คอลัมน์ People In Focus: ซิตนีย์ ริตเทนเบิร์ก ชาวอเมริกันผู้เคยยืนข้างเหมา เจ๋อตุง

ซิดนีย์ ริตเทนเบิร์ก เจ้าของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชาวอเมริกัน เสียชีวิตลงที่บ้านในรัฐแอริโซนา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยวัย 98 ปี นับเป็นการจากไปของชาวอเมริกันที่ครั้งหนึ่งเคยหลงใหลกับแนวคิดคอมมิวนิสต์ จนพาตัวเองก้าวไปถึงการเป็นที่ปรึกษาประธานเหมา เจ๋อตุง แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในยุคสงครามกลางเมืองเรื่อยไปจนถึงยุคปฏิวัติวัฒนธรรม

ชีวิตของริตเทนเบิร์ก ผู้มีบ้านเกิดในเซาท์แคโรไลนา ที่เปรียบได้กับรถไฟเหาะตีลังกาเริ่มต้นขึ้นในปี 1946 หลังนายทหารนักภาษาศาสตร์ผู้นี้เข้าร่วมหน่วยบรรเทาทุกข์องค์การสหประชาชาติ ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะมีผู้ชักชวนเข้าสู่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เวลานั้นยังเป็นเพียงกลุ่มกองโจรที่แฝงตัวบนภูเขาห่างไกล

ริตเทนเบิร์ก ผู้ฝักใฝ่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เคยเข้าร่วมพรรคอเมริกันคอมมิวนิสต์ ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ตัดสินใจเดินเท้าขึ้นเขาในเมืองเหยียนอัน เป็นเวลา 45 วัน เพื่อพบกับประธานเหมา จนในที่สุดริตเทนเบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญภาษาจีน กลายเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน กลายเป็นที่ปรึกษาประธานเหมา และมีส่วนสำคัญในการบริหารงานในเวลาต่อมา

ริตเทนเบิร์ก ทำหน้าที่ล่ามสำหรับสื่อสารกับสื่อต่างประเทศ ติดต่อสื่อสารกับผู้นำนานาชาติ รวมถึงแปลแถลงการณ์พรรค เป็นตัวจักรสำคัญของระบบโฆษณาชวนเชื่อ และมีส่วนร่วมในชัยชนะสงครามกลางเมืองที่นำไปสู่การตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สำเร็จในปี 1949

Advertisement

ในฐานะชาวอเมริกันส่งผลให้ริตเทนเบิร์กถูกใส่ร้ายถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกโดย โจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียตที่กล่าวหาริตเทนเบิร์กว่าเป็นสายลับอเมริกัน ทำให้ริตเทนเบิร์ก ถูกขังเดี่ยวนานถึง 6 ปี ขณะที่ครั้งที่ 2 ถูกใส่ร้ายโดย เจียง ชิง ภรรยาประธานเหมา ที่กล่าวหาว่าริตเทนเบิร์ก วางแผนโค่นล้มรัฐบาล และถูกขังเดี่ยวอีกครั้งนานถึง 10 ปี

ริตเทนเบิร์ก พ้นผิดและได้รับการปล่อยตัวทั้งสองครั้งและยังคงสถานะระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์ และในช่วงปี 1977 ริตเทนเบิร์ก เริ่มหันหลังให้แนวคิดคอมมิวนิสต์ และตัดสินใจกลับสหรัฐอเมริกาเพื่อตั้งรกรากเป็นการถาวรพร้อมกับภรรยาชาวจีนและลูกอีก 4 คน

ด้วยความสัมพันธ์ที่ยังคงแนบแน่นกับชนชั้นนำในจีน ส่งผลให้ริตเทนเบิร์ก สามารถกอบโกยเงินเป็นกอบเป็นกำจากการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจผ่านบริษัท “ริตเทนเบิร์ก แอนด์ แอสโซซิแอท” ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐที่ต้องการหาลู่ทางทำธุรกิจในจีน ในช่วงเวลาที่จีนเองก็เริ่มเปิดประเทศสู่อุตสาหกรรมมากขึ้น

Advertisement

ความรู้เกี่ยวกับจีน ทำให้ริตเทนเบิร์ก ได้ทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะจีนศึกษา ที่มหาวิทยาลัยแปซิฟิก ลูเธอรัน ในรัฐวอชิงตันของสหรัฐอเมริกา รวมถึงมีงานเขียนด้านตลาดจีน ผ่านวารสารรายสัปดาห์ สตราเทจิก นิวส์ เซอร์วิส

ริตเทนเบิร์ก ในฐานะที่ปรึกษาธุรกิจ ทำให้บริษัทอย่างไมโครซอฟท์ เดลล์ เทคโนโลยี อินเทล ลีวายสามารถเปิดตลาดในจีนได้อย่างเต็มตัว

ช่วงท้ายของชีวิต ริตเทนเบิร์ก มีผลงานหนังสือเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตในจีนในชื่อ “เดอะ แมน ฮู สเตด์ บีไฮด์” นอกจากนี้เรื่องราวชีวิตยังถูกเล่าผ่านสารคดีในชื่อเรื่อง “เดอะ เรโวลูชันนารี” ออกฉายในปี 2012 ที่ผ่านมาด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image