คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “เทียนอันเหมินโมเมนต์” จ่อคิวเกิดขึ้นที่ “ฮ่องกง”

(AP Photo/Vincent Thian)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “เทียนอันเหมินโมเมนต์” จ่อคิวเกิดขึ้นที่ “ฮ่องกง”

การชุมนุมประท้วงที่ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงในสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของที่นั่น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่บอบช้ำอย่างหนักจากผลกระทบของสงครามการค้าอยู่ก่อนแล้ว ยิ่งสะเทือนหนักจากการทรุดฮวบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวซึ่งลดลงกว่าครึ่้งแล้วในเวลานี้

เท่าที่รัฐบาลของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ทำได้ในยามนี้ ก็คือ การประกาศการจัดสรรงบประมาณเพื่อพยุงสถานภาพทางเศรษฐกิจมูลค่า 19,100 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 74,000 ล้านบาท) ออกมา

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ หากทุกอย่างยังคงดำเนินไปอย่างที่เป็นอยู่ เงินจำนวนดังกล่าวก็แทบไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง

การชุมนุมประท้วงที่ดำเนินมาต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 10 และไม่มีเค้าลางว่าจะสร่างซาลงทำให้ทุกอย่างในฮ่องกงแทบหยุดนิ่ง ที่ตกอยู่ในสภาพเป็นอัมพาต ไม่สามารถทำอย่างหนึ่งอย่างใดได้เลยจนถึงขณะนี้ก็คือรัฐบาลฮ่องกง ภายใต้การนำของนาง แคร์รี หล่ำ ที่ได้แต่จับตามองสถานการณ์ไปพลาง หน้านิ่วคิ้วขมวดไปพลาง

Advertisement

นั่นคือเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้นักสังเกตการณ์หลายคนเริ่มคาดการณ์ด้วยความมั่นใจมากขึ้นตามลำดับว่า ในอีกไม่ช้าไม่นาน ทางการจีนคงจำเป็นต้องส่งกองกำลังติดอาวุธเข้ามา กำราบปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงในเขตปกครองพิเศษนี้ ก่อนที่การชุมนุมจะระบาดออกไปเป็นวงกว้างมากกว่านี้ และรุนแรงนอกเหนือการควบคุมมากกว่านี้

ทางการจีน ไม่ได้ปกปิด ซ่อนเร้นการเตรียมการดังกล่าวนี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น ตรงกันข้าม กลับเผยแพร่ ภาพการฝึกซ้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยพิเศษ พร้อมยานยนต์หุ้มเกราะ ภายใต้การบัญชาการของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) ซึ่งชุมนุมกันอยู่ภายใน เสิ่นเจิ้น เมืองชายแดนที่ห่างจากใจกลางฮ่องกง เพียงไม่กี่มากน้อย ถูกเผยแพร่ออกอากาศครั้งแล้วครั้งเล่า

ด้วยการเผยแพร่ภาพที่แสดงให้เห็นถึงอานุภาพและความพร้อมของกองกำลังที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษดังกล่าว ผู้นำจีนคาดหวังว่า จะกลายเป็นเครื่องข่มขู่เชิงจิตวิทยาประการหนึ่ง ซึ่งจะยังผลให้ไม่จำเป็นต้องใช้งานตำรวจหน่วยพิเศษ ที่ผ่านการฝึกมาแบบทหารนี้ในที่สุด

Advertisement

คำเรียกขานผู้ชุมนุมในฮ่องกง ปรับเปลี่ยนไปเช่นเดียวกันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากเดิมที่เคยถูกเอ่ยอ้างถึงว่าเป็น “คนก่อจลาจล” ถูก “รีแบรนด์” โดยเจ้าหน้าที่ทางการจีนให้เป็น “อาชญากร” และ “ผู้ก่อการร้าย”

เมื่อรวมทุกอย่างเหล่านั้นเข้าด้วยกัน “เทียนอันเหมินโมเมนต์” ก็สามารถเกิดขึ้นที่ฮ่องกงได้ทุกเวลา นับตั้งแต่บัดนี้

******

จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เตือนเอาไว้เมื่อ 15 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า หากจีนคิดจะใช้กำลังเข้าจัดการกับผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงแล้วละก็ เหตุการณ์เหมือนเมื่อครั้งเทียนอันเหมิน ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

อันที่จริง โบลตัน ไม่จำเป็นต้องเตือนทางการจีนเช่นนั้น เพราะจนถึงขณะนี้ผลกระทบในทางลบจากเหตุการณ์การส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามการชุมนุมประท้วงของเหล่านักศึกษาและประชาชน ที่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน ใจกลางกรุงปักกิ่งเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ยังคงปรากฏชัดเจนอย่างยิ่งต่อรัฐบาลจีนแม้แต่ในยามนี้

กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกพาดพิงถึงทุกครั้งไป เมื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจีนกดขี่ข่มเหงและปราบปรามประชาชนของตนเองมากมายแค่ไหนและอย่างไร

เทียนอันเหมิน เมื่อปี 1989 คือการลุกฮือขึ้นของแกนนำนักศึกษาที่ชุมนุมกันต่อเนื่องนานหลายสัปดาห์ เรียกร้องการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยิ่งนานวันเข้ายิ่งมีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมในการเรียกร้องมากขึ้นทุกที

การชุมนุมดังกล่าวยุติลงอย่างรวบรัดในวันที่ 4 มิถุนายน 1989 เมื่อรัฐบาลจีนส่งกำลังทหาร พร้อมขบวนรถถังเข้าปิดล้อมและเข้าสลายการชุมนุม ภาพของปฏิบัติการครั้งนั้นถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก

ผลลัพธ์ของเหตุการณ์การปราบปรามนักศึกษา ประชาชนดังกล่าว ไม่เพียงทำให้มีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนไม่น้อยเท่านั้น ยังส่งผลให้เศรษฐกิจจีนแทบชะงักงันอย่างเฉียบพลันต่อเนื่องกันนานร่วม 2 ปี

ประมาณการยอดผู้เสียชีวิตมีตั้งแต่เป็นเรือนพันเรื่อยไปจนถึงจำนวนนับหมื่น ขึ้นอยู่ว่าใครคือผู้บอกเล่าเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากทางการจีนไม่เคยพูดถึงจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นทางการเลยแม้แต่ครั้งเดียว

แต่ผลสะเทือนเชิงลบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็กลายเป็นบทเรียนล้ำค่าให้พรรคและรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนได้ปรับปรุงตัวเองครั้งใหญ่เช่นเดียวกัน

เพียงแต่เป็นการปรับปรุงตัวเองในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับที่หลายคนอยากเห็นเท่านั้นเอง

******

ทางการจีนเรียนรู้มากมายจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อ 30 ปีก่อน ว่าทำอย่างไรถึงจะจัดการกับการชุมนุมประท้วงภายในประเทศของตนเอง กองกำลังตำรวจติดอาวุธแห่งประชาชนจีน (พีเพิลส์ อาร์มด์ โปลิส-พีเอพี) คือผลลัพธ์รูปธรรมของการเรียนรู้จากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น

“พีเอพี” กองกำลังตำรวจที่ผ่านการฝึกมาเยี่ยงทหาร เพิ่มเติมพิเศษ ด้วยเท็คนิค และแท็คติกในการปราบปรามการจลาจล กลายเป็นหัวหอกในการรับมือกับการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นภายในจีนตลอดมา

ทางการจีนเชื่อเหลือเกินว่า ภายใต้ พีเอพี การจัดการสลายการชุมนุมประท้วง สามารถเป็นไปได้ โดยที่เกิดเหตุรุนแรงจำกัดจนเหลือน้อยที่สุดได้ และสามารถสลายการชุมนุมทั้งหลายได้ ก่อนที่จะแพร่หลาย ขยายวงออกไปจนกลายเป็นเรื่องนอกเหนือการควบคุมได้

นอกเหนือจากขีดความสามารถของพีเอพี ทางการจีนยังมั่นใจว่าสามารถจัดการกับข่าวคราวใดๆ ที่ไม่ต้องการให้เผยแพร่ออกไปในวงกว้างได้ดีที่สุดอีกด้วย

ศักยภาพในเรื่องนี้ เป็นเรื่องของการสั่งสมประสบการณ์ยาวนาน กับการพัฒนาเครื่องมือเพื่อการนี้อย่างแข็งขันของ กรมการโฆษณาชวนเชื่อ จนมีความสามารถสูงสุดในการจำกัดการรายงานข่าวเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงใดๆ ในสื่อมวลชนของจีนให้จำกัดแคบลงได้เฉพาะที่จำเป็นหรือเฉพาะที่ต้องการ

ในหลายๆ กรณี ไม่เคยปรากฏเป็นข่าวในสื่อทั้งหลายของจีนเลยด้วยซ้ำไป

ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่า ความเดือดร้อนหรือทุกข์เข็ญใดๆ ที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะยังคงจำกัดอยู่เฉพาะในท้องถิ่นนั้นๆ ไม่แพร่หลายออกไปทั่วประเทศ อันอาจก่อให้เกิดพลังในตัวมันเองขึ้นมา

