที่ว่า ตัวเก็งประธานาธิบดีทั้งสองไม่เห็นด้วยกับทีพีพีทั้งคู่

ดังนั้นโอกาสที่ทีพีพีจะคลอดออกมาให้โอบามาลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ หลงเหลืออยู่ราว 30 วัน หลังเลือกตั้ง และก่อนผู้นำคนใหม่สาบานตนรับตำแหน่ง

เกจิการเมืองอเมริกันชี้ว่าระยะเวลาเพียงเท่านั้นกับสภาที่อยู่ในสภาวะ “เป็ดง่อย” แล้วต้องพิจารณาเพื่อผ่านเรื่องที่อื้อฉาวถกเถียงกันมากถึงขนาดนี้

โอกาสที่ทีพีพีจะ “แท้ง” มีมากถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image