ปัญหาก็คือ ฮ่องกง เป็นส่วนหนึ่งของจีนก็จริง แต่สภาวะการณ์หลายต่อหลายอย่าง แตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่แบบสุดโต่ง

จีนแน่ใจได้อย่างไรว่า จะสามารถบริหารจัดการการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงได้เฉกเช่นเดียวกันกับม็อบทั้งหลายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ท้องถิ่นของตนเอง

******

ความแตกต่างอย่างสำคัญแรกสุดระหว่างฮ่องกง กับภายในจีนแผ่นดินใหญ่ก็คือ สื่อมวลชน ในอดีตดินแดนอาณานิคมของอังกฤษแห่งนี้ มีสื่อมวลชนอิสระอยู่มากมาย ทั้งที่เผยแพร่เป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ผู้สื่อข่าวระดับ “อินเตอร์เนชันแนล” จำนวนมากใช้ฮ่องกงเป็นฐานปักหลักรายงานข่าวทั้งภายในแผ่นดินใหญ่และในฮ่องกงออกไปสู่โลกกว้าง

นี่ยังไม่นับอินเตอร์เน็ต ที่แตกต่างกันอย่างใหญ่หลวงกับอินเตอร์เน็ตที่อยู่ภายใน “การปิดล้อม” ของ “เดอะ เกรท ไฟร์วอลล์” บนแผ่นดินใหญ่จีน พรั่งพร้อมด้วย “ซิติเซน เจอร์นัลลิสต์” เป็นเรือนหมื่น ที่พร้อมอัพโหลดทุกอย่างจากมือถือให้เผยแพร่ออกไปสู่วงกว้างได้ในชั่้วพริบตา

ในเวลาเดียวกัน ฮ่องกง ก็มีภาคประชาสังคม มีกลุ่มก้อนของประชาชนที่เข้มแข็งและก้าวหน้ากว่าในจีนแผ่นดินใหญ่อยู่มากมาย

ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประท้วงแสดงให้เห็นแล้วว่า การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงและต่อต้านการครอบงำของจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ได้หยุดชะงัก หรือยุติลงเพราะมีผู้คนถูกจับกุมคุมขัง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมกดดันโดยตรงอย่างเช่นที่เกิดขึ้นบริเวณท่าอากาศยานนานาชาต หรือจะเป็นการชุมนุมตามที่ได้ขออนุญาตจากทางการตำรวจเอาไว้ล่วงหน้าก็ตาม

การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงยังคงดำเนินต่อไป เรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเองไปพลาง ต่อสู้ไปพลาง อาศัยการได้เปรียบในการสื่อสารซึ่งกันและกันด้วยช่องทางลับ สามารถจัดการกับข้อบกพร่องใดๆ ที่เกิดขึ้นได้ แม้ไม่ปรากฏแกนนำในการประท้วงเป็นตัวเป็นตนเลยก็ตาม

การออกมาขออภัยต่อประชาชนจากการใช้ความรุนแรงในการจัดการกับ “สายลับ” ที่ปลอมแปลงเข้ามาเพื่อยั่วยุให้เกิดเหตุรุนแรงล่าสุด พร้อมการสื่อสารถึง “แนวปฏิบัติใหม่” ในการจัดการกับเรื่องนี้ คือตัวอย่างของวิธีการอันชาญฉลาดดังกล่าวนั้น

ปัญหาก็คือ ทางการจีนเริ่มย่างก้าวออกจากจุดของการประนีประนอม ไกลออกมามากขึ้นเรื่อยๆ

ในเวลาเดียวกัน ก็ดูเหมือนว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะไม่ยินยอมให้กระแสครั้งนี้เหือดหายไปอย่างเงียบๆ และไร้ผลลัพธ์เป็นรูปธรรมโดยสิ้นเชิงเหมือนเมื่อหลายปีก่อนอีกต่อไปแล้ว

เมื่อหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อของทางการ เริ่มต้นพรรณนาถึงผู้ชุมนุมที่ฮ่องกงว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ “คัลเลอร์ เรฟโวลูชัน” เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตสหภาพโซเวียต หลายประเทศใน ยุโรปตะวันออก กับ ในตะวันออกกลาง เพื่อล้มล้างรัฐบาล เปลี่ยนแปลงการปกครองของจีน

ก็เหมือนกับการประกาศว่า ในอีกไม่ช้าไม่นาน แม้จะไม่สามารถส่งรถถังกรีฑาทัพเข้ามายังท้องถนนในฮ่องกงได้

พีเอพี ก็สามารถตบเท้าเข้ามายึดอำนาจทางการตำรวจฮ่องกงเมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image